xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจ “เหี้ย” หาผลกระทบต่อระบบนิเวศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เราทั้งหลายอาจเคยเห็นสัตว์สายพันธุ์วารานัส หรือที่ใครหลายๆ คนเรียกว่า ‘เหี้ย’ สัตว์ที่กินซากสัตว์หรือล่าปลาในบ่อมากิน หรืออาจจะพบเห็นเหี้ยตามสวนสาธารณะกลางกรุง แล้วเราจะรู้ได้ว่าอย่างไรว่า สัตว์เหล่านี้กินอยู่แบบไหน หรือมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง

ขณะที่ทั่วโลกกำลังสนใจศึกษาระบบนิเวศของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หรือสัตว์อนุรักษ์สายพันธุ์อื่น ทางด้าน รุจิระ มหาพรหม นักวิจัยสัตว์ป่า ฝ่ายอนุรักษ์ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็มุ่งวิจัยด้านนิเวศวิทยาและการจัดการเกี่ยวกับเหี้ย เขาเล่าว่า ตอนนี้ในประเทศไทยจัดเหี้ยออกเป็น 4 ชนิดคือ เห่าช้าง ตุ๋ดตู่ เหี้ยและตะกวด

“ส่วนใหญ่หลายๆ คนจะสับสนว่าเหี้ยกับตะกวดต่างกันอย่างไร ซึ่งวิธีสังเกตง่ายๆ คือเหี้ยจะมีจมูกอยู่ใกล้ปลายปาก อาศัยอยู่ในน้ำเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตะกวดมีจมูกอยู่ใกล้ตาและอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่” รุจิระอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายๆ

จากการศึกษาวิจัยและสำรวจพบว่าเหี้ยสามารถแบ่งออกเป็น 5 ชนิดย่อยได้ดังนี้ วารานัส เอส มาโครมูคูแลนท์ (varanus s. macromuculants) เป็นสายพันธุ์ที่มีเยอะที่สุดเพราะสามารถพบเห็นได้อยู่ทั่วเอเชียตะวันออก เกาะสุมาตราและเกาะบอเนียว สายพันธ์ที่สอง วารานัส เอส อาดาแมนเอ็นซิส (Varanus s. adamanensis) อาศัยอยู่ตามเกาะอันดามัน สายพันธุ์ที่สาม วารานัส เอส บิตวิตตาทัส (Varanus s. bitvittatus) อาศัยอยู่ตามเกาะชวาและหมู่เกาะซุนดาน้อย และสายพันธุ์ที่สี่ วารานัส เอส ซัลเวเตอร์ (Varanus s. salvator) อาศัยอยู่ที่ศรีลังกาและอาจจะอาศัยอยู่ที่ตอนเหนือของอินเดียและสายพันธุ์สุดท้าย วารานัส เอส ซีการี (Varanus s. zieglari) อาศัยอยู่ที่อินโดนิเซีย

"ในประเทศไทยมีเหี้ยสายพันธุ์ วารานัส เอส มาโครมูคูแลนท์ (Varanus s. macromuculants) อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แพร่กระจายตั้งแต่ภาคกลางตอนบนไล่มาจนถึงภาคใต้ เพราะเหี้ยสามารถอาศัยอยู่ได้ตั้งแต่ในป่าดิบชื้น ป่าพรุ บึงน้ำจืด ป่าชายเลน และแพร่กระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ อย่างเกาะเต่า"

ลักษณะทั่วไปของเหี้ยคือลำตัวสามารถยาวได้สูงสุดถึง 3 เมตร มีลิ้นยาวซึ่งใช้ในการรับความร้อนรับความรู้สึก มีตาสองชั้น โดยชั้นที่สองจะเหมือนแว่นว่ายน้ำ มีผิวหนังและกระดูกเล็กๆที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง และส่วนหางที่มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมเหมือนร่างกายของงูสามเหลี่ยม เหี้ยตัวเต็มวัยจะมีความยาว 129 เซนติเมตรขึ้นไป ส่วนตัววัยเด็กจะขนาดไม่เกิน 30 เซนติเมตร
แผนที่แสดงการกระจายตัวของ เหี้ย
การวางไข่ของเหี้ยจะวางไข่บริเวณใต้ร่มไม้ กอไผ่ จอมปลวก โดยเหี้ยจะวางไข่ก่อนช่วงฤดูฝน ด้วยการขุดโพรงลงไปใต้ดินลึกประมาณ 30 เซ็นติเมตร ภายในโพรงจะมีความชื้นเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 ส่วนอุณหภูมิจะอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งระยะเวลาการฟักไข่จะอยู่ที่ 6 – 11 เดือน ลักษณะของไข่จะมีสีขาวขุ่น มีความยืดหยุ่น ขนาดเท่าไข่เป็ด ในการวางไข่หนึ่งครั้งจะว่าไข่ตั้งแต่ 2 – 50 ฟอง

ด้านพฤติกรรมการผสมพันธุ์นั้น เหี้ยตัวผู้จะส่ายหัวไปมาเพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย แต่ถ้าเป็นเป็นการกอดกันนั้นหมายความว่า เหี้ยกำลังสู้กันคล้ายๆ นักซูโม่ที่เข้าไปกอดอีกฝ่ายไว้ และที่เหี้ยต้องสู้กันนั้นอาจจะเป็นเพราะต้องการแย่งกันสืบพันธุ์หรืออาจจะแย่งอาหารกัน

"ในเรื่องของอาหารนั้นทราบกันดีว่าเหี้ยเป็นสัตว์กินซาก แต่ในบางครั้งเหี้ยก็สามารถเป็นผู้ล่าได้เช่นกัน โดยเหี้ยจะล่าสัตว์ที่ขนาดเล็กกว่าขนาดปากของตัวเอง เช่น เป็ด ไก่ หนู เต่า นกน้ำ ปู ตะขาบ ไส้เดือน ดังนั้น บทบาททางด้านระบบนิเวศคือเหี้ยคือผู้ควบคุมประชากรของสัตว์ตัวอื่น เนื่องจากเหี้ยกินสามารถกินเอเลี่ยนสปีชีส์ (ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น) ได้" รุจิระกล่าว

ในขณะเดียวกันเหี้ยก็ยังล่าสัตว์มีพิษอย่างคางคกมีพิษ ซึ่ง รุจิระยกตัวอย่างในต่างประเทศมีการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเหี้ยบนเกาะๆ หนึ่ง ด้วยการดูว่าเหี้ยไปกินเศษขยะตามบ่อไหม แล้วจะไปกินในช่วงเวลาไหน นับเป็นการติดตามปฏิสัมพันธ์ของเหี้ย และยังติดวิทยุเพื่อติดตามกิจกรรมของเหี้ย

"ในประเทศเราก็มีงานวิจัยเกี่ยวกับเหี้ยของอาจารย์ท่านหนึ่ง เรื่องของการแพร่กระจายของสัตว์ในกลุ่มเหี้ยในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนงานวิจัยของผมเป็นวิทยานิพนธ์ตอนปริญญาโท จากความต้องการทราบว่าในพื้นที่หนึ่งนั้นจะมีเหี้ยอาศัยอยู่มากเท่าใด โดยในการวัดจำนวนเหี้ยก็จะวางกริตเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ และจับเหี้ยมาติดเครื่องหมายจากนั้นก็ปล่อยไปแล้วจับซ้ำ และมีวิธีการวางกรง คล้ายๆ การประเมินเสือโคร่ง"

สำหรับพื้นที่ทำวิจัยของรุจิระคือ พื้นที่ตำบลบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีพื้นที่ศึกษา 4 ตารางกิโลเมตร และผลการประเมินคือประชากรของเหี้ยในพื้นที่นั้น มีอยู่ที่ประมาณ 47- 306 ตัว หรือคิดเป็น 26 ตัวต่อตารางกิโลเมตร และยังมีงานวิจัยเรื่องประชากรเหี้ยอีกชิ้นซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาปริญญาตรี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการประเมิณประชากรที่สวนสัตว์ดุสิต ด้วยการใช้ลักษณะการจับและปล่อยและจับซ้ำเช่นเดียวกัน

"เท่าที่สำรวจพบว่าประชากรเหี้ยในหน้าร้อนมี 57 ตัว ส่วนหน้าฝนพบ 47 ตัว ซึ่งผลที่ได้ออกมายังไม่มีความแม่นยำ เพราะเป็นงานระดับปริญญาตรีและทำคนเดียว พร้อมกันนี้ยังดูเรื่องพฤติกรรมของเหี้ยด้วย ส่วนวิทยานิพนธ์ตอนปริญญาโทของนักศึกษาคนนี้ทำเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างโพรงของเหี้ย ว่าเหี้ยเลือกทำโพรงในสถานที่แบบไหนบ้าง จากผลสรุปคือเหี้ยสามารถเลือกทำโพรงบริเวณพื้นที่ตรงไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทราย กองดิน พื้นที่เปิดโล่ง"

รุจิระยังร่วมสำรวจประชากรเหี้ยกับมูลนิธิโลกสีเขียว โดยมูลนิธิได้สร้างบัญชีไลน์ (Line) เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นเหี้ยได้ถ่ายภาพและส่งเข้ามาทางไลน์ พร้อมระบุสถานที่พบเหี้ย โดยสำรวจเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และมีเรื่องการจับเหี้ยที่สวนลุมพินี เขาและทีมสำรวจจึงได้ลงสำรวจประชากรเหี้ยด้วยการเดินนับเป็นจุดๆ จุดละ 2 นาที เนื่องจากเหี้ยที่สวนลุมคุ้นชินกับคนมากจึงไม่หนี ทำให้สามารถนับได้ง่าย จากนั้นก็นำมาคำนวณด้วยสูตรการศึกษาสัตว์ป่า

"นอกจากเดินนับจำนวนและยังมีการสังเกตพฤติกรรมด้วยว่าเหี้ยกินอะไรบ้าง เท่าที่เห็นก็จะกินปลาไหล กินแมลงจากนั้นก็คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมาว่าเหี้ยกินสัตว์พวกนั้นไปเท่าไร สรุปคือในเชิงนิเวศวิทยา ยังขาดข้อมูลอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนต่อพื้นที่หนึ่งๆ อาณาเขตครอบครอง อัตราส่วนของเพศในหนึ่งพื้นที่ และอัตราส่วนระหว่างวัย ตั้งแต่เป็นไข่ วัยเด็ก วัยก่อนเจริญพันธุ์และวัยเจริญพันธุ์ เพราะงานวิจัยที่ทำเป็นงานวิจัยแบบสั้น หากต้องการรู้มากกว่านี้ต้องมีทุนสนับสนุนและทำเป็นงานวิจัยระยะยาว เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ในการจัดการประชากรเหี้ยว่า ควรเอาเหี้ยวัยไหนออกจากพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ประชากรเหี้ยสมดุล" รุจิระสรุป
รุจิระ มหาพรหม นักวิจัยสัตว์ป่า


กำลังโหลดความคิดเห็น