xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนา “ตัวเงินตัวทองตายยาก” ปูทางรักษาผู้ป่วยดื้อยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ความตายยากของ เหี้ย เป็นกุญแจสู่การรักษาการดื้อยาในคน
ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่คงต้องเคยเห็นภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่ตัวละครถูกใส่เชื้อโรคเข้าไปในร่างกายแล้ว ร่างกายสามารถฟื้นฟูตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยา แถมเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกายนั้นยังถูกทำลายด้วยสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายอีกด้วย ส่วนใหญ่โครงเรื่องแบบนี้จะถูกพบแค่ในหนังไซไฟ เกี่ยวกับพวกมนุษย์กลายพันธ์เท่านั้น แต่ใครจะไปรู้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงมีสัตว์เป็นสัตว์ธรรมดาสายพันธุ์หนึ่งที่มีความมหัศจรรย์ของร่างกายเหมือนพวกมนุษย์กลายพันธุ์ใน เรื่องนี้ต้องฟังจากปาก “หมอเหี้ย”

รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล ธนศักดิ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงการรักษาสัตว์แปลกจนกลายเป็นฉายาเฉพาะตัว โดยบอกว่าจุดเริ่มต้นก่อนที่จะได้มารักษาเจ้าสัตว์ชนิดนี้ จนโด่งดังและได้รับฉายาว่า “หมอเหี้ย” เขานั้นไม่ได้รู้เรื่องของสัตว์ที่เรียกกันว่าเหี้ยเลย ซึ่งโดยส่วนตัวจะรับรักษาสัตว์ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้นและรักษาสัตว์เลี้ยงทั่วไปๆ มาได้ 20 กว่าปีแล้ว จนอยู่มาวันหนึ่งมีคนแจ้งว่า มีเหี้ยกำลังจะจมน้ำตาย และตอนนั้นเขาเป็นสัตว์แพทย์คนเดียวที่ประจำอยู่ ณ เวลานั้น จึงได้บอกให้ รฟภ. ที่อยู่บริเวณนั้น จับเหี้ยตัวดังกล่าวขึ้นมา เขาจึงได้รักษาและเลี้ยงดูต่ออีก 3 เดือน

“เหี้ยส่วนใหญ่ที่มาให้รักษาจะมาในสภาพโทรมๆ ตาปิดๆ บางทีก็สุนัขคาบมา ก่อนที่จะได้เข้ามาทำงานวิจัยด้านนี้ อาจารย์สังเกตว่าเรื่องรักษาเหี้ยนั้นไม่ยาก แต่เรื่องที่จะทำให้หายและรอดชีวิตนั้นยาก ประเด็นอยู่ที่ว่าสัตว์ประเภทนี้อยู่ที่ที่สกปรกสุดยอด เชื้อโรคเข้าหาตัวได้ทั้งวันก็ไม่เคยเป็นอะไร แต่วันนี้ที่เหี้ยเขาป่วยแสดงว่าเขาเอาชนะเชื้อโรคตัวนั้นไม่ได้ มนุษย์ที่ว่าแข็งแรงยังไม่สามารถเอาชนะเชื้อโรคได้เท่าเหี้ย แล้วยาของมนุษย์จะสามารถรักษาเหี้ยที่ป่วยได้หรือ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้เหี้ยรอดชีวิตได้ก็คือ ต้องทำให้เหี้ยแข็งแรงที่สุดและให้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงที่สุด ทางทีมวิจัยจึงต้องทำการศึกษาปัจจัยที่ทำให้เหี้ยที่เข้ามารักษาแข็งแรงที่สุด”

รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมลกล่าวว่า แพทย์ท่านหนึ่ง ได้ศึกษาโครงสร้างภายในของเหี้ย ไว้เป็นความรู้แก่สัตวแพทย์ แต่การศึกษานั้นก็ศึกษาแต่เพียงว่า ในระบบทางเดินอาหารของเหี้ยตัวผู้และตัวเมียนั้น มีเมือก สารคัดหลั่ง (secretion) และเอนไซม์อีกเยอะแยะ ซึ่งยังไม่ได้พิสูจน์ว่าสิ่งเหล่านั้นมีประโยชน์อะไร แต่จากการคาดเดาสารเหล่านั้นอาจจะมีไว้เพื่อหุ้มเหยื่อให้สามารถไหลลงไปตามทางเดินอาหารได้ง่าย หากเดาจากพฤติกรรมการกินที่กินซากเน่าเหม็นเป็นอาหาร สารที่อยู่ในกระเพาะอาจจะช่วยกรองบางอย่างที่อยู่ในซาก

“เหี้ยเป็นสัตว์เลือดเย็น เวลาเขาไม่สบายเขาไม่สามารถปรับอุณหภูมิร่างกายของเขาให้อุ่นเพื่อรักษาตัวเองได้เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดังนั้นเขาจึงต้องอาศัยความร้อนจากภายนอกเพื่อช่วยให้ตัวเขาสามารถรักษาตัวเองได้ จากสาเหตุนี้ในช่วงแรกๆที่นำเขามารักษา เราจึงไม่สามารถทราบได้ว่าเมื่อเขาป่วยและต้องการความอุ่นเพื่อเป็นตัวช่วยในการรักษาตัวของเขา เราต้องฉายไฟให้เขากี่องศา ต้องให้เขาลงน้ำหรือไม่ หรือต้องปล่อยเขาไว้แห้งๆ แบบนั้น หรือให้เขาลงน้ำบ้างขึ้นจากน้ำบ้าง”

นอกจากจะเป็นสัตว์เลือดเย็นแล้ว เหี้ยยังไม่มีต่อมน้ำเหลืองที่ชัดเจนเหมือนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ระบบน้ำเหลืองของเขาจะอยู่กันเป็นร่างแหที่โยงใยไปทั่วร่างกาย เรื่องของระบบเม็ดเลือดระหว่างเหี้ยกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ยังต่างกันอีก โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีเม็ดเลือด 5 ชนิด ส่วนในเหี้ยจะมีเม็ดเลือด 6 ชนิด

“เรื่องระบบน้ำเหลืองและระบบเลือดอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเหี้ยมีความไม่เหมือนสัตว์ตัวใด แม้ว่าระบบภูมิคุ้มกันของเหี้ยนั้นจะไม่ได้เป็นระบบสมบูรณ์ (Complete) ซึ่งทุกอย่างจะทำงานอย่างเป็นกระบวนการเป็นระบบเหมือนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แม้ระบบภูมิคุ้มกันของเหี้ยจะไม่ได้ทำงานดีกว่าของมนุษย์ แต่ก็อาจจะเป็นระบบที่ทำงานได้ดีกว่าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในบางประเด็น”

รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมลกล่าว ในต่างประเทศมีการศึกษาระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์สายพันธุ์นี้ โดยศึกษามังกรโคโมโดที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงสายพันธุ์วารานัสหรือเหี้ย ด้วยการศึกษาน้ำลายและพบแบคทีเรีย 51 ชนิด ซึ่งน้อยกว่าเหี้ยที่มี 80 ชนิด แต่ของมังกรโคโมโดนั้นเชื้อที่อยู่ในน้ำลายอาจจะรุนแรงกว่า เนื่องจากเชื้อส่วนใหญ่เป็นเชื้อก่อโรค และเท่าที่มีรายงานมาว่า เมื่อมังกรโคโมโดไปกัดสัตว์ใด สัตว์ตัวนั้นจะป่วย หายยากและจะตายในที่สุด จากข้อมูลข้างต้นจึงได้เกิดความสงสัยว่าในเมื่อเชื้อที่อยู่ในน้ำลายมีความอันตรายขนาดนั้น แต่ทำไมกลับไม่ทำร้ายตัวมังกรโคโมโดเลย

จากข้อสงสัยนี้ทางทีมวิจัยของทางต่างประเทศจึงได้นำเลือดของมังกรโคโมโดมาปั่นแยกจะได้ส่วนที่เป็นน้ำ (serum) และส่วนของเม็ดเลือดออกมา พวกเขานำส่วนที่เป็นน้ำไปวิเคราะห์และพบว่ามีโปรตีนที่ชื่อว่า CAMPs (Cationic Antimicrobial Peptides) ซึ่งมีไออนบวก เจ้าตัวนี้เป็นโปรตีนในสาย DNA ที่เกิดจากการที่สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ประกอบตัวขึ้นมาด้วยสาย DNA และสาย DNA เกิดการหักไปหักมาเป็นชิ้นเล็กๆเหลือเป็นเศษออกมา เศษที่ลอยอยู่ในน้ำเลือดบางส่วนก็จะกลายเป็น CAMPs ชนิดนี้ โดย CAMPs ที่มีประจุชนิดนี้ก็จะไปเกาะกับเนื้อเยื้อที่มีขั้วตรงข้าม สัตว์แต่ละชนิดจะมี CAMPs มากน้อยต่างกัน

“มีผลการศึกษาฉบับหนึ่งพบว่า เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเหี้ย ระบบภายในร่างกายของเขาสามารถฆ่าได้เลย โดยไม่สนว่าต้องอาศัยแอนติบอดี้เฉพาะมากำจัด เพราะร่างกายของเขาจะรู้แค่ว่า เซลล์นี้เป็นเซลล์แปลกปลอม ระบบก็จะจัดการฆ่าทันที นั้นคือสาเหตุที่แบคทีเรียหลายชนิดถูกฆ่าทิ้งในระบบเลือดของเหี้ย ทำให้ต่างชาติสนในน้ำเลือดของสัตว์สายพันธุ์นี้ไปพัฒนาเป็นยาสำหรับผู้ป่วยที่มีการดื้อยา”

รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเม็ดเลือดของเหี้ยซึ่งแตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่นตรงที่สามารถเจาะเลือดสัตว์อื่นไปวิเคราะห์เทียบกับตาราง (blood profile) ว่าเป็นโรคอะไรได้เมื่อสัตว์นั้นได้เข้ารับการรักษา แต่ในสัตว์ตระกูลวารานัสหรือพวกเหี้ยไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เนื่องจากค่าการวิเคราะห์เลือดของเหี้ยนั้นกว้างมากเลยทำให้ผลออกมาว่าเหี้ยตัวนั้นปกติดี

“ผมจึงเกิดความคิดแวบแรกว่า จะทำฐานข้อมูลสำหรับใช้วิเคราะห์โรคของเหี้ยในโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยในการทำประวัติเม็ดเลือดทำมาจากเหี้ย 50 ตัวจากเขาสน กำแพงเพชร แต่ก่อนที่จะได้ทำวิจัยเพื่อสร้างฐานข้อมูล ผมได้ทดลองขึ้นมาชิ้นหนึ่งเพื่อตอบข้อสงสัยที่ว่า ณ สภาพแวดล้อมแบบใดที่สามารถช่วยเหี้ยในการรักษาตัวเองได้ดีที่สุด จากฐานข้อมูลพบว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมกับเหี้ยมากที่สุดคือ 27-37 องศาเซลเซียส และถ้าอ้างอิงจากผลงานวิจัยในเต่า กิ้งก่าและจระเข้จะพบการเอาเซลล์ไปเพาะเลี้ยงจะเพาะที่ 27 องศาเซลเซียสตลอด

“ผมจึงได้ลองเอาเลือดจากเหี้ย 50 ตัว มาทดลอง เมื่อได้เลือดมาก็นำไปแยกเอา PDMC (Peripheral blood mononuclear cell) ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวกลุ่มหนึ่งออกมา จากนั้นเอาไปเลี้ยงแบบธรรมดาที่ 27 องศาเซลเซียสและ 37 องศาเซลเซียส โดยไม่เติมอาหารหรือย่างอื่นลงไปเพิ่มเติม จากนั้นทิ้งไว้ 10 วัน ในวันแรกที่เลี้ยงเซลล์ เซลล์เม็ดเลือดเพิ่มขึ้นมาจากสองแสนเป็นเจ็ดแสน และลดลงเรื่อยๆ แต่ไม่ลดลงน้อยกว่าสองแสน ต่างจากของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เซลล์จะลดลงเรื่อยๆ จนเหลือต่ำกว่าแสนในวันที่ 10 ผลลัพธ์อีกอย่างคือเซลล์ที่นำมาเพาะจะเจริญได้ดีในอุณหภูมิ 37 มากกว่า 27 องศาเซลเซียส”

จากงานวิจัยข้างต้น รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล จึงได้นำมาปรับใช้กับการรักษาเหี้ย โดยอาจารย์ขอยกตัวอย่างการรักษาตัวเองของเหี้ยที่นำมารักษาซักกรณีหนึ่ง เป็นเหี้ยที่ถูกยิงจนหางขาดเขาจึงต้องรักษาง่ายๆ ด้วยการทำความสะอาดและเย็บปากแผลให้ โดยไม่ต้องติดผ้าก๊อซทับ จากนั้นก็นำไปอยู่ใต้แสงไฟที่อุณหภูมิสูงกว่า 27 องศาเซลเซียสเล็กน้อย หางของเหี้ยก็จะเริ่มรักษาตัวเองจนแผลปิดสนิทในที่สุด

“สาเหตุหนึ่งที่เซลล์เมล็ดเลือดของเหี้ยมีจำนวนมากในการเพาะวันแรกเนื่องจากเหี้ยนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สกปรก จึงทำให้เซลล์นั้นอยู่ในสภาวะตื่นตัวตลอดเวลา ทำให้เมื่อนำออกมาจากร่างกายแล้ว 1 วันโดยไม่เติมสายใดเพิ่มเลย เซลล์ก็ยังมีการแบ่งตัวเรื่อยๆ เทียบกับมนุษย์เมื่ออยู่ในสภาวะปกติเซลล์จะอยู่ในระยะพักไม่มีการแบ่งตัวใดๆ”

ความน่าอัศจรรย์อีกอย่าง ทางทีมวิจัยค้นพบพยาธิเม็ดเลือดในเลือดเหี้ยเกือบครึ่งตอนที่ตรวจนับเม็ดเลือดอยู่ ถ้าเป็นในสัตว์ปกติพยาธิเม็ดเลือดนี้จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เลือดจางจนทำให้ป่วยอ่อนแอ และเลวร้ายสุดคือตาย แต่ในเหี้ยคือพยาธิเม็ดเลือดทำลายเม็ดเลือดแดงไปเท่าไหร่ ระบบภูมิคุ้มกันก็จะสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาทดแทนตลอดเท่านั้น

“อาจารย์จึงเห็นว่าควรต่อยอดศึกษาเรื่องเลือดของสัตว์ตระกูลวารานัสอย่างจริงจังเพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเลือดของสัตว์ตระกูลนี้มีคุณสมบัติอะไรและเอาไปทำอะไรได้บ้าง โดยเราสามารถทำงานวิจัยให้แซงหน้าต่างชาติได้ เนื่องจากต่างชาติเลือกจะศึกษาแต่มังกรโคโมโด แต่อาจารย์คิดว่าเหี้ยของเอเซียมีดีไม่น้อยกว่ามังกรโคโมโดแน่นอน” รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมลกล่าว
รศ.ดร.น.สพ. จิตรกมล ธนศักดิ์


กำลังโหลดความคิดเห็น