ในคอลัมน์ก่อนผมได้แนะนำการถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงฤดูฝนไปแล้ว ซึ่งช่วงนี้หากท้องฟ้าใสเคลียร์ปราศจากเมฆฝน และไม่มีแสงจันทร์รบกวน ก็ถือเป็นโอกาสทองของการออกไปถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกกัน แต่นอกจากการถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกด้วยเลนส์มุมกว้างที่หลายคนนิยมถ่ายกันแล้ว หากใครที่เริ่มจะหาอุปกรณ์ขาตามดาวมาใช้ถ่ายภาพกัน ก็ไม่ควรพลาดโอกาสที่จะเก็บภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึก หรือที่เรียกกันว่า Deep Sky Objects (DSOs) กันได้เช่นกันครับ
สำหรับภาพ Deep Sky Objects ที่อยู่ใกล้กับบริเวณใจกลางทางช้างเผือกนั้น จริงๆแล้วเราก็มักจะถ่ายภาพติดมาในภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยได้สังเกตกันเท่านั้น หากสังเกตดีๆ ก็จะพบว่าในบางตำแหน่งในภาพใจกลางทางช้างเผือกนั้น มีวัตถุที่มีสีออกแดงๆ ฟ้าๆ ติดมาในภาพ และหากเราซูมภาพดูก็อาจจะเห็นรายละเอียดและรูปร่างของวัตถุนั้นๆ ได้บ้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ภาพถ่ายติดมาก็จะเป็นพวกเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission Nebula) ที่มีสีออกแดงเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น หากเราลองหาเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ ถ่ายเจาะไปยังบริเวณที่ปรากฏวัตถุสีแดงๆ เหล่านั้น ก็จะพบว่า เป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีสีสันสวยงามและลักษณะต่างๆที่แตกต่างกันออกไป ให้น่าถ่ายภาพกันได้อีกด้วยครับ
เทคนิคการถ่ายภาพ
สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพ Deep Sky Objects นั้น ผู้ถ่ายภาพจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ขาตามดาวเพื่อให้กล้องสามารถถ่ายภาพเป็นเวลานานๆ ได้ ซึ่งอุปกรณ์เริ่มต้นที่ผมจะแนะนำก็คือ พวกอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพาทั่วไป กับเลนส์ 50mm. ขึ้นไป ก็สามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพ Deep Sky Objects ได้แล้ว แต่อาจได้คุณภาพที่สู้การถ่ายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ และมีอุปกรณ์ติดตามวัตถุท้องฟ้าที่แม่นยำไม่ได้
อย่างไรก็ตามภาพตัวอย่างด้านล้างนี้ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ บนขาตั้งกล้องแบบตามดาวพกพา ด้วยเวลาการเปิดหน้ากล้องเพียง 2 นาทีเท่านั้นก็สามารถเก็บภาพ Deep Sky Objects ในบริเวณใจกลางทางช้างเผือกกันได้แล้วครับ ซึ่งนั้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับใครที่อยากหันมาลองเปลี่ยนแนวถ่ายภาพ Deep Sky Objects กันได้เช่นกันครับ
แต่หากใครที่ยังไม่มีความรู้พื้นฐานการใช้งานอุปกรณ์ขาตามดาวก็สามารถเข้าไปศึกษาได้ตามลิงก์ด้านล่างที่เคยเขียนไว้ได้ครับ ซึ่งผมได้แนะนำทั้งตัวอุปกรณ์และวิธีการทำ Polar Alignment ไว้แบบละเอียด
ลิงก์ “รีวิวอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพา” :
http://www.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/2593-star-tracker-article
ลิงก์ “วิธีการใช้งานอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพา กับการทำ “Polar Alignment” :
http://www.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/2602-star-tracker-polar-alignment
ตัวอย่างภาพ Deep Sky Objects บริเวณใกล้กับใจกลางทางช้างเผือก ประเภทเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission Nebula) ที่สามารถถ่ายภาพได้
Lagoon Nebula (M8, NGC 6523)
เนบิวลาทะเลสาบ (Lagoon Nebula) เป็นเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่ห่างออกไป 4,000-6,000 ปีแสงในกลุ่มดาวคนยิงธนู เนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission Nebula) นี้เป็นบริเวณซึ่งก๊าซจำนวนมหาศาลกำลังยุบรวมตัวกันอย่างช้าๆ ก่อนที่จะถือกำเนิดไปเป็นดาวฤกษ์ เนบิวลานี้มีขนาดประมาณ 50 x 110 ปีแสง
Eagle Nebula (M16, NGC 6611)
Eagle Nebula เป็นเนบิวลาชนิดเปล่งแสง (Emission Nebula) ที่มีแสงสว่างในตัวเองอีกเนบิวลาหนึ่ง อยู่ในกลุ่มดาวงู (Serpens) ห่างจากโลกไปประมาณ 7,000 ปีแสง ภายในเนบิวลานี้ คือแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์ ชนิดร้อนจัดเป็นจำนวนมาก โดยตัวเนบิวลาเองนั้นก็มีรูปร่างเหมือนกับ “นกอินทรี” โดยมีเสาก๊าซมืดตรงกลางเหมือนกับ “กรงเล็บ” นอกจากนั้นยังสามารถสังเกตเห็นกระจุกดาวเปิดอายุน้อยในกลุ่มดาวงู และเป็นหนึ่งในบรรดาวัตถุท้องฟ้าที่มีชื่อเสียง เป็นที่สังเกตเห็นได้ง่าย
Omega Nebula (M17, NGC 6618, Swan, Horseshoe or Lobster Nebula)
The Omega Nebula หรือ Swan Nebula เป็นกลุ่มก๊าซไฮโดรเจนที่ถูกกระตุ้นให้เรืองแสงจากดวงดาวภายในเนบิวลา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของดาวฤกษ์ที่ถอดยาวไปตามกังหันของกาแล็กซี และกระจัดกระจายด้วยแสงสีแดงจากอะตอมของก๊าซไฮโดรเจนและฝุ่นผงของเนบิวลา โดยอยู่ห่างออกไป 5,500 ปีแสง Omega Nebula จัดว่าเป็นหนึ่งในเนบิวลาที่สว่างที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือก
Trifid Nebula (M20, NGC 6514)
Trifid Nebula เป็นทั้งเนบิวลาเปล่งแสง (Emission Nebula) เนบิวลาสะท้อนแสง (Reflection Nebula) และเนบิวลามืด อยู่ในตัวเดียวกัน ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) ดาวเกิดใหม่ที่อยู่ภายในแผ่รังสีออกมากระตุ้นให้กลุ่มแก๊สที่อยู่บริเวณรอบๆ แผ่รังสีปรากฏเป็นเนบิวลาสว่างสีแดง แต่มีกลุ่มแก๊สหนาทึบบางส่วนมาบังแสงสว่างทำให้มองเห็นเป็นเนบิวลามืด และเกิดการกระเจิงของแสงที่กลุ่มแก๊สที่อยู่ด้านหลัง ทำให้มองเห็นเป็นเนบิวลาสะท้อนแสงสีน้ำเงิน
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน