ปูม้าเป็นทรัพยากรสัตว์ทะเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย และเป็นสัตว์น้ำที่ชาวบ้านจับจากธรรมชาติมากกว่าการเลี้ยงเชิงพานิชย์ อีกทั้งปูม้ายังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมบริโภคในประเทศโดยทั่วไป และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ แต่การจับมาเกินกำลังที่ธรรมชาติจะทดแทนได้ อาจทำให้ปูม้าขาดแคลนได้อนาคต นักวิจัยตรังจึงส่งเสริมให้ชาวบ้านเข้าใจชีววิทยาของปูม้า เพื่อการประมงที่ยั่งยืน
สถิติการประมงของประเทศไทยพบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลผลิตปูม้ามีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งสัญญาณบ่งชี้ว่าทรัพยากรปูม้าประเทศไทย ถูกจับไปใช้ประโยชน์เกินความสามารถที่ธรรมชาติสามารถทดแทนได้ (Overfishing) การควบคุมการประมงปูม้าเป็นวิธีการจัดการประมงที่เหมาะสมที่สุด แต่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากชาวประมงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจอุตสาหกรรม
ทางเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้า โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ จากสถาบันวิจัยและพัฒนา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง สาขาเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ต้องการสร้างความตระหนักให้กับชาวประมงใช้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับชีววิทยาของปูม้าผ่านกิจกรรมการเพาะฟักปูม้าไข่แก่นอกกระดอง เพื่อนำลูกปูม้าวัยอ่อนไปปล่อยคืนทะเล จนกลายเป็นธนาคารปูม้า
“เหตุผลที่เรียกกันว่าธนาคารปูม้า เนื่องจากชาวบ้านจะนำแม่ปูม้าที่จับมาได้ ซึ่งมีไข่อยู่นอกบริเวณหน้าท้องหรือจับปิ้ง หรือเรียกว่าไข่นอกกระดองมาปล่อยไว้ในกระชัง คอก บริเวณชายทะเลหรือนำมาใส่ถังพร้อมให้อากาศ เพื่อให้แม่ปูได้ปล่อยไข่ออกจากหน้าท้องและฟักต่อเป็นลูกปูม้าต่อไป ก่อนปล่อยลงสู่ทะเล ลักษณะการนำปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาเพาะขยายพันธุ์ลูกปู ก็เปรียบเสมือนการนำเงินมาฝากไว้ในธนาคาร ส่วนลูกปูวัยอ่อนที่เกิดจากการเพาะฟักและนำไปปล่อยทะเลเปรียบเสมือนดอกเบี้ยที่ธรรมชาติจะคืนให้ชาวประมงในอนาคต" ดร.อภิรักษ์
แม่ปูที่มีไข่นอกกระดองจะแบ่งสีไข่ออกเป็น 4 สี คือ "สีส้มเหลือง" ซึ่งเป็นระยะแรกของไข่ปูม้า ในการวิวัฒนาการของลูกปูสู่ระยะซูเอีย I (Zoea) ที่เป็นระยะแรกของลูกปูที่สามารถปล่อยลงสู่ทะเลได้ โดยจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน "สีน้ำตาล" ใช้เวลาพัฒนาการพร้อมฟักที่ 2-4 วัน "สีเทา" ใช้เวลาในการพัฒนาการพร้อมฟักที่ 1-3 วัน และสุดท้าย "สีดำ" ใช้ระยะเวลาพร้อมฟัก 1-2 วัน และแม้จะพบไข่สีเทาและสีดำในท้องแม่ปูที่ตายแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาศฟักออกมาเป็นตัวอยู่ โดยในแม่ปู 1 ตัว ที่มีขนาดความกว้างกระดอง 9.15 – 18.84 เซ็นติเมตร จะผลิตไข่ได้จำนวน 230,000 – 290,000 ฟอง
ด้าน ดร.วิกิจ ผินรับ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง อธิบายเพิ่มเติมว่า ไข่ปูที่พร้อมฟักจะเป็นไข่ปูสีดำ เมื่อฟักออกมาตัวอ่อนปูระยะ 1-10 วันจะเป็นปูที่ระยะซูเอีย เมื่อเข้าสู่วันที่ 11 – 15 ตัวอ่อนปูจะเข้าสู่ระยะเมกาโลปา (Megolopa) จากนั้นวันที่ 15-25 วัน ปูจะพัฒนาไปเป็นปูม้าวัยอ่อน (First crab) และพัฒนาพร้อมเปลี่ยนกระดองไปเรื่อยจ นกระทั้งปูม้าอายุ 4 เดือนขึ้นไปจะสามารถสืบพันธุ์ได้
ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ยังได้นำองค์ความรู้เข้าไปใช้ในธนาคารปูม้าของชุมชน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เพื่อเพิ่มอัตรารอดของลูกปูด้วยการตรวจวัดน้ำที่อยู่ในบ่อเลี้ยงของธนาคารปูม้า โดยต้องตรวจเช็คความเค็มของน้ำทะเลให้อยู่ในช่วง 28 -32 ส่วนในพันส่วน (ppt) เนื่องจากเป็นอัตราส่วนที่มีความเหมาะสมต่อการฟักไข่ของปูม้า หากความเค็มต่ำ อาจแก้ไขโดยใช้เกลือเม็ดใส่ลงในน้ำ
ส่วนน้ำทะเลที่นำมาใส่ถังฟักปูม้าต้องกรองด้วยถุงกรอง ซึ่งเป็นถุงไมครอนหรือผ้าขาวบาง เพื่อลดตะกอนในน้ำทะเลที่จะส่งผลต่อการฟักเป็นตัวของไข่ปูม้า และในถังฟักต้องเติมน้ำประมาณ 15-20 ลิตร เพื่อให้เหมาะสมต่อความหนาแน่นของการฟักเป็นตัวของไข่ปูม้า ส่วนอุณหภูมิของน้ำต้องอยู่ในช่วง 28 -31 องศาเซลเซียส ซึ่งพบว่าเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการฟักเป็นตัวของไข่ และปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ หรือค่า DO ต้องไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/l) และต้องเพิ่มระบบเติมอากาศในถังฟักด้วย
การตรวจวัดค่าต่างๆ ของน้ำทะเลสำหรับฟักไข่ปูม้านั้น ยังต้องตรวจวัดค่ากรด-ด่าง (pH) ของน้ำทะเลด้วย โดยค่ากรด-ด่างต้องอยู่ในช่วง 7.5-8.5 ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสม ถ้าทำธนาคารปูม้าตามชายฝั่งในระวังช่วงฝนตกหนักหรือช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงเพราจะทำให้ค่ากรด-ด่างเปลี่ยนแปลง
ทีมวิจัยได้วัดความสำเร็จจากการทำเครื่องหมาย DNA ของลูกปูไว้ ก่อนที่จะปล่อยกลับคืนทะเล โดยหลังจากปล่อยลูกปูประมาณ 20 วัน ได้จับปูขึ้นมาตรวจ DNA อีกครั้ง และพบว่าเป็นปูชุดเดียวกับที่ปล่อยลงทะเลไป ซึ่งสถานที่นำลูกปูไปปล่อยนั้นเป็นบริเวณที่มีหญ้าทะเล หรือบริเวณที่เป็นปากแม่น้ำ เพื่อให้ลูกปูได้มีแหล่งอาหาร โดยความเค็ม ณ บริเวณนั้นต้องไม่ต่ำว่า 25 ส่วนในพัน
"ส่วนเหตุที่เลือกปล่อยลูกปูระยะซูเอีย I เพราะเป็นระยะที่สัญชาตญาณนักล่าของลูกปูยังอยู่มีเมื่อปล่อยลงทะเล โดยลูกปูทั้งหลายจะทำทุกวิถีทางให้มีอาหารกิน ซึ่งอัตรารอดของลูกปูม้าขั้นต่ำในแต่ละชุดคือ 5% เนื่องจากในธรรมชาติยังมีนักล่าอย่างปลาและสัตว์อื่นๆ มาคอยกินลูกปู" นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ระบุ
ปัญหาที่ผ่านมาคือเมื่อก่อนชาวบ้านไม่เชื่อว่า ธนาคารปูม้าสามารถทำให้อัตราการรอดของลูกปูเพิ่มมากขึ้น เลยไม่ยอมให้แม่ปูที่ติดอวนมา ทางกลุ่มอนุรักษ์จึงขอหักไข่จากปิ้งแม่ปูแล้วเอามาเพาะ ในช่วงที่ชาวบ้านเริ่มนำแม่ปูมาเพาะเลี้ยงที่ธนาคารเป็นช่วงแรกก็ไม่มีความรู้เรื่องปัจจัยในการเพาะแม่ปู เพราะขาดความเชื่อมโยงทางด้านวิชาการ และเครื่องมือ ทางทีมวิจัยจึงต้องลงพื้นที่ให้ความรู้และสอนการใช้เครื่องมือวัด โดย ดร.วิกิจเริ่มส่งเสริมเรื่องธนาคารปูม้าตั้งแต่ปี 2553 หลังจากที่ ดร.อภิรักษ์กลับมาประจำที่มหาวิทยาลัย
"ตอนนี้เราได้เผยแพร่งานวิจัยเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูจากชุมชนบ่อหินไปชุมชนบ้านน้ำราบ และชุมชนบ้านแหลมไทร ในจังหวัดตรัง และเริ่มเผยแพร่ไปยังจังหวัดแถบฝั่งอันดามัน อย่างสตูล กระบี่ ด้วยการให้บุคคลาการของทางมหาลัยลงไปให้ความรู้แก่มหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดนั้นๆ และชุมชน" ดร.วิกิจบอกถึงการเดินหน้าโครงการธนาคารปูม้า