เปิดประสบการณ์ "น.สพ.ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา" สัตวแพทย์ผู้เป็นเสมือนพ่อพระของบรรดาเหี้ยทั้งหลาย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการรักษาสัตว์เลี้ยงแปลกๆ แต่คุ้นเคยกับคนอย่างเต่า งู และนก จนขยับมาสู่การรักษาเหี้ย
น.สพ.ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง จ.ปทุมธานี ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่น้อยคนจะได้สัมผัสอย่างการรักษาเหี้ยและช่วยชีวิตเหี้ยในธรรมชาติ ระหว่างการประชุมวิชาการทันสถานการณ์เหี้ยในแระเทศไทย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 พ.ค.61 ณ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา)
เหี้ยต่างๆ ที่ถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์คลองหลวงนั้น เป็นทั้งเหี้ยที่มีเจ้าของและเหี้ยจรหรือเหี้ยที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่ง น.สพ.ทวีศักดิ์ เล่าว่าความยากในการรักษาเหี้ยคือการรักษาเหี้ยจรที่ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน พร้อมยกตัวอย่าง "บุญช่วย" เหี้ยที่ถูดรถทับ
"เจ้าบุญช่วยถูกรถทับด้วยล้อหน้าและทับอีกครั้งด้วยล้อหลังที่หัวและต้นคอระหว่างกำลังข้ามถนน ส่งผลให้กระโหลกแตก สมองได้รับการกระทบกระเทือนและเกิดแผลในช่องปากอย่างรุนแรง ฟันหลายซี่หลุดไปเนื่องจากฟันบนขบลงล่างและฟันล่างขบขึ้นบน ในส่วนของลิ้นก็จะได้รับบาดเจ็บมากจนกระทั้งเซลล์ตายไปจนทำให้ลิ้นหลุดออกมา" น.สพ.ทวีศักดิ์เล่าอาการสาหัสของเหี้ย
ทั้งขั้นตอนการนำส่งโรงพยาบาลจำเป็นต้องทราบวิธีจับเหี้ยที่ถูกต้องๆ ซึ่ง น.สพ.ทวีศักดิ์ ระบุว่า ผู้ที่จับเหี้ยไปรักษาต้องรู้วิธีการจับเหี้ยที่ถูกต้อง คือต้องจับที่ปากและที่หางของเหี้ยไว้ เพราะเหี้ยสามารถฟาดหางได้แม่นยำมาก และเหยื่อจะถูกฟาดอย่างตรงจุดภายในครั้งเดียว แต่ในกรณีที่เหี้ยประสบอุบัติเหตุ มักจะอ่อนแรงทำให้สามารถจับได้ง่ายกว่า ไม่ว่าจะเป็นเหี้ยตัวใหญ่แค่ไหนก็ตาม
"ในการรักษาจะให้ยาลดการปวดและยาที่ลดอาการบาดเจ็บที่ประสาท และรักษาแบบ conservative treatment ด้วยปล่อยให้เหี้ยรักษาตัวเอง ในที่ๆ ปลอดภัย อุณหภูมิพอเหมาะ และไม่รบกวนเจ้าสัตว์ตัวนี้ เนื่องจากเหี้ยเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการรักษาตัวเองได้ ในระหว่างการรักษาก็ได้ฉายรังสีเอกซ์ดูทั้งตัว ตั้งแต่ปลายปากไปจนถึงโคนหาง"
ส่วนแผลในช่องปาก น.สพ.ทวีศักดิ์บอกว่าต้องล้างแผลในปากทุกๆ วัน ด้วยน้ำเกลือล้างแผลหรือน้ำเกลือล้างแผลผสมเบตาดีนทุกๆ วันเพื่อช่วยเหี้ยทำความสะอาดเอาเซลล์ที่ตายออกมา และยังให้น้ำเกลือ ซึ่งเจ้าบุญช่วยมีการตอบสนองที่ดีต่อการรักษา แต่ก็ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเนื่องจากลิ้นที่เป็นอวัยวะในการตรวจจับสิ่งต่างๆ ทั้งกลิ่นและสิ่งที่อยู่รอบตัวหลุดไป
กรณีที่ได้รับความสนใจอีกกรณีหนึ่งคือ เหี้ยที่โดนรถทับที่แหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ แต่กรณีนี้โดนทับจากล้อหน้าเพียงล้อเดียวของรถ 6 ล้อที่บริเวณหัว ทำให้ตัวเหี้ยยังมีแรงไปซ่อนตัวอยู่ที่ใต้ถุนบ้านของผู้ที่นำไปรักษา เหี้ยตัวดังกล่าวมีขนาดที่ใหญ่กว่าเจ้าบุญช่วยมาก และยังมีแผลที่ถูกเหี้ยตัวอื่นที่อยู่แถวนั้นทำร้ายที่ขาหน้าทั้งสองข้าง จากการที่บริเวณนั้นเป็นป่าชายเลนทำให้มีเหี้ยอยู่ชุกชุม แต่ป่าชายเลนก็ยังสามารถเป็นที่ซ่อนอย่างดีให้เจ้าเหี้ยที่บาดเจ็บตัวนี้ได้
"เมื่อเหี้ยมาถึงเราก็ล้างตัวเอาโคลนออกก่อนเพราะเจ้าเหี้ยตัวนี้นอนหมกโคลนเป็นเวลาร่วมสัปดาห์กว่าจะถึงมือสัตว์แพทย์ เมื่อล้างตัวเสร็จแล้วก็นำมารักษา โดยเริ่มจากการเคาะเพื่อดูการตอบสนอง คลำเพื่อหาสาเหตุของปัญหาเบื้องต้น เพราะในวันแรกๆ ที่นำมารักษาพวกสัตว์ตระกูลนี้เมื่อได้รับบาดเจ็บ ก่อนนำไป x-ray พวกมันจะหลับตาเกือบตลอดเวลา เราทำทุกอย่างคล้ายๆ เจ้าบุญช่วย เพราะถ้าได้รับการกระทบกระเทือนที่หัว ต้องเช็ครูม่านตา เช็คการตอบสนองและเปิดปากเพื่อดูแผล หลังจากการวินิจฉัยเสร็จแล้วก็ให้ยาลดปวดและยาปฏิชีวนะ ในทุกๆ วันต้องให้ยาและตรวจการตอบสนองตามปกติ ในส่วนของการให้อาหารก็ให้อาหารผ่านท่อ" น.สพ.ทวีศักดิ์บอก
เมื่อดูแล้วว่าเหี้ยที่บาดเจ็บตัวนี้หายปวดและสามารถตั้งคอได้ ทาง น.สพ.ทวีศักดิ์บอกก็ได้ใช้เลเซอร์เพื่อเร่งการรักษาแผลทันที เพื่อให้เหี้ยตัวดังกล่าวได้กลับคืนถิ่นไวๆ เนื่องจากก่อนจะปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ เหี้ยมีอาการซึมเพราะแปลกที่และแปลกกลิ่น แต่เมื่อนำไปปล่อยที่เดิมที่นำเหี้ยมา เหี้ยก็กลับมาร่าเริงและวิ่งลงน้ำอย่างรวดเร็ว น้ำหนักล่าสุดที่ชั่งก่อนปล่อยคือ 27 กิโลกรัม
"นอกจากกรณีรถทับที่หัวและลำคอ ยังมีกรณีเหี้ยที่ถูกทับที่กระดูกสันหลังและยังทับในขณะตัวเล็ก และกรณีที่ถูกสุนัขพันธ์พิบูลรุมกัด ผลปรากฏคือไม่รอดทั้งสองกรณีเพราะเท่าที่รักษามา ตัวที่ได้รับบาดเจ็บที่แถวแกนกระดูกสันหลัง อวัยวะภายในจะเสียหายทำให้เลือดออกภายใน โอกาสรอดจึงยาก" น.สพ.ทวีศักดิ์ระบุ