xs
xsm
sm
md
lg

ส่งความงามจาก “ปลีกล้วย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวณัฐฐารัตน์ สิงห์นามรัตน์
กล้วยเป็นพืชที่สามารถนำมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น เริ่มจากรากและลำต้นแท้ สามารถนำมาทำสมุนไพร รักษาโรคตามแผนโบราณ หรือใช้รักษาผิวหนังที่แดงปวดจากการถูกแดดเผา ส่วนกาบลำต้นนิยมนำมาใช้ในการทำเส้นใยหรือทำเชือกทอผ้า ทำอาหารสัตว์ น้ำคั้นจากส่วนนี้ก็สามารถนำมาทากับผมร่วง

ใบกล้วยเป็นส่วนที่นิยมมาทำงานฝีมืออย่างกระทงและบายศรี ในส่วนผลนำมาทานได้ทั้งผลอ่อน ผลแก่ และผลสุก สามารถรัปประทานได้เลยเพื่อเป็นยาหรือนำไปประกอบอาหารก็ได้ ส่วนสุดท้ายคือปลีที่นิยมนำมาทานเป็นเครื่องเคียงกับผัดไทยหรือเป็นส่วนประกอบในแกงเลียง

ทว่าประโยชน์ด้านความงามจากกล้วยก็ไม่เป็นสองรองใครโดยเฉพาะส่วนที่เป็นหัวปลี แต่กลับเป็นส่วนที่ไม่ค่อยมีใครนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งชาวสวนกล้วยในจังหวัดปทุมธานีที่ปลูก “กล้วยหอมทองปทุมธานี” เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ก็ต้องการแก้ปัญหาหัวปลีเหลือทิ้งจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าจะกำจัดอย่างไร

นางสาวณัฐฐารัตน์ สิงห์นามรัตน์ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้เลือกหัวข้อวิจัยปริญญานิพนธ์ (Senior Project) ที่ใช้ประโยชน์จากปลีกล้วย โดยได้สกัดสารจากปลีกล้วยหอมทองปทุมธานีมาพัฒนาเป็นเวชสำอางค์นาโน

ปลีกล้วยมีสารสำคัญอย่างสารประกอบฟีนอล สารฟลาโวลนอยด์ สารสกัดดังกล่าวมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงสุดที่ความเข้มข้น 40.79% ซึ่งณัฐฐารัตน์ ได้ใช้กรรมวิธีฟรีซ-ดราย (Freeze-dry) สกัดสารสำคัญจากปลีกล้วย โดยสารสกัดดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการห่อหุ้มด้วยไคโตซานเท่ากับ 44.06% ที่ความเข้มข้น 0.75 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ประสิทธิภาพในการห่อหุ้มด้วย liposome เท่ากับ 93.39% ที่ความเข้มข้น 1.0 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร

“สารเหล่านี้ถูกเก็บกักอยู่ในอนุภาคนาโนด้วยเทคโนโลยีแคปซูลนาโน (Nano-Encapsulation) ทำให้สารมีความคงตัวสูง ออกฤทธิ์ได้นานและสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย” ณัฐฐารัตน์อธิบายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

สารที่มีอยู่ในปลีกล้วยมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นและไม่เหี่ยวย่น แต่ณัฐฐารัตน์บอกว่ายังอยู่ในระหว่างปรับปรุงสูตรของสารแต่ละตัวให้มีความพอดีต่อการออกฤทธิ์ ซึ่งเธอได้นำไปทดลองใช้กับตัวเอง และให้เพื่อนร่วมสาขาเรียนได้ทดลองใช้ ปรากฏว่าไม่พบเรื่องอาการแพ้แต่อย่างใด

“ในขั้นต่อไปจะส่งทดสอบเรื่องของการฆ่าแบคทีเรียและการยับยั้งแบคทีเรีย พร้อมกับทำการปรับปรุงสูตรของสารสกัดให้มีความเจือจางลง เพื่อนำไปผลิตเป็นโลชั่นทาผิว เนื่องจากตัวเจลมีความเข้มข้นมาก หากนำไปเจลที่ความเข้มข้นสูงๆ ไปทา อาจเกิดอาการแพ้ได้” ณัฐฐารัตน์เผย
เวชสำอางจากปลีกล้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น