xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวร้ายสำหรับคนกินข้าว “โลกร้อน” ทำสารอาหารลดน้อยลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนาคตประชากรในประเทศที่บริโภคข้าวเป็นหลัก โดยเฉพาะประเทศที่ยากยิ่งอาจจะเผชิญภาวะขาดสารอาหาร โดยนักวิจัยพบว่าข้าวผลิตโปรตีนและวิตามินได้น้อยโลกเมื่อมีปริมาณคาร์ไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้น (Ye Aung Thu / AFP)
นักวิทยาศาสตร์เตือนปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล จะส่งผลให้ข้าวสูญเสียการสร้างโปรตีนและวิตามินบางส่วน และทำให้ผู้คนกว่า 150 ล้านคนจะเผชิญกับภาวะขาดสารอาหาร

เอเอฟพีรายงานคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเผยแพร่ในวารสารวิชาการไซน์แอดวานซ์ (Science Advances) ว่า การเปลี่ยนแปลงของคุณค่าอาหารในข้าวที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์นั้นจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งกินข้าวเป็นอาหารหลัก

“เรากำลังเผยให้เห็นว่าโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซเรือนกระจก อย่างคาร์บอนไดออกไซด์ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณสารอาหารในพืชที่เรากิน ซึ่งนี่จะส่งผลเสียหายอย่างมากต่อคนในประเทศที่บริโภคข้าวเป็นหลัก โดยประมาณ 70% ของพลังงานและสารอาหารส่วนใหญ่ที่คนในประเทศนั้นได้รับมาจากข้าว” อดัม ดรูวโนวสกี (Adam Drewnowski) ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) กล่าว

การขาดโปรตีนและวิตามินจะส่งผลให้เกิดภาวะชะงักการเจิรญเติบโต ภาวะแท้ง ท้องร่วง ติดเชื้อและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ ดรูวโนวสกียังเผยด้วยว่าประเทศที่จะได้รับความเสี่ยงเลวร้ายมากขึ้นเมื่อบริโภคข้าวเป็นส่วนใหญ่และยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product) หรือจีดีพี (GDP) ต่ำสุด เช่น เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา

รายงานวิชาการนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานการศึกษาภาคสนามในญี่ปุ่นและจีน โดยจำลองปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่คาดการณ์ไว้ในชั้นบรรยากาศช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้ ว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 568 ถึง 590 ส่วนต่อล้านส่วน โดยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบันคือเพิ่งเลยระดับ 400 ส่วนในล้านส่วนมาเมื่อเร็วๆ นี้

ในการทดลองนั้นมีการศึกษาข้าวสายพันธุ์ต่างๆ 18 สายพันธุ์ ที่ปลูกในภาคสนามและรายล้อมด้วยท่อพลาสติกที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาให้มีปริมาณมากกว่าปกติ ซึ่งอ้างจากการศึกษาของ คาซุฮิโกะ โคบายาชิ (Kazuhiko Kobayashi) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ในญี่ปุ่น ผู้ร่วมทีมในการศึกษาครั้งนี้ ระบุว่าการทดลองได้รับการออกแบบให้มีความเที่ยงตรงมากกว่าทดลองภายในเรือนกระจก

ศาสตราจารย์โคบายาชิกล่าวว่า เทคนิคนี้จะช่วยให้สามารถทดสอบผลกระทบจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้นมากกว่าปกติต่อพืชที่เติบโตในสภาพแวดล้อมเดียวกับที่เกษตรกรจะต้องเผชิญในอีกไม่มีสิบปีหลังจากนี้

นักวิจัยพบว่า สารอาหารในข้าวอย่าง ธาตุเหล็ก สังกะสี โปรตีน และวิตามินบี 1, บี2, บี5 และ บี9 ซึ่งช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนอาหารไปเป็นพลังงานนั้น จะมีปริมาณลดลงเมื่อข้าวเจิรญเติบโตภายใต้ภาวะที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าปกติ

จากรายงานระบุว่า โดยเฉลี่ยข้าวที่ปลูกในภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณสูงนั้นจะมีวิตามินบี 1 หรือไธอามีน (thiamine) จะลดลง 17.1%, วิตามินบี2 หรือไรโบฟลาวิน (riboflavin) จะลดลง 16.6%, วิตามินบี 5 หรือกรดแพนโทเธนิค (pantothenic acid) จะลดลง 12.7% และวิตามินบี 9 หรือโฟเลต (folate) จะลดลง 30.3% และปริมาณโปรตีนในข้าวจะลดลง 10.3%, ธาตุเหล็กลดลง 8% และสังกะสีลดลง 5.1% เมื่อเปรียบเทียบกับสารอาหารในข้าวที่ปลูกในภาวะที่คาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับปัจจุบัน

ส่วนวิตามินบี 6 และแคลเซียมในข้าวนั้นไม่ได้ผลกระทบจากการปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น และในรายงานยังพบว่าข้าวหลายสายพันธุ์มีระดับวิตามินอีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเหตุผลว่าทำไมจึงมีการเปลี่ยนแปลงของสารอาหารในข้าวนั้น ทางรายงานดังกล่าวระบุว่า ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสูงขึ้นมีต่อโครงสร้างและการเจริญเติบโตของต้นข้าว ซึ่งส่งผลให้ปริมาณคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นแต่โปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ ลดลง ซึ่งจะทำให้ประชากรโลกว่า 150 คนเสี่ยงขาดโปรตีนเมื่อถึงปี ค.ศ.2050

นักวิจัยระบุว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้น หมายถึงต้นข้าวได้รับไนโตรเจนน้อยลง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อปริมาณวิตามินในข้าว อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ข้าวทุกสายพันธุ์ที่จะพบว่ามีสารอาหารลดลง จึงเป็นความหวังว่างานวิจัยในอนาคตจะช่วยเกษตรกรพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากทีมอื่นโดยนักวิจัยที่มหาวิยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ได้ศึกษาพบว่า ภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้ปริมาณโปรตีนในพืชอาหารหลักสำคัญๆ หลายชนิดลดลง เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์และมันฝรั่ง
ชาวนาในเมียนมาร์กำลังเกี่ยวข้าว ทั้งนี้นักวิจัยพบว่าข้าวผลิตสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนและวิตามินบางอย่างได้น้อยลง เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น (THET AUNG / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น