xs
xsm
sm
md
lg

ลองคิดลองทำ “หมวกอัจฉริยะ” บอกสัญญาณเลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปูซาน - ฟังธรรม ศิลปภักดี
‘มันมากับความมืด’ แค่ได้ยินประโยคนี้ก็ขนลุกขนพองแล้วว่า ‘มัน’ ที่หมายถึงนั้นคืออะไร จะเป็นสิ่งมีชีวิตลี้ลับที่เรียกตัวเองว่าวิญญาณหรือจะป็นสิ่งมีชีวิตที่เราจับต้องได้อย่างโจร ขโมย กันนะ แต่ก็มีบางอย่างที่น่ากลัวพอๆ กับวิญญาณและโจรคือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนโดยในบางครั้งก็อาจจะมีรถเล็กอย่างรถจักรยานเป็นเหยื่อ ประกอบกับสถานที่ปั่นจักรยานบางที่ก็มีแสงสว่างที่ไม่เพียงพอ จนทำให้คนที่รักการออกกำลังอย่างการปั่นจักรยานผวาไปตามๆ กัน

“ปูซาน” หรือ ฟังธรรม ศิลปภักดี นักเรียนชั้นมัธยมปลายโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เด็กอัจฉริยะจากโครงการพัฒนาอัจริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาววชน หรือ JSTP (Junior Science Talent Project) รุ่นที่ 19 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นอีกคนกลัวอุบัติเหตุที่พร้อมความมืดระหว่างปั่นจักรยาน

“เคยสังเกตไหมเวลาที่ขับขี่จักรยานบนท้องถนนแล้วต้องการเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ต้องมีการให้สัญญาณมือโดยการยกมือข้างขวาขึ้นมาเพื่อส่งสัญญาณให้รถยนต์ประเภทต่างๆ ได้รับรู้ก่อนที่จะเลี้ยว และยิ่งเป็นช่วงเวลาพลบค่ำที่แสงน้อยหรือในช่วงกลางคืนที่ไม่มีแสงเลย เป็นอุปสรรคต่อการให้สัญญาณมือเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่มีการให้สัญญาณมือผู้ขับจักรยานจะเหลือมือสำหรับควบคุมจักรยานแค่ข้างเดียว ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุสูง” ปูซานกล่าวถึงสาเหตุที่จุดประกายให้เขาประดิษฐ์หมวกจักรยานอัจฉริยะนี้ขึ้นมา

หมวกจักรยานอัจฉริยะมีหลักการทำงานคือ มีรีโมตคอนโทรลควบคุมไฟสัญญาณบนหมวกจักรยานติดอยู่บริเวณมือจับ(แฮนด์) จักรยานสำหรับควบคุมการเปิด-ปิดไฟ โดยตัวรับสัญญาณจากรีโมทเป็นวงจรไฟอย่างง่าย กำลังไฟ 5 โวลต์ที่ประกอบด้วยชุดวงจรพร้อมสายไฟและถ่านลิเทียมไออน ซึ่งอยู่ด้านหลังหมวก

“จักรยานจะรับสัญญาณคลื่นความถี่จากรีโมตไปเปิดหลอดไฟ LED ที่อยู่บนด้านข้างและด้านหลังของหมวก เพื่อเป็นสัญญาณบอกว่าผู้ขับจักรยานต้องการเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา และในกรณีฉุกเฉินสามารถสั่งเปิดหลอดไฟ super LED ขนาด 10 มิลลิเมตรที่เป็นไฟฉุกเฉินสีฟ้าได้”

หมวกจักรยานที่ปูซานนำมาแนะนำแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เป็นหมวกรุ่นต้นแบบซึ่งได้ปรับปรุงมาแล้ว ก่อนหน้านี้มีปัญหาหมวกจักรยานมีลักษณะโค้ง ทำให้เกิดมุมอับที่ทำให้รถที่วิ่งมาจากด้านหลังมองไม่เห็นสัญญาณเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา

ปูซานจึงได้ทำไฟสัญญาณลักษณะใหม่แล้วนำไปติดที่ด้านหลังหมวกจักยานเพิ่ม และยังแก้ไขแผงวงจรให้กันน้ำได้เมื่อถูกน้ำสาด แต่ถ้าวงจรจมน้ำจะเกิดการหยุดชะงัก และกลับมาทำงานได้ตามปกติเมื่อวงจรแห้งสนิทอีกครั้ง

“ตอนนี้ก็ยังประสบปัญหาอีกหลายอย่าง เช่น แบตเตอรีเก็บประจุไฟได้น้อย ต้องชาร์จทุกๆ ชั่วโมง อีกทั้งรูปร่างหมวกไม่สอดคล้องกับกล่องวงจร ปัญหาขั้นตอนการชาร์จแบตเตอรีที่ยุ่งยาก เพราะอุปกรณ์ชาร์จยังเป็นแบบสายอยู่ จึงคิดวิธีแก้ปัญหาด้วยการสร้างอุปกรณ์ชาร์จแบบไร้สายที่มีลักษณะคล้ายๆ กับพาวเวอร์แบงก์ ซึ่งสะดวกกว่า เพราะนำหมวกไปวางบนแท่นชาร์จแล้วชาร์จไฟได้เลย โดยตัวแท่นชาร์จนี้จะใช้งานได้ประมาณ 6-7 ชั่วโมง และพกพาไปใช้ตอนขับขี่จักรยานได้ และใช้เวลาชาร์จไม่นานเนื่องจากมีระบบบูสต์ไฟ”

การพัฒนาต่อยอดขั้นต่อไป ปูซานจะเปลี่ยนแบตเตอรีให้ใช้งานได้นานขึ้น ซึ่งเดิมตั้งใจจะเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรีลิเทียมโพลิเมอร์ แต่กังวลเรื่องระเบิด จึงต้องใช้ลิเทียมไออนแทน เพราะปลอดภัยและชาร์จได้ง่ายกว่า แต่แบตเตอรีลิเทียมไออนมีลักษณะใหญ่ เมื่อประกอบกับหมวกจักรยาน ตัวกล่องจะยื่นออก ทำให้ดูไม่ค่อยสวยงาม

“มีคนแนะนำว่าให้ออกแบบหมวกจักรยานเอง และหาจุดที่กลวงๆใส่แบตเตอรีเป็นช่วงๆ ซักประมาณ 6-7 ก้อน เนื่องจากแบตเตอรีแบบลิเทียมไอออนนั้นมีน้ำหนักเบาอยู่แล้ว วิธีนี้จะทำให้กล่องวงจรไม่เกินออกมาจากส่วนท้ายของหมวก และไฟ LED สามารถติดเรียบไปกับตัวหมวกได้อย่างสวยงาม” ปูซานบอกแผนการแก้ปัญหา

“ขั้นต่อไปหลังจากการออกแบบหมวกให้สามารถใส่กล่องวงจรเข้าไปได้แล้ว จะสั่งทำแบตเตอรีลิเทียมไออนที่มีขนาดเล็กลง เพื่อใส่เข้ากับแบบหมวกรุ่นใหม่ได้หลายตัว เนื่องจากขนาดแบตเตอรีที่เล็กลง ทำให้ระยะเวลาการจ่ายไฟน้อยลงตามไปด้วย และจะเปลี่ยนไฟส่องทางด้านหน้า จากหลอด LED ขนาด 12 โวลต์ซึ่งกินไฟมาก มาเป็นหลอด LED ขนาด 5 โวลต์แทน ทำให้การทำงานของไฟอยู่ได้นานขึ้น จากการจ่ายไฟของแบตเตอรีลิเทียมไออน 3 ก้อน”

ปูซานบอกว่าที่สหรัฐฯ มีผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันนี้วางจำหน่าย แต่หมวกที่จำหน่ายนั้นใช้แบตเตอรีลิเทียมโพลิเมอร์ และมีข้อด้อยที่ไฟหน้าไม่ค่อยสว่าง เนื่องจากเน้นใช้งานได้ยาวนาน 7 วัน ส่วนไฟบอกสัญญาณเลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวานั้นเป็นเส้น LED ติดด้านข้างหมวกเพียงอย่างเดียว ไม่มีไฟลูกศรทางด้านหลัง

หมวกที่ปูซานนำมาให้ดูนี้มีต้นทุุนประมาณ 2,000 -3,000 บาท โดยในส่วนของวงจรนั้นซื้อชุดสำเร็จมาและต่อสายไฟเอง จากนั้นก็เขียนโปรแกรมภาษาซีให้วงจรแปลงสัญญาณ และนอกจากหมวกจักรยานอัจฉริยะแล้ว ปูซานเล่าให้ฟังว่าได้ทดลองทำบ้านอัจฉริยะ ที่สั่งงานระบบใช้ไฟฟ้าด้วยเสียง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ทำระบบที่เป็นภาษาไทย

“รวมถึงทดลองพัฒนาการรับคำสั่งแบบปัญญาประดิษฐ์ เช่น พูดว่า Good Night ปัญญาประดิษฐ์จะต้องรู้ว่าคำสั่งนี้คือคำสั่งให้ปิดไฟ ซึ่งวางแผนว่าจะพัฒนาเป็นขั้นต่อไปในอนาคต ส่วนตอนนี้ทำเรื่องการรับคำสั่งด้วยเสียงใกล้เสร็จแล้ว เช่น ปิดไฟห้องนอน เปิดไฟโต๊ะทำงาน หรือเปิดทีวี” ปูซานเล่า


กำลังโหลดความคิดเห็น