xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้าหลังฝนกับคนถ่ายดาว EP2

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายทางช้างเผือกกับคนถ่ายดาว ในช่วงเดือนพฤษภาคมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 37 sec
สำหรับคอลัมน์นี้ผมเปิดตัวด้วยภาพนักถ่ายดาวกับฉากหลังที่เป็นแนวใจกลางทางช้างเผือก เพราะอยากสื่อให้เห็นถึงความหลงใหล ความคลั่งไคล้ ในการออกไปถ่ายภาพดวงดาวของบรรดานักถ่ายภาพ ซึ่งบุคคลในภาพนั้นท่านก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการถ่ายภาพดวงดาวและคอยออกเดินทางไปหาสถานที่ใหม่ๆ ในการถ่ายดาว รวมทั้งเหล่าบรรดานักถ่ายภาพดวงดาวอื่นๆ เช่นกัน

หลายครั้งที่นักถ่ายภาพดวงดาวมักจะมาเจอกันโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งความบังเอิญนี้เกิดจากการเตรียมตัว วางแผนและเฝ้ารอคอยช่วงเวลาที่เหมาะสมทั้งสภาพอากาศและตำแหน่งทิศทางของวัตถุท้องฟ้าไว้ล่วงหน้า และที่สำคัญคือทุกคนจะดูล่วงหน้าว่าช่วงเดือนนั้นหรือหลังจากนั้นจะมีวัตถุท้องฟ้าอะไรบ้างให้ได้ตามถ่ายภาพกันบ้าง

แต่สิ่งสำคัญในช่วงเดือนนี้เป็นต้นไป หากวันไหนท้องฟ้าไม่มีฝนและปราศจากเมฆ วันนั้นท้องฟ้ามักจะใสเคลียร์แบบสุดๆ และวัตถุท้องฟ้าที่เป็นไฮไลท์แต่ช่วงเดือนนี้ก็คือ “ทางช้างเผือก”นั้นเอง เนื่องจากเราจะสามารถสังเกตเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกกันได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ และหากวันไหนฟ้าใสไม่มีแสงจันทร์รบกวน เราก็จะสามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกกันได้ตลอดทั้งคืนจนถึงเช้าตรู่กันเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากเราจะสามารถถ่ายภาพแนวใจกลางทางช้างเผือกแบบเลนส์มุมกว้างได้โดยปราศจากแสงจักรราศีรบกวนแล้ว บริเวณแนวใจกลางทางช้างเผือกยังมีวัตถุอวกาศในห้วงลึก (Deep Sky Objects) อีกหลายวัตถุให้ได้ถ่ายภาพกันตลอดทั้งคืน ไม่ว่าจะเป็นกระจุกดาวทรงกลม เนบิวลาต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับใจกลางทางช้างเผือกซึ่งมีอยู่หลากหลายวัตถุด้วยกัน
สิ่งที่ควรใส่ใจในการวางแผนถ่ายภาพในช่วงฤดูฝน

สำหรับสิ่งที่ควรให้ความสำคัญในช่วงฤดูฝนนี้ก็คือ การตรวจเช็คสภาพอากาศในแต่ละวัน โดยปกติผมมักดูจากแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันก็มีความแม่นยำพอสมควร ตัวอย่างเช่น กรณีช่วงที่มีการพยากรณ์ว่าช่วงกลางวันฝนจะตก และหลังเวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ท้องฟ้าจะเคลียร์ตลอดทั้งคืน กรณีแบบนี้ก็น่าเสี่ยงออกไปถ่ายภาพครับ แต่หากพยากรณ์บอกว่าฟ้าจะใสแต่ไม่กี่ชั่วโมงแบบนี้ก็อาจไม่คุ้มที่จะออกไปถ่ายสักเท่าไรครับ
แอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือช่วยให้เราสามารถตรวจสอบสภาพอากาศล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี
ปัญหาของสภาพท้องฟ้าฟ้าหลังฝนตก

ปัญหาหลักของการถ่ายภาพฟ้าหลังฝนก็คือ “ความชื้นในอากาศ” ซึ่งถือเป็นสิ่งที่มาคู่กันฟ้าใสก็ต้องทำใจกับความชื้น ปกติความชื้นก็มักสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็ยังสามารถป้องกันความชื้นที่มักทำให้เกิดฝ้าขึ้นหน้ากล้อง ด้วยอุปกรณ์ไล่ฝ้าหน้ากล้อง (ทำเองได้ได้ลิงก์ https://goo.gl/UqPs3f) ซึ่งต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ควรมีติดกระเป๋าไว้อุ่นใจกว่า
ภาพอุปกรณ์ไล่ฝ้าหน้ากล้อง เพื่อป้องกันความชื้นในอากาศ
สร้างโอกาสให้ตัวเอง

สำหรับนักถ่ายดาวผู้หลงใหลการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น เรามักสร้างโอกาสให้กับตัวเองเสมอ เพื่อให้สามารถได้ออกไปเก็บภาพที่เป็นช่วงโอกาสทองของสภาพท้องฟ้าที่เหมาะกับการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าในช่วงฤดูฝนไว้ดังนี้

- วางแผนไว้ล่วงหน้าเสมอ

- หมั่นตรวจสอบสภาพอากาศเป็นประจำ

- สำรวจสถานที่ใหม่ๆ ไว้รอวันฟ้าใสเสมอ

- ตรวจสอบทิศทางที่จะสามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้าที่ต้องการถ่ายภาพไว้ว่าไม่มีแสงเมืองรบกวน

- ขยันในการฝึกฝนทักษะและเทคนนิคการถ่ายภาพ รวมทั้งการสั่งสมประสบการณ์

- การลงทุนกับอุปกรณ์เท่าที่จำเป็น
ภาพถ่ายทางช้างเผือกบริเวณอ่างเก็บน้ำ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไม่ไกลมากนัก ถ่ายในช่วงสภาพท้องฟ้าหลังฝนตก ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 800 / Exposure : 180 sec

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน



กำลังโหลดความคิดเห็น