xs
xsm
sm
md
lg

บนวิถี “บำเพ็ญ” ศรัทธาและเทคโนโลยีโคจรมาพบกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“งานบุญบั้งไฟ” เป็นอีกประเพณีความเชื่อของชาวอีสานในการบูชา “พญาแถน” เทพที่มีหน้าที่ดูแลฝนฟ้าให้ตกต้องตามฤดูกาลตามตำนานนิทานพื้นบ้าน ซึ่งหลังจากประเพณีดึงดูดการท่องเที่ยวมายาวนานหลายปี มาถึงปีนี้ประเพณีท้องถิ่นยังดึงดูดให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างสมดุลระหว่างความเชื่อและวิถีชีวิตยุคใหม่

ทั้งนี้ การปล่อยบั้งไฟนั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายและผลกระทบต่อการคมนาคมทางอากาศ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมานักบินได้พบเห็นบั้งไฟระหว่างทำการบินโดยไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าหลายครั้ง และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคมและบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยได้พยายามหาทางแก้ไขในจุดนี้

วิธีการแก้ปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้านและผู้ที่ต้องการประกอบกิจกรรมการจุดบั้งไฟ ได้เข้าใจถึงการจัดพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังพื้นที่บริเวณโดยรอบสนามบิน และยังประชาสัมพันธ์ถึงขั้นตอนการขออนุญาตการจุดบั้งไฟกับทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนการประกอบกิจกรรมฯ ทุกครั้งด้วย

ล่าสุดสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบบริหารจัดการกิจกรรมบั้งไฟ หรือ แอปพลิเคชันบำเพ็ญ (Bampen) ขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้กับการคมนาคมทางอากาศของประเทศ โดยไม่กระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีอันดีงามของคนไทย

นายภาณุพัฒน์ ห่อมา วิศวกรของจิสด้า เล่าถึงที่มาของการพัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าวว่า จากสถิติเมื่อปี 2560 พบการแจ้งจุดบั้งไฟมากถึง 19,520 บั้ง และมีนักบินพบเห็นบั้งไฟขณะทำการบินจำนวนมากกว่า 50 ครั้ง ทีมพัฒนาซึ่งประจำอยู่ที่ห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการบิน อากาศยานและดาวเทียม จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันบริหารัดการกิจกรรมบั้งไฟนี้ขึ้น

"การทำงานของแอปพลิเคชันบำเพ็ญคือ เมื่อเปิดแอปพลิเคัชนจะพบหน้าต่างให้เลือกระหว่างดูกิจกรรมการปล่อยบั้งไฟหรือเข้าสู่ระบบ หากกดเข้าไปที่หน้ากิจกรรมจะพบกับจุดแสดงพื้นที่ของกิจกรรมปล่อยบั้งไฟ โดยสามารถเลือกดูได้จากกการกดดูกิจกรรมที่ปรากฏอยู่ที่หน้าจอ หรือเลือกกิจกรรมจากวันและสถานทีที่ปรากฎอยู่ที่ที่แถบสไลด์ด้านล่าง"

นายภาณุพัฒน์ อธิบายต่อว่า หากเปิดหน้าต่างเข้าสู่ระบบ จะสามารถเข้าไปดูกิจกรรมที่จัด ส่งคำขอการทำกิจกรรมการจุดบั้งไฟ รวมทั้งติดตามสถานะการให้อนุญาต และแจ้งเตือนสถานะการปล่อย โดยผู้ที่ต้องการเข้าสู่ระบบต้องขอชื่อผู้เข้าใช้ (username) และรหัสผ่าน (password) จากเจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอ โดยเจ้าหน้าที่จะให้ชื่อผู้เข้าใช้และรหัสผ่าน พร้อมทั้งคู่มือการเข้าใช้งานให้แก่ผู้ขอ

"ในหน้าต่างของการส่งคำขอจะมีรายละเอีดที่ต้องกรอกคือ ข้อมูลอุปกรณ์ ข้อมูลสถานที่ รูปภาพอุปกรณ์ และรูปภาพสถานที่ เมื่อกรอกเสร็จก็กดบันทึก ระบบก็จะส่งเข้าไปยังระบบหลังบ้านเพื่อจัดการเรื่องคำขอต่อไป โดยสามารถกดติดตามคำขอได้ที่หน้าต่างการติดตามสถานะ เมื่อคำขอผ่านแล้วผู้ที่ยื่นคำขอต้องทำการปล่อยบั้งไฟ ณ เวลา วันที่ และสถานที่ที่ระบุไว้ในคำขอเท่านั้น" นายภาณุพัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ แอปพลิเคชันบำเพ็ญนั้นได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าในการเชื่อมต่อเรื่องของเอกสารระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยแอปพลิเคชันจะดึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อการพิจารณาทั้งหมด เช่น การรับคำขอใบอนุญาตจากทางภาคประชาชน การรับรองคำขอจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น การวิเคราะห์ความปลอดภัยในการคมนาคมทางอากาศ และพื้นที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ปั๊มน้ำมัน โรงเรียน โรงพยาบาล เพื่อให้ผู้อนุมัติคำขอสามารถพิจารณาได้ง่ายและเร็วขึ้น

"ข้อมูลคำขอต่างๆ ที่ถูกส่งไปยังท่าอากาศยาน และทางการบินพลเรือน จะมีข้อมูลเรื่องพิกัดจุดของฐานยิงบั้งไฟ วันและเวลาของการปล่อยบั้งไฟ ทางวิทยุการบินจึงสามารถนำข้อมูลพิกัดยิงและรัศมีการยิง มาคำนวณเพื่อแนะนำเส้นทางการบิน และลดความอันตรายหรือผลกระทบต่อการคมนาคมทางอากาศ ทั้งด้านทหาร ด้านพลเรือน ด้านการพานิชย์"

ส่วนการพัฒนาแอปพลิเคชันเพิ่มเติมจากนี้ นายภาณุพัฒน์ระบุว่า ต้องขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่ว่าต้องการให้เพิ่มระบบใดเข้าไป เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการใช้งานของผู้ใช้งานมากที่สุด และใช้งานได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน และต่อไปในอนาคตจะนำแอปพลิเคชันนี้ไปประยุกต์ใช้กับโคมลอยและโดรน ถ้าระบบตัวนี้ใช้งานได้ดี กระทรวงคมนาคมก็จะพิจารณานำไปขยายผลตามกรอบเวลาที่เป็นไปได้

“แอปพลิเคชันบำเพ็ญสามารถรองรับการใช้งานใน 2 ภาคส่วน (Dual use) สามารถใช้งานได้ทั้งมิติของความมั่นคงและมิติด้านพลเรือน กล่าวคือมีประโยชน์ต่อทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมการบิน องค์การปกครองที่ทำเรื่องอนุมัติ ชาวบ้านที่ยื่นคำร้อง และประชาชนธรรมดาที่ต้องการมาเยี่ยมชมประเพณีบุญบั้งไฟของภาคอีสาน หลังจากพัฒนาแอปพลิเคชันมาร่วม 6 เดือน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ได้นำแอปพลิเคชันบำเพ็ญลงไปทดลองใช้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัดคือ จ.ศรีสะเกษ และ จ.ยโสธร"

นอกจากนี้ ทีมวิศวกรจิสด้ายังได้พัฒนาต่อยอดเรื่องของเครื่องวัดความสูงของบั้งไฟ เพื่อใช้ดูพฤติกรรมการบิน และความสูงที่บั้งไฟแต่ละลูกสามารถขึ้นไปได้ เนื่องจากในปัจจุบันยังวัดระยะความสูงในการพุ่งขึ้นฟ้าของบั้งไฟด้วยสายตา แต่ความสูงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถวัดด้วยสายตาได้ โดยบางครั้งชาวบ้านบอกว่า 10 กิโลเมตร แต่อาจจะไปไม่ถึงหรืออาจจะสูงเกินนั้น

"ทางทีมพัฒนาจึงอยากทราบว่าจริงๆ แล้วบั้งไฟสามารถขึ้นไปสูงเท่าใดกันแน่ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบให้ทางวิทยุการบิน ในการแนะนำเส้นทางการบิน และรายงานต่อนักบิน เพื่อความปลอดภัยทางด้านการบิน ซึ่งตัวอุปกรณ์ตัวนี้ยังอยู่ในขั้นทดลองและได้นำไปทดลองในงานบั้งไฟ ณ บริเวณสวนสาธารณะพญาแถน อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เป็นครั้งแรก เมื่อ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา”

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Bampen ได้แล้วที่ Play store บนสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ ส่วน App Store ของสมาร์ทโฟนระบบ iOS ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

หน้าต่างกิจกรรม
หน้าต่างยื่นคำขอ
หน้าต่างติดตามคำขอและแจ้งเตือน
นายภาณุพัฒน์ ห่อมา
เครื่องวัดความสูงของบั้งไฟ


กำลังโหลดความคิดเห็น