xs
xsm
sm
md
lg

คอบช.เห็นชอบตั้งเครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุม คอบช. เห็นชอบให้ สกว.จัดตั้งเครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยของทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อน แลกเปลี่ยนข้อมูล และทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ ชี้ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันบริหารจัดการทุนวิจัยไปสู่ผลกระทบ และสร้างแพลทฟอร์มในการร่วมทุนวิจัยระหว่างหน่วยงานในแผนงานขนาดใหญ่

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานการประชุมเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ครั้งที่ 2/2561 เมื่อ 15 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องประชุม สกว. โดยมีวาระสำคัญคือ การเสนอยุทธศาสตร์ สกว. พ.ศ. 2560-2564 และโครงการจัดตั้งเครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยของทุกภาคส่วนของประเทศ

การประชุมดังกล่าวยังรวมถึงการชี้แจงกรอบการวิจัยมุ่งเป้า ประจำปีงบประมาณ 2562 และโครงการวิจัยท้าทาย แผนงานตอบสนองนโยบาย เป้าหมายรัฐบาล และตามระเบียบวาระแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2561 (เพิ่มเติม) เพื่อขับเคลื่อนหนองบัวลำภูโมเดล โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่เสนอมาทั้งหมด

สำหรับยุทธศาสตร์ใหม่ สกว. นั้น ผู้อำนวยการ สกว. ระบุว่าการขอทุนจากนี้ไปจะเน้นที่ผลกระทบสุดท้าย ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย และกระบวนการใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยแผนงานวิจัยที่สำคัญของชุดแผนงานขนาดใหญ่ ได้แก่ งานวิจัยระดับจังหวัด เกษตรกร การท่องเที่ยว เศรษฐกิจฐานราก และเยาวชน ขณะที่โครงการจัดตั้งเครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยของทุกภาคส่วนของประเทศเป็นแนวคิดที่เกิดจากการขาดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล

“แม้จะมีการปฏิรูประบบวิจัยแต่ก็ยังมีสมาชิกจำนวนน้อยมาก ขาดหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยที่สังกัด กรม หรือกระทรวงต่างๆ รวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและกองทุนต่างๆ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการสนับสนุนทุนวิจัย ขาดความเป็นเอกภาพของระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ”

ดังนั้น ศ.นพ.สุทธิพันธ์ ระบุว่า สกว.ในฐานะองค์กรสนับสนุนทุนวิจัยที่มีประสบการณ์ยาวนาน ดูแลงบประมาณจำนวนมาก อีกทั้งมีเครือข่ายนักวิจัยครอบคลุมแทบทุกมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของประเทศ จึงควรเป็นแกนกลางในการประสานงาน เพื่อให้เกิดการรวมตัวของเครือข่ายหน่วยงานจัดสรรทุนวิจัยของประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลตลอดจนการทำงานร่วมกันอย่างมีทิศทางและมีเอกภาพต่อไป

“จากนี้ไปจะต้องรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ชักชวนร่วมเป็นเครือข่ายฯ จัดตั้งคณะทำงานหลักเพื่อกำหนดภารกิจและกรอบความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการ คือ นำไปสู่การปฏิรูประบบจัดสรรทุนวิจัยและบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศ โดยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในระบบการจัดสรรงบประมาณวิจัย ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด และลดความซ้ำซ้อนในการสนับสนุนทุนวิจัยของประเทศ” รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯกล่าว

ขณะที่ผู้อำนวยการ สกว. เสริมว่าในเบื้องต้นจะต้องเชิญหน่วยงานวิจัยและภาครัฐเข้าร่วมจัดตั้งเครือข่ายก่อน จากนั้นจะเชิญภาคเอกชนและมูลนิธิต่าง ๆ ที่มีงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาจำนวนมากเข้าร่วมเป็นลำดับต่อไป

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า สมาร์ทซิตี้น่าจะเป็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่ประยุกต์ใช้งานวิจัยและพัฒนา แต่เรายังมีข้อจำกัดในส่วนของผู้ร่วมพัฒนา เบื้องหลังของการนำนวัตกรรมมาขายจะต้องมีผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องการยุทธศาสตร์ร่วมระหว่างประเทศท่ามกลางอิทธิพลของประเทศจีน ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดสมดุลโดยเฉพาะในเชิงเทคโนโลยี รวมถึงประเด็นด้านกฎหมายทั้งการแก้ปัญหาคอขวดและกฎกติกาสำหรับประเด็นใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ

“เศรษฐกิจการค้าในยุคต่อไปจะมีแพลทฟอร์มใหม่และผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญ ตลอดจนหาเป้าหมายที่ประเทศไทยจะต้องไปให้ถึง เช่น วิทยาศาสตร์สุขภาพ ชีวเภสัชภัณฑ์ และดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งผู้อำนวยการ สกว. เห็นด้วยว่าประเทศจีนมีอิทธิพลสูงต่อไทย สิ่งที่น่ากลัวจากข้อค้นพบในงานวิจัยของ สกว. คือ การเข้ามาศึกษาและทำงานในประเทศไทย ความรุนแรงในการไหลบ่าของเทคโนโลยีจากจีน เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง ดังนั้นเราจะต้องเรียนรู้ร่วมกันในการบริหารจัดการทุนวิจัยไปสู่ผลกระทบ ต่อสู้ปัญหาร่วมกัน และอาจจะต้องสร้างแพลทฟอร์มในการ่วมทุนวิจัยระหว่างหน่วยงานในแผนงานขนาดใหญ่” ดร.กิติพงค์กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น