ฝนลงหนักไร้การบอกกล่าวเป็นเรื่องปกติสำหรับสภาพอากาศในฤดูร้อนของจังหวัดบ้านเกิด ความอับอบชื้นที่ตามมาหลังจากนั้นก็เช่นเดียวกัน ถึงอย่างนั้นแสงสีทองของอาทิตย์อัสดงลับหลังก้อนเมฆที่ลอดผ่านหน้าต่างเข้ามาก็นำพาให้ผมต้องเดินออกมาเพื่อชมด้วยตาตัวเองด้านนอกตัวบ้าน นกแอ่นกินรังตัวน้อยเพรียวบางบินฉวัดเฉวียนอยู่กลางอากาศ นกเอี้ยงสาริการ้องลั่นแข่งกันกับนกเอี้ยงหงอนร้องบนยอดต้นทุเรียนฝั่งตรงข้ามถนนแทรกด้วยเสียงนกกระปูดใหญ่เป็นระยะจากชายขอบของสวน นกแซงแซวหงอนขนบินกวดไล่กันเลียดยอดต้นมังคุด แสงสีบนก้อนเมฆเริ่มเลือนราง ความระอุร้อนเริ่มคลายลงพร้อมกับแสงอาทิตย์ลาลับ ท้องฟ้าสีคล้ำไม่เหลือนกบินโฉบไปมาแล้ว เสียงร้องของนกที่เคยดังชัดเริ่มซาเบาและจางหายไป ธรรมชาติโดยรอบยามเย็นเป็นที่รื่นรมย์เหลือใจ กระทั่งภูเขาที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแฝงตัวหายเข้าไปในความมืดบอกผมว่าได้เวลากลับเข้าบ้านแล้ว
เสียงเคาะประตูดังขึ้นระหว่างกำลั่งนั่งปั่นงานชิ้นสำคัญหน้าจอและแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์
“งูน่ะ ไปดูให้หน่อย” เสียงเอ่ยดังลอดประตูเข้ามาไม่ทันถึงปลายประโยค ผมผุดพุ่งตัวลุกขึ้นแล้วตั้งแต่ได้ยินคำว่า งู พร้อมคำถาม “ตรงไหนน่ะครับ พาไปหน่อย” “หน้าบ้านน่ะ” เสียงตอบกลับพ่วงท่าทางชี้มือ ครั้นไปถึงแสงไฟหน้าบ้านค่อนข้างสลัวเกินกว่าระบุถึงรายละเอียด แต่เมื่อเพ่งมองก็พอดูออกว่าสิ่งมีชีวิตตัวนั้นคืองูอย่างไม่ต้องสงสัย “แล้วมันเป็นงูชนิดไหนล่ะ?” คำถามวิ่งเข้ามาในความคิด
ลักษณะการวางพาดส่วนหัวอยู่บนลำตัวที่ม้วนขดเป็นวงทำให้พอจะทำนายเดาได้อยู่ในใจ เมื่อแสงจากไฟฉายกระทบเห็นแถบคาดสีขาวขนาดใหญ่ลากผ่านจากปลายแหลมของจมูกยาวไปถึงด้านหลังของส่วนหัวรูปทรงสามเหลี่ยม ทรงลำตัวคล้ายสามเหลี่ยม อีกทั้งลายสามเหลี่ยมสีคล้ำบริเวณด้านหลังเด่นชัด ไม่น่าจะผิดไปจากคิดไว้
“งูกะปะ”
งูในกลุ่มงูพิษที่สามารถพับเก็บเขี้ยวพิษได้เช่นเดียวกับกลุ่มงูเขียวหางไหม้ที่คนทั่วไปรู้จักกันดี แตกต่างตรงเกล็ดบริเวณส่วนหัวของงูกะปะมีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่กว่า มีพิษซึ่งส่งผลต่อเนื้อเยื่อและระบบหมุนเวียนโลหิตที่รุนแรงกว่า และการวางไข่ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มงูเขียวหางไหม้ที่ออกลูกเป็นตัว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของงูในกลุ่มนี้คืออวัยวะที่เรียกว่า pit organ เป็นช่องขนาดใหญ่อยู่ระหว่างช่องเปิดรูจมูกกับดวงตา ภายในช่องมีเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่สามารถตรวจจับพลังงานคลื่นไฟฟ้าช่วงอินฟราเรดที่ส่งออกมาจากสิ่งมีชีวิต กะปะและงูในกลุ่มเดียวกันจึงสามารถตรวจจับเหยื่อได้แม้ในที่ที่ไม่มีแสง
“อาจจะเพราะพื้นเย็นจากน้ำฝนขัง เจ้าตัวนี้เลยมานอนอังเอาความร้อนจากพื้นปูนตรงหน้าบ้านล่ะมั้งครับ” ผมเอ่ยตอบคำถามตามความคิดของตัวเองว่าทำไมเจ้างูกะปะต้องมาอยู่ที่ตรงนั้น
ขณะที่ผมกำลังใช้อุปกรณ์จับงูเกี่ยวงูกะปะตัวนั้นเข้ากล่องที่มีฝาปิดมิดชิด “นี่ครั้งที่สองแล้ว ครั้งที่แล้วก็น่าจะเป็นชนิดเดียวกันนี่แหล่ะ ดูเหมือนๆ กัน แต่ตัวนี้ใหญ่กว่าเยอะ” คำบอกเล่าสถานการณ์เมื่อสองสามเดือนก่อนหน้าดังขึ้น ครั้งนั้นตัวผมเองไม่สามารถเดินทางมาจัดการดูแลเรื่องให้เรียบร้อยตามความต้องการได้จากหน้าที่ภาระ แม้จะค่อนข้างโล่งใจเมื่อทราบว่าไม่มีใครได้รับอันตรายจากการถูกฉกกัด แต่งูกะปะตัวนั้นที่หนีความตายไม่พ้นก็สร้างความสลดใจให้มากพอดู อย่างน้อยก็สำหรับผม
“โชคดีนะที่ได้มาเจอกัน ไม่อย่างนั้นคง...” ผมแอบคิดอยู่ในใจระหว่างนำกล่องไปวางไว้ในตำแหน่งที่ปลอดภัยต่อทั้งคนและงู
“จะดีกว่านี้ไหมถ้างูไม่ต้องตายเมื่อถูกคนเจอ” คำรำพันพึงดังเงียบๆ อยู่ในความคิด
เกี่ยวกับผู้เขียน
จองื้อที
แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ
"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"
พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน