xs
xsm
sm
md
lg

ทบทวนวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้องเมื่อถูก “งูพิษ” กัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อถูกงูกัดให้พิจารณารอยกัดว่าเป็นของงูพิษหรืองูไม่มีพิษ
แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสพบเจองูพิษ หรือบางครั้งเราอาจมีโอกาสเดินทางไปเผชิญกับงูพิษ เพราะประเทศไทยนั้นมีงูพิษหลักๆ ถึง 7 ชนิด ดังนั้น ความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ความรู้เก่าๆ ที่ส่งต่อกันมาบางครั้งอาจส่งผลเสียร้ายแรงมากกว่าช่วยบรรเทาอาการ

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้แวะไปเยี่ยมชม “นิทรรศการโลกแห่งอสรพิษ” ที่จัดขึ้นโดยอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ (TK park) ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเร็วๆ นี้ และได้ทำความรู้จักงูสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ ทั้งงูสายพันธุ์ไทยและงูสายพันธุ์ต่างประเทศ เช่น งูเห่า งูแสงอาทิตย์ งูหลามบอลไพธอน ฯลฯ

อีกทั้งยังได้ร่วมสังเกตฐานกิจกรรมให้ความรู้ต่างๆ ทางด้านวิวัฒนาการและกายวิภาคของงู วิธีการการเอาตัวรอดจากงูพิษ และงูกับวัฒนธรรมและความเชื่อของมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีฐานกิจกรรมอื่นๆ อย่างการพับโอริกามิงู และการทำว่าวงูจิ๋ว เพื่อเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้ร่วมงาน

ที่น่าสนใจคือวิธีการปฐมพยาบาลงูพิษกัด ซึ่งแม้จะมีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปฐมพยาบาลแบบใหม่กันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังพบเห็นวิธีปฐมพยาบาลผิดๆ กันอยู่ ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงขอทบทวนวิธีการพยาบาลที่ถูกต้อง เพื่อเป็นความรู้ติดตัวในยามฉุกเฉิน

งูเป็นสัตว์ที่ไม่มีรูหูจึงไม่สามารถได้ยินเสียงเราได้ แต่สามารถรับรู้การเคลื่อนไหวได้จากแรงสั่นสะเทือนจากพื้นดินหรือมวลน้ำที่ตัวงูสัมผัสอยู่ เมื่อเจองูเราสามารถหยิบโทรศัพท์ออกมาโทรขอความช่วยเหลือหรือตะโกนของความช่วยเหลือได้ แต่เราห้ามวิ่งเด็ดขาด ในกรณีที่พิจารณาแล้วว่ารอบข้างไม่มีใครสามารถเข้ามาช่วยเราได้ ให้เราค่อยๆ ก้าวถอยหลังช้าๆ และเบาที่สุด ถอยจนกระทั้งมั่นใจว่าระยะของเรากับงูนั้นห่างกันประมาณช่วงลำตัวของงูตัวนั้นแล้วค่อยหนีไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนในกรณีที่เราโดนกัดไปแล้วก็อย่าตื่นตกใจ เพราะงูที่กัดเราอาจจะไม่ใช่งูพิษ ให้ดูที่แผลที่ถูกกัด ถ้าเป็นงูพิษรอยกัดจะมีลักษณะเหมือนเข็มตำ ในขณะที่แผลจากงูที่ไม่มีพิษจะมีลักษณะของรอยฟัน หลังจากนั้นให้เรารีบล้างบริเวณที่ถูกกัดให้สะอาด ห้ามดูดแผล ห้ามกรีดแผลหรือห้าใช้สมุนไพรพอกบริเวณที่เป็นแผลเป็นอันขาด เพราะจะเกิดการติดเชื้อได้

เมื่อล้างแผลเสร็จแล้วให้ดามอวัยวะที่ถูกงูกัดด้วยแผ่นไม้หรือวัสดุที่แข็ง แล้วใช้ผ้าพันทับอีกครั้งเพื่อให้อวัยวะส่วนนั้นเคลื่อนไหวน้อยที่สุด ซึ่งเป็นการชะลอการแพร่กระจายของพิษงูไปตามกระแสเลือด และไม่ควรขันชะเนาะเนื่องจากจะทำให้เลือดบริเวณนั้นไม่ไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะนั้นๆ จากนั้นให้ รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุด เมื่อไปถึงให้แจ้งแพทย์ให้ทราบถึงลักษณะของงู ถ้าเป็นไปได้ก็ให้ถ่ายภาพงูที่กัดไว้ด้วย



เมื่อทราบวิธีปฐมพยาบาลแล้ว ก็มาทำความรู้จักงูพิษชนิดต่างๆ กัน ถ้าค่ายการ์ตูนเจ้าหญิงค่ายดังอย่างดิสนีย์มีสโนไวท์กับคนแคระทั้ง 7 ประเทศไทยก็มี “งูพิษทั้ง 7” ถึงแม้งูสัญชาติไทยจะไม่ได้เข้าชิงตำแหน่งงูที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก แต่ประเทศไทยก็มีงูที่มีพิษอยู่ด้วยกันหลักๆ ถึง 7 สายพันธุ์

เริ่มที่สมาชิกตัวแรกของบ้านอสรพิษ คือ งูจงอาง (King Cobra) งูพิษขนาดใหญ่ ที่มีขนาดตัว 200 – 540 เซ็นติเมตร ลำตัวสีน้ำตาล น้ำตาลอมเทาหรือสีดำ สามารถแผ่แม่เบี้ยและยกตัวได้สูงถึง 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว ลักษณะเด่นคือมีเกล็ดท้ายทอยขนาดใหญ่ 1 คู่อยู่ทางด้านหลังของเกล็ดกระหม่อม เป็นงูที่มีพิษร้ายแรง มีปริมาณน้ำพิษมากและเป็นงูที่กินงูด้วยกันเอง

งูเห่าไทยหรืองูเห่าหม้อ (Monocellate cobra) เป็นงูที่มีความยาว 100 – 180 เซ็นติเมตร ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม สีดำหรือสีเหลืองนวล เมื่อถูกรบกวนมักจะชูหัวขึ้นแผ่แม่เบี้ยและขู่ดังฟ่อ ลักษณะเด่นคือ ลายดอกจันรูปวงแหวนเดี่ยวตรงกลางแม่เบี้ย ทางด้านหลังบริเวณคอ ซึ่งงูเห่าแต่ละตัวจะมีลายดอกจันที่ไม่เหมือนกัน งูเห่าเป็นงูที่พบได้ทั่วไปทั่วประเทศ

งูสามเหลี่ยม หรือ งูทับทางเหลือง (Banded krait, Yellow banded krait) เป็นงูพิษที่พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย รวมไปถึงประเทศไทย ลำตัวยาวขนาด 100-180 เซ็นติเมตร ลำตัวมีสีดำสลับเหลืองเป็นปล้องขนาดใกล้เคียงตลอดทั้งตัวส่วนบนและส่วนท้อง โดยส่วนท้องมีสีที่จางกว่า ลักษณะเด่นคือ แนวของกระดูกสันหลังยกตัวสูงเด่น ทำให้เป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน ปลายหางทู่มน

งูแมวเซา (Siamese Russell’s viper) ลำตัวยาว 90 -150 ซม. สีน้ำตาลอ่อน มีลายเป็นวงสีน้ำตาลเข้ม ขอบด้านในสีดำ และขอบด้านนอกสีขาวกระจายอยู่ทั่วตัว ส่วนหัวเป็นรูปสามเหลี่ยมปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กมีสัน ลวดลายบนหัวคล้ายลูกศร เมื่อถูกคุกคามจะขดตัวเป็นวง ทำเสียงขู่พร้อมทำตัวพองและสามารถฉกกัดได้อย่างรวดเร็ว

งูกะปะ (Malayan pit viper) ขนาดลำตัวยาว 50 -100 ซม. สีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลเทา มีลายรูปสามเหลี่ยมสีน้ำตาลเข้มขอบขาวเรียงเป็นแถวอยู่ทั้งสองข้างของเส้นสีน้ำตาล ซึ่งพาดผ่านแนวกระดูกสันหลัง ส่วนหัวสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีขาวนวลพาดจากปลายจมูกผ่านขอบบนของลูกตาไปยังมุมขากรรไกรบน ปลายจมูกแหลมเชิดขึ้น งูแรกเกิดมีปลายหางสีขาว

งูเขียวหางไหม้ (Green pit viper) ความยาว 60 – 70 ซม. ลำตัวค่อยข้างเพรียว เขียวแก่หรือสีเขียวอมฟ้า ส่วนท้องมักจะมีสีเขียวอมฟ้า โดยเฉพาะบริเวณริมผีปากล่างและคาง ส่วนหัวรูปทรงเป็นสามเหลี่ยมค่อนข้างอ้วนป้อม ขนาดใหญ่กว่าลำคอชัดเจน หางสีแดงจนถึงน้ำตาลเข้ม จัดเป็นงูพิษชนิดไม่รุนแรง

สุดท้ายคืองูทะเล (Black banded sea snake) เป็นกลุ่มงูที่อาศัยอยู่ในทะเลกินปลาเป็นอาหาร งูทะเลส่วนใหญ่เป็นงูทะเลชนิดที่มีพิษ งูทะเลที่พบมากในประเทศไทยคือ งูสมิงทะเลปากดำซึ่งเป็นงูทะเลที่มีพิษร้ายแรงมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพกไว้เสมอเมื่อเผชิญหน้ากับงูพิษนั่นคือสติ และทบทวนวิธีเอาตัวรอดอย่างที่ได้นำเสนอไปแล้ว และเมื่อเจองูเราต้องท่องไว้ในใจเลยว่า "รักษาตัวรอดเป็นยอดดี"
เมื่องูพิษกัด ให้ล้างแผลแล้วดามอวัยวะที่ถูกงูกัดด้วยแผ่นไม้หรือวัสดุที่แข็ง จากนั้นใช้ผ้าพันทับอีกครั้งเพื่อให้อวัยวะส่วนนั้นเคลื่อนไหวน้อยที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น