xs
xsm
sm
md
lg

ศาสตร์ของการค้นหาดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพจำลองปฏิบัติการของกล้องโทรทรรศน์เทสในอวกาศ ซึ่งจะค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบ (HANDOUT / NASA / AFP)
นับตั้งแต่ปี 1995 ที่ Michael Mayor และ Didier Queloz แห่งหอดูดาวที่มหาวิทยาลัย Geneva ในสวิสเซอร์แลนด์ได้เห็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่อยู่นอกระบบสุริยะ (exoplanet) องค์การดาราศาสตร์ทั่วโลกได้วางแผนใช้กล้องโทรทรรศน์ค้นหาดาวที่เป็นคู่แฝดของโลก คือมีสิ่งมีชีวิต เช่น NASA ได้ดำริโครงการ Terrestrial Planet Finder และองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) ก็มีโครงการ Darwin ที่จะส่งชุดกล้องโทรทรรศน์ไปโคจรในอวกาศ โดยให้ทำงานประสานกัน เพื่อถ่ายภาพของดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิต แต่โครงการทั้งสองก็ถูกล้มเลิกไป เพราะไม่มีใครรู้ว่า ดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิต และอยู่ห่างจากโลกหลายปีแสงนั้น ภาพที่เห็นควรจะเป็นอย่างไร มีข้อมูลอะไรบ้างให้นักดาราศาสตร์รู้อย่างมั่นใจว่าบนดาวดวงนั้นมีทะเล ทวีป บรรยากาศ พืชและสัตว์ เพราะแม้แต่ดาวอังคาร ดวงจันทร์ Europa ของดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ Enceladus ของดาวเสาร์ที่อยู่ “ใกล้” แค่นี้เอง ก็ยังไม่มีใครรู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตหรือไม่

ในเวลาต่อมา NASA จึงส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Kepler ขึ้นโคจรรอบโลกเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.2009 เพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และกล้องได้ยืนยันการเห็นดาวเคราะห์กว่า 3,500 ดวงแล้ว โดยประมาณ 30 ดวงมีขนาดใกล้เคียงกับโลก และมีน้ำ แต่ภาพของดาวเคราะห์เหล่านี้ให้เฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับขนาด มวล และลักษณะวงโคจรของมันเท่านั้นเอง หาได้บอกสภาพความเป็นไปของเหตุการณ์บนดาวไม่ ซึ่งถ้าจะรู้นักดาราศาสตร์จะต้องมีข้อมูลศึกษา spectra ของแสงจากดาวเคราะห์ที่มาสู่โลก หรือแสงจากดาวฤกษ์ที่สะท้อนที่ผิวดาวเคราะห์ ซึ่งจะมีความยาวคลื่นต่างๆ กัน ว่าบนดาวเคราะห์นั่นมีธาตุหรือสารประกอบใดบ้าง

กล้องโทรทรรศน์ส่วนใหญ่ที่มีในปัจจุบันไม่สามารถจำแนกแสงจากดาวเคราะห์ออกจากแสงจากดาวฤกษ์ได้ เพราะความเข้มของแสงจากดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ดาวเคราะห์มีค่ามากกว่าแสงจากดาวเคราะห์เป็นล้านเท่า แม้จะไม่สามารถถ่ายภาพดาวเคราะห์ได้ แต่นักดาราศาสตร์ก็สามารถรับแสงจากมันได้ เวลาดาวเคราะห์ดวงนั้นโคจรตัดหน้าดาวฤกษ์ (transit) ซึ่งทำให้บรรยากาศที่มีบนดาวเคราะห์ดูดกลืนแสงจากดาวฤกษ์บางความยาวคลื่นไป ทำให้เกิดเส้นสเปกตรัมสีดำ ที่สามารถบอกชนิดของธาตุหรือสารประกอบในบรรยากาศของดาวเคราะห์ได้

หรือนักดาราศาสตร์อาจใช้วิธีเปรียบเทียบสเปกตรัมของแสง จากดาวเคราะห์ขณะอยู่หน้าและหลังดาวฤกษ์ เพราะในกรณีแรกแสงที่โลกได้รับจะมาจากทั้งดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ แต่เวลาดาวเคราะห์ถูกดาวฤกษ์บดบัง แสงที่ได้จะมาจากดาวฤกษ์เพียงดวงเดียว ดังนั้น การเห็นความแตกต่างของแสงจะทำให้รู้ชนิดของธาตุที่มีบนดาวเคราะห์ได้เช่นกัน

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแสงจากดาวเคราะห์เป็นเพียงเศษเสี้ยวนิดเดียวของแสงจากดาวฤกษ์ และแสงนี้เมื่อมาถึงโลกหลายส่วนจะถูกบรรยากาศของโลกดูดกลืนไป ทำให้ข้อมูลที่ได้รับ แทบไม่เหลืออะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้วิเคราะห์ นักดาราศาสตร์จึงต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เช่น Hubble และ Spitzer เป็นหลักในการวิเคราะห์บรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และได้พบธาตุโซเดียม และสารประกอบเช่น น้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนออกไซด์ และมีเทนบนดาวเคราะห์หลายดวง

ในปี 2019 ที่จะถึงนี้ เมื่อ NASA ส่งกล้องโทรทรรน์อวกาศ James Webb Space Telescope (JWST) ขึ้นไปโคจรรอบโลก กระจกของกล้องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 6.5 เมตร จะสามารถแยกแสงที่มาจากดาวเคราะห์ออกจากแสงที่มาจากดาวฤกษ์ได้ดีกว่ากล้องโทรทรรศน์ใดๆ ในอดีต ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าบรรยากาศบนดาวเคราะห์ดวงนั้นมีโมเลกุลของน้ำ methane, CO และ CO2 หรือไม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่จะบอกได้ว่า บนดาวดวงนั้นมีสิ่งมีชีวิตชั้นสูงหรือไม่ คือ ออกซิเจน

โลกของเรา มีสิ่งมีชีวิต เพราะพืชใช้กระบวนการสังเคราะห์อาหารด้วยแสง (photosynthesis) ในการสร้างออกซิเจนให้มีในบรรยากาศ และตลอดเวลาหลายพันล้านปีตั้งแต่โลกถือกำเนิด ตัวแบคทีเรียดึกดำบรรพ์ (cyanobacteria) ในมหาสมุทรและจุลินทรีย์อื่นๆ ได้ปล่อยออกซิเจนออกมาจนทำให้บรรยากาศโลกปัจจุบันมีออกซิเจนประมาณ21% ซึ่งนับว่ามากจนมนุษย์ต่างดาวสามารถจะเห็นได้จากที่ไกล ดังนั้นถ้าต่างดาวจะมีสิ่งมีชีวิตเหมือนโลก นักชีววิทยาหลายคนคิดว่า บรรยากาศของดาวจะต้องมีออกซิเจน

แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะดาวเคราะห์ที่ยังไม่มีสิ่งมีชีวิต อาจมีออกซิเจนในบรรยากาศ และดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตอาจไม่ปล่อยแก๊สออกซิเจนออกมาก็ได้ ดังเช่น โลกเมื่อ 2,000 ล้านปีก่อน จุลินทรีย์บนโลกก็ยังไม่ได้ผลิตออกซิเจน แต่ในเวลาต่อมาโลกก็มีสิ่งมีชีวิต

ดังนั้นเพื่อศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ต่างๆ นักชีวดาราศาสตร์จึงสนใจการทดลองสร้างดาวเคราะห์เสมือน (Virtual Planet Laboratory VPL) โดยสมมติให้มีแก๊สชนิดต่างๆ ในบรรยากาศบนดาวเคราะห์ แล้วให้แสงที่มีความยาวคลื่นต่างๆจากดาวฤกษ์ผ่านเข้าทำปฏิกริยาเคมีกับแก๊สเหล่านั้น เพื่อดูว่าจะมีสารประกอบอะไรเกิดขึ้นบ้าง และพบว่า ดาวเคราะห์ที่มีน้ำ เวลาได้รับความร้อนจากดาวฤกษ์ในปริมาณมากน้ำจะเดือด กลายเป็นไอ และถ้าไอน้ำได้รับแสง ultraviolet ที่มีความเข้มสูง ไอน้ำก็จะแยกตัวเป็น hydrogen กับ oxygen แล้วไฮโดรเจนที่มีมวลค่อนข้างน้อยจะหนีหายไปในอวกาศ ทิ้งออกซิเจนที่มีมวลมากกว่าให้เหลืออยู่ในบรรยากาศในปริมาณมาก และในเวลาเดียวกันดาวดวงนั้นก็ยังไม่มีสิ่งมีชีวิต

แต่ถ้ามีการพบสารประกอบ methane กับออกซิเจนอยู่ด้วยกันบนดาวเคราะห์ โอกาสการพบสิ่งมีชีวิตจะมีมาก ถึงกระนั้นกระบวนการสร้างแก๊ส methane เพียงอย่างเดียวก็ไม่จำเป็นว่าต้องมาจากสิ่งมีชีวิต เพราะแก๊สอาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาก็ได้ ตามปกติ methane กับ oxygen เป็นโมเลกุลที่สามารถทำปฏิกิริยาเคมีโดยการแลกเปลี่ยนอิเล็กตรอนกัน ซึ่งจะทำให้เกิด carbon dioxide กับน้ำ

กระนั้นนักวิทยาศาสตร์บางคนก็คิดว่า การให้ความสนใจเฉพาะ oxygen กับ methane เท่านั้นเป็นการจำกัดความสามารถของสิ่งมีชีวิตในวงแคบ เพราะบนโลกได้มีการพบสิ่งมีชีวิตในน้ำที่ร้อนมาก และที่เย็นสุดๆ ดังนั้นการค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวจึงต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่ร้อนจัดและเย็นจัดด้วย และนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ถ้ามี carbon, nitrogen, oxygen, phosphorus, sulfur กับ hydrogen ทั้ง 6 ธาตุ สิ่งมีชีวิตบนโลกสามารถผลิตสารประกอบต่างๆ โดยใช้ธาตุเหล่านี้ได้ประมาณ 600 ชนิด

ในกรณีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีขนาดเล็ก และมีบรรยากาศไม่หนาทึบมาก กล้อง JWST อาจตรวจพบสิ่งมีชีวิตได้ ถ้าดาวเคราะห์ดวงนั้นมีการโคจรรอบดาวแคระแดง (red dwarf) ที่มีอุณหภูมิไม่สูงมากและถ้ามันโคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ กล้องก็สามารถถ่ายภาพของดาวเคราะห์ได้ ในกรณีที่ดาวเคราะห์โคจรอยู่ไกลจากดาวฤกษ์มาก และถ้าใช้กล้องโทรทรรศน์ Wide Field Infrared Survey Telescope (WFIRST) ที่ NASA จะส่งขึ้นอวกาศประมาณปี 2025 โดยให้กล้องทำงานร่วมกับอุปกรณ์ starshade ที่จะทำหน้าที่เป็นร่มบดบังแสงจากดาวฤกษ์ โดยที่ Starshade อยู่ห่างจากกล้อง WFIRST ประมาณ 50,000 กิโลเมตร

การค้นหาดาวเคราะห์โดยใช้เทคนิคถ่ายภาพดาวเคราะห์โดยตรงนี้ ดีกว่าเทคนิคการให้ดาวเคราะห์โคจรตัดหน้าดาวฤกษ์ เพราะถ้าดาวเคราะห์นั้นมีพืชชั้นต่ำ หรือจุลินทรีย์ที่ผิวดาว แสงที่สะท้อนจากผิวดาวจะบอกได้ว่า มีสิ่งมีชีวิตบนดาวหรือไม่ เพราะพืชจะดูดกลืนแสงที่มีความยาวคลื่นน้อยกว่า 720 นาโนเมตรไป ส่วนแสงที่มีความยาวคลื่นมากกว่า พืชจะสะท้อนมากถึง 50% แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีเหตุผลว่า ชีวิตต่างดาวต้องเป็นพืชสีเขียวเสมอไป

กล้องโทรทรรศน์ที่โลกจะมีในทศวรรษหน้า ยังไม่มีกล้องใดสามารถถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้โดยตรง

แต่ NASA ก็ยังมีอีกโครงการหนึ่งชื่อ Habitable Exoplanet Imaging Mission (HabEx) ที่สามารถรับแสงได้หลายความยาวคลื่น ตั้งแต่ ultraviolet (UV) ถึง infrared (IR) และมีร่มกาง (starshade) ที่ทำหน้าที่บดบังแสงจากดาวฤกษ์ ขณะถ่ายภาพด้วย

ณ วันนี้เทคโนโลยีการค้นหาดาวเคราะห์คล้ายโลกที่อยู่นอกระบบสุริยะได้รุดหน้าไปมาก จนทำให้การค้นหาดาวเคราะห์คล้ายโลก ที่มีมวลใกล้เคียงกับโลก มีขนาดระดับเดียวกัน มีวงโคจรรอบดาวฤกษ์ที่เหมือนดวงอาทิตย์ โดยใช้เวลาในการโคจรครบรอบนานประมาณ 1 ปีเท่าโลก กำลังเป็นปัญหาดาราศาสตร์ที่น่าสนใจมากที่สุด เพราะนักดาราศาสตร์ได้ประจักษ์แล้วว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Kepler วัดได้เฉพาะขนาด (รัศมี) ของดาวเคราะห์ แต่วัดมวลไม่ได้ ดังนั้น การวัดความหนาแน่นของดาวเคราะห์ หรือการมีบรรยากาศของดาวเคราะห์ก็ยังไม่สามารถจะรู้ได้ นักดาราศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วยในการค้นหาเพิ่มเติม เช่น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปีกลายนี้ กล้องโทรทรรศน์ Discovery Channel ใน Arizona ของอเมริกาได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ spectrometer เพื่อวิเคราะห์แสงด้วยความแม่นยำสูง Extreme Precision หรือ EXPRESS และก่อนนั้นคือเมื่อเดือนตุลาคมที่กล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope ที่ Chile ก็มีการติดตั้งอุปกรณ์ spectrometer แบบ Echelle Spectroscopy for Rocky Exoplanet เพื่อวิเคราะห์แสงจากดาวเคราะห์คล้ายโลกที่มีผิวเป็นหินแข็ง

อุปกรณ์ spectrograph ที่มีปริซึม และ grating เป็นองค์ประกอบสามารถกระจายแสงตามความยาวคลื่นเป็นแถบ spectrum โดยในแสงแต่ละแถบ อาจมีเส้นสเปกตรัมสีดำปรากฏอยู่ (เรียก Fraunhoffer line) ซึ่งเกิดจากแก๊สที่อยู่ในบรรยากาศเหนือดาวเคราะห์ได้ดูดซับแสงจากดาวฤกษ์ไป

ดังนั้นถ้าดาวฤกษ์มีดาวเคราะห์โคจรไปรอบๆ อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงที่ดาวเคราะห์กระทำต่อดาวฤกษ์ จะทำให้ความเร็วของดาวฤกษ์เปลี่ยนแปลง (แม้จะน้อยนิดระดับ 6 เมตร/วินาที อุปกรณ์ก็สามารถวัดได้) ความยาวคลื่นของแสงจากดาวฤกษ์จึงเปลี่ยนแปลง และมีผลทำให้ความยาวคลื่นของสเปกตรัมเส้นมืดก็เปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น การสังเกตดูความยาวคลื่นของเส้นมืดที่เปลี่ยนนี้สามารถบอกได้ว่า ดาวฤกษ์ดวงนั้นมีดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบๆ หรือไม่

แต่เทคนิคนี้จะให้ผลดีที่สุด ถ้าดาวเคราะห์มีมวลค่อนข้างมาก และโคจรใกล้ดาวฤกษ์ ซึ่งจะทำให้แรงโน้มถ่วงระหว่างดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์มีค่ามาก และความยาวคลื่นที่เปลี่ยนแปลงปรากฏชัด ส่วนดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็ก และโคจรอยู่ไกลจากฤกษ์ นักดาราศาสตร์จะเห็นการเปลี่ยนแปลงความยาวคลื่นได้ไม่ชัด จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใหม่แบบ High Accuracy Radial Velocity Planet Searcher (HARPS) ซึ่งขณะนี้ถูกติดตั้งอยู่ที่หอดูดาว La Sella Observatory ใน Chile

ตลอดเวลา 10 ปีผ่านมานี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Kepler ได้ใช้วิธีวัดความเข้มแสงจากดาวฤกษ์ที่ลดลง เวลาถูกดาวเคราะห์โคจรตัดหน้าได้ประมาณ 145,000 ดวงแล้ว และได้เห็นดาวเคราะห์ Gliese 581g ในกลุ่มดาว Libra ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 20 ปีแสง กำลังโคจรอบดาวฤกษ์ Gliese 581 ที่เป็นดาวแคระแดง (red dwarf) อันเป็นดาวฤกษ์ขนาดเล็กที่ให้แสงในปริมาณน้อย เพราะปฏิกิริยา fusion บนดาวฤกษ์ชนิดนี้เกิดในอัตราค่อนข้างช้า

ดาวเคราะห์ดวงนี้มีอุณหภูมิ 64 องศาเซลเซียส บนด้านสว่าง และมีอุณหภูมิที่ -50 องศาเซลเซียสบนด้านมืด ส่วน Gliese 581c ก็เป็นดาวเคราะห์อีกดวงที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 0-40 องศาเซลเซียส และเนื้อดาวเป็นหินแข็ง แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังไม่มั่นใจว่า ดาวนี้มีน้ำและบรรยากาศหรือไม่

เมื่อเร็วๆ นี้ NASA ได้ส่งดาวเทียมชื่อ Transiting Exoplanet Surveying Satellite (TESS) ขึ้นอวกาศ และสมาพันธ์อวกาศแห่งยุโรป (ESA) ก็กำลังจะส่งดาวเทียม Characterising Exoplanets Satellite (CHEOPS) ขึ้นอวกาศเช่นกัน เพื่อช่วยกล้องโทรทรรศน์บนดินวัดมวลของดาวเคราะห์ที่เห็น เพราะมวลเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญที่จะบอกได้ว่าแรงโน้มถ่วงบนดาวเคราะห์สามารถทำให้มีบรรยากาศ น้ำ และดินให้สิ่งมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่

นอกเหนือจากการสนใจค้นหาดาวฤกษ์ที่เหมือนดวงอาทิตย์แล้ว นักดาราศาสตร์ก็ยังสนใจดาวฤกษ์ชนิดดาวเคราะห์แดงด้วย เพราะเป็นดาวฤกษ์ขนาดเล็ก และปล่อยรังสี infrared ออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่รังสีนี้ถูกบรรยากาศโลกที่มีไอน้ำดูดกลืนหมด ดังนั้นกล้องโทรทรรศน์บนโลกจึงต้องติดตั้งอุปกรณ์ Near-Infrared Planet Search (NIPS) ในกล้องโทรทรรศน์ที่ Chile เพื่อรับแสงเนียร์อินฟราเรดโดยเฉพาะ

ในการค้นหาบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนั้น นักดาราศาสตร์ก็ยังใช้เทคนิคที่ Mikhail Lomonosov ชาวรัสเซียเคยใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1761 (ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์) เพราะ Lomonosov ได้พบว่า ขณะดาวศุกร์โคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ เขาเห็นเงาดำของดาวศุกร์มิได้มีขอบที่คมชัด แต่มัวๆ เหมือนกับว่า มีหมอกปกคลุม Lomonosov จึงเป็นบุคคลแรกที่พบการมีบรรยากาศเหนือดาวเคราะห์ดวงอื่น จวบจนวันนี้นักดาราศาสตร์ก็ยังใช้เทคนิคนี้ในการค้นหาโมเลกุลของน้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งโมเลกุลอื่นๆ ที่เห็นในสเปกตรัมของแสงที่มาจากบรรยากาศของดาวเคราะห์ที่ต้องสงสัย

จากนั้นข้อมูลกายภาพ เช่น รัศมี มวล องค์ประกอบต่างๆ ของบรรยากาศ ระยะทางที่ดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ สนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ รวมถึงอุณหภูมิก็จะถูกนำมาบูรณาการเพื่อสร้างแบบจำลองของสิ่งมีชีวิตที่อาจจะเกิดได้บนดาว โดยอาศัยความรู้ด้านชีววิทยาที่นักวิทยาศาสตร์มี

นอกเหนือจากความรู้เดิมๆ ที่ว่า ที่ใดมีน้ำ ที่นั่นมีชีวิต นี่เป็นความรู้ที่ใช้ไม่ได้เสมอไปแล้ว เพราะถ้าโลกที่มีแต่น้ำ และไม่มี phosphorus หรือสารอาหารอื่น ก็ไม่สามารถมีสิ่งมีชีวิตได้ “โลก” ของสิ่งมีชีวิตจะต้องมีทั้งดิน น้ำ สารอาหาร เช่น phosphorus และ CH4 เพื่อให้ plankton ใช้ในการสร้าง oxygen ให้บรรยากาศให้สิ่งมีชีวิตขั้นสูง เช่น มนุษย์ใช้หายใจ

ถึงวันนี้ ดาวเคราะห์ที่นับว่ามีโอกาสจะมีสิ่งมีชีวิตมากที่สุด ได้แก่ ดาวเคราะห์ Ross 128 ปี ที่อยู่ห่างจากโลก 11 ปีแสง (3.4 parsecs) กับดาวเคราะห์ GJ 1132b ที่มีรัศมี 1.1 เท่าของโลกและมีอุณหภูมิ 55 องศาสัมบูรณ์ ส่วนดาวเคราะห์ TRAPPIST 1C ซึ่งมีรัศมี 1.1 เท่าของโลก และมีอุณหภูมิ 300 องศาสัมบูรณ์นั้นก็เป็นดาวเคราะห์ที่เหมือนโลกมากเช่นกัน แต่จะมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่ การค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb จะให้คำตอบที่ชัดขึ้น

ในการสำรวจความคิดเห็นของนักดาราศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้ ประมาณ 47% มีความเห็นว่าในปี 2040 (อีก 22 ปี) โลกก็ยังไม่มั่นใจว่า มีสิ่งมีชีวิตนอกโลก อีก 29% มั่นใจ ที่เหลือ 24% ก้ำกึ่ง แต่เมื่อถึงปี 2050 ทุกคนมีความมั่นใจว่าจะพบสิ่งมีชีวิตต่างโลกแน่นอน สิ่งมีชีวิตนะครับ ไม่ได้หมายความถึง สิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาเหมือนคน

อ่านเพิ่มเติมจาก Quest for Second Earth โดย Robert Kunzig ใน Science ฉบับ 2 November 2017

เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น