xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...สุริยุปราคาหว้ากอเป็นซารอส 133 เหมือนยุคสมเด็จพระนารายณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพวาดบันทึกเหตุการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเมื่อ 30 เม.ย.2231
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาหว้ากอนับเป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ในเมืองไทย แต่ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 180 ปี ในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็เคยเกิดสุริยุปราคาในซารอสเดียวกันคือซารอส 133

ปี 2561 นี้เป็นปีสำคัญที่เราจะได้ย้อนถึงปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สำคัญในอดีต โดยในวันที่ 18 ส.ค.61 จะเป็นวาระครอบรอบ 150 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริบยุปราคาเต็มดวง ณ บ้านหว้ากอ ต.คลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2411 นับเป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ในประเทศไทย

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือปรากฏการณ์สุริยุปราคาดังกล่าว เป็นซารอส (Saros) เดียวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนที่เกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2231 ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้เสด็จทอดพระเนตร ณ พระราชวัง เมืองลพบุรี พร้อมคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่ได้ตั้งกล้องโทรทรรศน์ถวายเพื่อทอดพระเนตร

ซารอสนั้นคือวงรอบปรากฏของการเกิดคราสแบบเดิมซึ่งมีช่วงเวลาประมาณ18 ปี 11 วัน 8 ชั่วโมง โดยเมื่อครบรอบการเกิดคราส 1 รอบ ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์จะหวนกลับมาอยู่ในตำแหน่งเรขาคณิตเช่นเดิม แต่ตำแหน่งของคราสจะขยับไปทางทิศตะวันตกของตำแหน่งเดิมที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอเมื่อ 150 ปีก่อน และสุริยุปราคาบางส่วนที่เมืองลพบุรีเมื่อ 330 ปีก่อนนั้น เป็นสุริยุปราคาในสายหรือซารอสที่ 133 เช่นเดียวกัน และเกิดห่างกัน 10 ซารอสพอดี

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) บรรยายให้ข้อมูลระหว่างกิจกรรม “รฤกนารายณ์มหาราช ย้อนอรุณรุ่งแก่งดาราศาสตร์ 330 ปี” ซึ่งจัดขึ้น ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี เมื่อ 30 เม.ย.61 ว่า ข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ นั้นเพิ่งค้นพบเพียงไม่กี่ปีมานี้เอง โดยก่อนหน้านั้นพบเพียงหลักฐานการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อ 11 ธ.ค.2228 ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้เสด็จทอดพระเนตร ณ พระตำหนักเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี

หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเมื่อ 330 ปีก่อนคือ ภาพวาดสีน้ำมันขณะสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทอดพระเนตรปรากฏการณ์พร้อมคณะบาทหลวงที่สวมชุดสีดำ ภายในภาพมีออกญาวิไชเยนทร์ใส่เสื้อคลุมสีแดงทำหน้าที่เป็นล่าม และมีพระเพทราชานั่งในท่ามอบคลานมองไปยังท้ายกล้องโทรทรรศน์ที่มีฉากรับภาพปรากฏการณ์ ต้นฉบับของภาพดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส

สุริยุปราคาเมื่อกว่าสามร้อยปีก่อนนั้นเห็นคราสเต็มดวงพาดผ่านจีน บังคลาเทศ และอินเดีย ส่วนประเทศไทยเห็นเพียงปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาดังกล่าวด้วยวิธีการตั้งกล้องแล้วฉายภาพดวงอาทิตย์ลงมายังฉากรับ ขณะที่คณะบาทหลวงได้ใช้เครื่องวัดมุมแพรัลแลกซ์เสมือนนาฬิกา และยังใช้กล้องส่องติดตามดวงอาทิตย์ด้วย

ดร.ศรัณย์ให้ข้อมูลด้วยว่า กาลิเลโอ กาลิเลอิ ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องขึ้นไปสังเกตวัตถุท้องฟ้าเป็นครั้งแรกกาลิเลโอ ก่อนสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ประมาณ 47 ปี และยุคแรกเริ่มที่เราได้ทราบว่า โลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาล โลกกลม และทราบขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโลก และการทำแผนที่โลกถือเป็น “ชุดข้อมูลขนาดใหญ่” (Big Data) สำหรับยุคนั้น โดยส่วนที่ยากที่สุดคือการหาเส้นแวงหรือลองจิจูด (Longitude) ของโลก และต้องอาศัยการสังเกตปรากฏการณ์อุปราคาอย่างจันทรุปราคาช่วยคำนวณ

สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่พาดผ่านบ้านหว้ากอนั้น ดร.ศรัณย์ระบุว่า ชาวตะวันตกเป็นผู้คำนวณว่าจะเกิดปรากฏการณ์ขึ้นเมื่อใด แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการคำนวณว่าคราสจะพาดผ่านที่ใดบ้าง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงคำนวณและคาดการณ์สถานที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในเมืองไทยได้อย่างแม่นยำ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณว่าคราสจะพาดผ่านบ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และทรงพยากรณ์ไว้ว่า คลาสเริ่มจับเวลา 10.04 น. รอจนถึง 10.16 น. คลาสเริ่มจับมากขึ้นทุกที ท้องฟ้าที่สว่างเริ่มมืดสลัวลง จนถึงเวลา 11.20 น. ท้องฟ้ามืดลงจนมองเห็นดวงดาว คลาสจับเต็มดวงเมื่อเวลา 11.36 น. 20 วินาที กินเวลานานถึง 6 นาที 45 วินาที ท้องฟ้ามืดจนเป็นเวลากลางคืน นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงตรงตามเวลาที่พระองค์ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ทุกประการ

สุริยุปราคาหว้ากอเมื่อ 150 ปีที่แล้วนั้นยังสังเกตเห็นได้ตั้งแต่บริเวณเกาะจานไปถึง อ.ปราณบุรี ลงไปถึง จ.ชุมพร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้ทรงสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าว พร้อมคณะชาวตะวันตกและข้าราชบริพารชาวสยาม ณ พลับพลาที่ประทับในค่ายสังเกตการณ์สุริยุปราคาที่หว้ากอ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทรงนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคของวิทยาศาสตร์ ในวันที่ 14 เม.ย.2525 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และกำหนดให้วันที่ 18 ส.ค. ของทุกปี เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”

สุริยุปราคาซารอสที่ 133 จะเกิดขึ้นอีกครั้งในอีก 12 ปีข้างหน้า คือปี พ.ศ.2573 โดยเห็นได้บริเวณแอฟริกาตอนใต้และออสเตรเลีย ส่วนสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเห็นได้ในเมืองไทยอีกครั้งคือวันที่ 11 เม.ย.2613 ซึ่งปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้นคราสเต็มดวงจะพาดผ่านบ้านหว้ากออีกครั้งด้วย
ภาพถ่ายเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ พลับพลาที่ประทับค่ายสังเกตการณ์สุริยปราคาที่หว้ากอ (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)
จำลองเหตุการณ์สุริยุปราคาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา บรรยายระหว่างกิจกรรม “รฤกนารายณ์มหาราช ย้อนอรุณรุ่งแก่งดาราศาสตร์ 330 ปี” ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี


กำลังโหลดความคิดเห็น