xs
xsm
sm
md
lg

สกว.รวมรุ่นใหญ่ร่วมปลุกไฟนักวิจัยให้ทำงานข้ามสาขาแบบบูรณาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช
สกว.มุ่งปั้นนักวิจัยหลัง ป.โท-ราชภัฏตอบโจทย์ภาคเอกชนและรับใช้ชุมชน จับมือ สกอ.เดินสายทัวร์อีสาน แจ้งเปิดมิติใหม่สร้างนักวิจัยระดับหลังปริญญาโทตามความต้องการของภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ พร้อมจับมือ มรภ. ปั้นนักวิจัยรับใช้ชุมชนท้องถิ่น ด้านเมธีวิจัยอาวุโส สกว.ร่วมกันปลุกไฟนักวิจัยให้ทำงานข้ามสาขาแบบบูรณาการภายใต้บริบทสำคัญของประเทศและไขปริศนาของมวลมนุษยชาติ

รศ.ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุม “โครงการฝ่ายวิขาการ สกว. สัญจร” ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมโฆษะ โฮเทล จ.ขอนแก่น โดยความร่วมมือระหว่าง สกว. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อประชาสัมพันธ์ทุนวิจัยและรับฟังคำแนะนำในการขอรับทุนในรูปแบบต่างๆ จาก สกว.

ผู้อำนวยการสำนักงาน สกว. ระบุว่าหลังการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ สกว.ต้องรับภาระหนักมากขึ้นจากการกำหนดความชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทหน่วยงานวิจัย ในฐานะผู้ให้ทุนวิจัยของประเทศร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีภารกิจสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ทุนวิจัยและสร้างองค์ความรู้ด้านวิจัยพื้นฐาน บุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของชาติ ซึ่งมี ฝ่ายวิชาการ สกว. เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างนักวิจัยและบันไดนักวิจัยอาชีพ

“ปัจจุบัน สกว.เป็นหลักในการพัฒนานักวิจัยหลังปริญญาเอก และจะมีมิติใหม่ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนากลุ่มนักวิจัยหลังปริญญาโทด้วย เนื่องจากเป็นความต้องการของภาคเอกชนและภาคส่วนต่าง ๆ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ สกว.จะต้องรับภาระในอนาคตข้างหน้า รวมถึงครอบคลุมการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อรับใช้ชุมชนท้องถิ่นด้วย จึงหวังว่าเราจะสามารถเพิ่มบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่ที่สามารถบริหารจัดการทุนวิจัยได้อย่างมีศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ”

ด้านสุทิศา จั่นมุกดา ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานการบริหารงานบุคคล สกอ. กล่าวระหว่างการบรรยาย “เส้นทางความก้าวหน้าของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย” ว่านักวิจัยที่ดีต้องมีความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตนและไม่ลอกเลียนผลงานของผู้อื่น รวมถึงผลงานของตัวเองที่ตีพิมพ์ไปแล้วซึ่งถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการนั้น ห้ามมิให้นำไปตีพิมพ์ในวารสารอื่นอีก มิฉะนั้นจะถูกลงโทษงดการพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการหรือถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการ (แล้วแต่กรณี) และห้ามมิให้เสนอผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

“นอกจากนี้ยังต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นและสิทธิมนุษยชน ผลงานทางวิชาการต้องได้มาจากการศึกษาโดยใช้หลักวิชาการเป็นเกณฑ์ ไม่มีคติมาเกี่ยวข้อง และเสนอผลงานตามความเป็นจริง และต้องนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย”

สำหรับเวทีเสวนา “นักวิจัยพี่เลี้ยง: เข็มทิศนำทางชีวิตนักวิจัย” โดยคณะเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ข้อคิดแก่นักวิจัยใหม่ว่าเราต้องรู้จักวิเคราะห์ตัวเองว่าเป็นต้นไม้แบบไหน สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร การพัฒนาตัวเองก็จะตรงทิศทางและไปได้เร็วขึ้น และเลือกนักวิจัยที่ปรึกษาที่มีบุพเพสันนิวาสร่วมกัน

“จงเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราโตได้ เพราะข้างในเรามีพลัง แม้สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไป ไฟในตัวต้องไม่ดับและอย่าอยู่กับที่ เปิดตัวเองและศึกษาวิทยาการใหม่ ๆ ใช้ศักยภาพความเชี่ยวชาญของตัวเองเชื่อมต่องานกับความชำนาญของผู้อื่นตามสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันของประเทศไทย”

ขณะที่ ศ.ดร.บรรจบ ศรีภา จากสังกัดเดียวกัน กล่าวถึงจุดพลิกผันในการปรับเปลี่ยนตัวเอง ว่าเกิดจากการได้เห็นนักวิจัยที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นทำงานหนักทุกวัน ถ้าเราได้เห็นตัวอย่างที่ดีเราก็จะไปได้ดี และการถ่ายทอดองค์ความรู้เป็นศิลปะที่ไม่มีการสอน ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง สิ่งที่ได้นอกเหนือจากผลงานวิจัย คือ ได้เรียนรู้ระหว่างเครือข่ายวิจัยด้วยกัน เพราะโครงการวิจัยต่างๆ เป็นการสร้างคน

ด้าน รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักวิจัยด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า นักวิจัยต้องคิดเสมอว่างานของเราจะมีคุณูปการอย่างไร งานโบราณคดีนั้นนับเป็นบูรณาการศาสตร์และอยู่ในสาขาขาดแคลน การทำงานของเราจึงต้องมีความรักในวิชาชีพ ความสุข และอุดมการณ์ สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและความร่วมมือกับผู้อื่น อดทน ไม่กลัวปัญหาที่ท้าทายเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ไม่ใช่ทำงานเพื่อตำแหน่งทางวิชาการ

“เราต้องทำวิจัยเพื่อเสริมให้ตัวเราเป็น “ครูที่ดี” ไขปริศนาในเรื่องที่ไม่มีใครทำ สนุกกับการค้นคว้าสิ่งใหม่ และลองทำงานข้ามสาขาเพื่อจะได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น สร้างความรู้เพื่อตอบคำถามของมวลมนุษยชาติ”
 ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ
รศ.ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์
ศ.ดร.บรรจบ ศรีภา


กำลังโหลดความคิดเห็น