xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งเป้าถ่ายดาวหมุนทั้งที ต้องถ่ายที่ละติจูดต่างกัน (Star Trails Different Latitude)

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


สำหรับคอลัมน์นี้ผมขอเสนอไอเดียสำหรับใครที่อาจมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ และชอบการถ่ายภาพดวงดาวหรือภาพดาราศาสตร์ หากพอมีเวลาในช่วงกลางคืนอย่างน้อยสักหนึ่งชั่วโมง ลองหาโอกาสออกไปถ่ายภาพดาวหมุน หรือภาพ Startrails ในสถานที่ที่ไม่จำเป็นต้องมืดมากหรือไกลตัวเมืองมากนักกันได้นะครับ เพราะทุกภาพที่เราถ่ายได้ในแต่ละสถานที่ที่มีละติจูดต่างกันนั้น ขั้วเหนือของท้องฟ้าหรือลักษณะการคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าที่แตกต่างกันออกไปด้วยครับ

จริงๆ แล้วสมัยนี้หลายคนมักหาโอกาสเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศกันบ่อยๆ และภาพที่ถ่ายกลับมาก็มักจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศนั้นๆ เมืองนั้นๆ ซึ่งก็มีหลายคนเค้าถ่ายกันทั่วไป (ดูไม่เทห์ มันดูไม่ Cool) หากวันนี้เราลองเปลี่ยนแนวตั้งเป้าว่า หากมีโอกาสได้เดินทางไปสถานที่อื่นๆ ก็ลองถ่ายการเคลื่อนที่ของดวงดาวในเมืองนั้นเก็บไว้เป็นคอเลคชั่นกันครับ

ยกตัวอย่างเช่น บางคนอยู่ทางภาคใต้ก็ลองถ่ายภาพดาวหมุนที่ละติจูดต่ำๆ เก็บไว้ และเมื่อไหร่มีโอกาสเดินทางมาทางภาคเหนือบ้างก็ลองหาเวลาถ่ายภาพดาวหมุนที่ละติจูดสูงขึ้น เก็บไว้เป็นคอลเลคชั่นภาพดาวหมุนได้เช่นกันครับ และหากไปสถานที่อื่นๆ ประเทศอื่นๆ ที่มีตำแหน่งละติจูดที่ต่างกัน ก็ถ่ายภาพเก็บเอาไว้ได้ครับ พอเราเอาภาพที่ถ่ายไว้หลายๆสถานที่มาดู ก็จะเห็นความสวยงามและความแตกต่างของการเคลื่อนที่และตำแหน่งของดวงดาวที่ต่างกันครับ

ในการถ่ายภาพนั้น เราไม่จำเป็นว่าต้องถ่ายแต่ทางทิศเหนือหรือขั้วเหนือท้องฟ้าอย่างเดียวครับ ทิศตะวันออกหรือทิศตะวันออก ก็สามารถถ่ายภาพให้เห็นถึงทิศทางการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าที่แตกต่างกันในแต่ละ ละติจูดได้เช่นเดียวกันครับ ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
ภาพจำแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของดวงดาวบนทรงกลมท้องฟ้าในทิศต่างๆ
มาศึกษาความรู้เรื่องการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้ากันหน่อย

การเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า (Celestial sphere) แท้จริงแล้วเกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ไม่ใช่การหมุนของทรงกลมฟ้า เมื่อมองจากพื้นโลกเราจะเห็นทรงกลมท้องฟ้าเคลื่อนที่จากทิศตะวันออก-ไปยังทิศตะวันตก โดยเราสมมติให้ทรงกลมท้องฟ้าเป็นทรงกลมสมมติขนาดใหญ่มีรัศมีอนันต์ โดยมีโลกอยู่ที่จุดศูนย์กลาง โลกถูกห่อหุ้มด้วยทรงกลมท้องฟ้า ซึ่งประกอบด้วยดาวฤกษ์ทั่วทั้งท้องฟ้า

ทรงกลมท้องฟ้าหมุนรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 1 วัน (24 ชั่วโมง) ทำให้เรามองเห็นดาวฤกษ์เคลื่อนที่ไปตามทรงกลมท้องฟ้าด้วยอัตรา 15 องศาต่อชั่วโมง (360°/24 ชั่วโมง = 15 องศา)

ดังนั้นหากเราต้องการภาพเส้นแสงดาวที่มีความยาวมากๆ ก็ต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพนานขึ้นตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้านั้นเองครับ

ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ยังคงใช้ทรงกลมท้องฟ้า เป็นเครื่องมือในการระบุตำแหน่งทางดาราศาสตร์ เพราะง่ายต่อการระบุพิกัด หรือเปรียบเทียบตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้า และสังเกตการเคลื่อนที่ของวัตถุเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น

เมื่อมองจากพื้นโลกเราจะเห็นทรงกลมท้องฟ้าเคลื่อนที่จากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก อย่างไรก็ตามเนื่องจากโลกของเราเป็นทรงกลม ดังนั้นมุมมองของการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า ย่อมขึ้นอยู่กับตำแหน่งละติจูดของผู้สังเกตนั่นเองครับ

ถ้าผู้สังเกตการณ์อยู่บนเส้นศูนย์สูตร หรือละติจูด 0° ขั้วฟ้าเหนือจะอยู่ที่ขอบฟ้าด้านทิศเหนือพอดี

ถ้าผู้สังเกตการณ์อยู่ที่ละติจูดสูงขึ้นไป เช่น ละติจูด 15° ขั้วฟ้าเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้า 15°

ถ้าผู้สังเกตการณ์อยู่ที่ขั้วโลกเหนือหรือละติจูด 45° ขั้วฟ้าเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้า 45°

ถ้าผู้สังเกตการณ์อยู่ที่ขั้วโลกเหนือหรือละติจูด 90° ขั้วฟ้าเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้า 90°

เราสามารถสรุปได้ว่า ถ้าผู้สังเกตการณ์อยู่ที่ละติจูดเท่าใดขั้วฟ้าเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้าเท่ากับ
ละติจูดนั้น นั่นเองครับ

เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ

1.หาตำแหน่งขั้วเหนือท้องฟ้าจากกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือกลุ่มดาวค้างคาว

2.ถ่ายภาพด้วยโหมดแมนนวล (M)

3.ใช้วิธีการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous) โดยทั่วไปมักนิยมใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้อง 30 วินาที และถ่ายภาพต่อเนื่องเรื่อยๆ แล้วนำภาพมาต่อกันเพื่อให้ได้ภาพเส้นแสงดาว (วิธีนี้ต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์รวมในการถ่ายภาพ หากในกล้องไม่มีระบบถ่ายภาพต่อเนื่องอัตโนมัติ)

4.ปิดระบบการกำจัดสัญญาณรบกวน (Noise reduction) เพื่อให้กล้องสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และไม่ทำให้เส้นแสงดาวขาดหายไป

5.ไม่ใช้ระบบล็อคกระจกสะท้อนภาพ

6.ปิดระบบออโต้โฟกัส พร้อมทั้งปรับโฟกัสของเลนส์ที่ระยะไกลสุด (อินฟินิตี้)โดยเช็คดูว่าภาพดาวคมชัดและเล็กที่สุดหรือไม่ ด้วยจอภาพหลังกล้อง

7.ค่าความไวแสงอาจเริ่มถ่ายตั้งแต่ ISO 1000 เป็นค่าตั้งต้น และสามารถปรับเพิ่มหรือลดลง ตามสภาพแสงของสถานที่นั้นๆ ซึ่งสิ่งสำคัญคือภาพต้องเห็นจุดดาวและฉากหน้าได้พอสมควร ไม่สว่างหรือมืดเกินไป

8.เมื่อเช็คมุมและค่าที่จะใช้ในการถ่ายภาพแล้ว ก่อนเริ่มถ่ายแบบต่อเนื่อง ควรถ่ายภาพ Dark Frame คือภาพที่ถ่ายด้วยค่าแบบเดียวกับที่เราจะใช้ถ่ายดาว แต่ให้ปิดฝาหน้ากล้องไว้ โดยถ่ายไว้ก่อนประมาณ 5 ภาพ แล้วจึงเริ่มถ่ายภาพเส้นแสงดาวตลอดทั้งคืน หรือจนแบตเตอรี่จะหมด

9.ถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW เพื่อความยืดหยุ่นในการนำภาพมาปรับในภายหลัง
 ภาพถ่ายเส้นแสงดาวจาก บริเวณ ยอดดอยอินทนนท์ ประเทศไทย ละติจูดที่ 18 องศาเหนือ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 15mm f/2.8 Fisheye / Focal length : 15 mm. / Aperture : f/4.5 / ISO : 400 / Exposure : 300 sec x 44 Images (3h40m))
ภาพถ่ายเส้นแสงดาวจาก บริเวณหอดูดาว Bisei Observatory ประเทศญี่ปุ่น ละติจูดที่ 34 องศาเหนือ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark IV / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 100 / Exposure : 20 sec x 236 Images (1h18m))
 ภาพถ่ายเส้นแสงดาวจาก บริเวณ Death valley ประเทศสหรัฐอเมริกา ละติจูดที่ 36 องศาเหนือ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/4.0 / ISO : 1000 / Exposure : 180 sec x 62 Images (3h6m))
ภาพถ่ายเส้นแสงดาว ณ เมืองโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ละติจูดที่ 42 องศาเหนือ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 200 / Exposure : 181 sec x 66 Images (3h19m))



เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน



กำลังโหลดความคิดเห็น