xs
xsm
sm
md
lg

ชุดตรวจไซยาไนด์ในมันสำปะหลัง ลดขั้นตอนยุ่งยาก ไม่ต้องใช้สารอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มจธ.ชูผลงานเพื่อการเกษตร ชุดตรวจวัดปริมาณไซยาไนด์ในมันสำปะหลัง ลดขั้นตอนการตรวจยุ่งยาก และไม่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้ตรวจ

นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผลิตงานวิจัยเพื่อการเกษตรและผลผลิตส่งออก “ชุดตรวจวัดปริมาณไซยาไนด์ในมันสำปะหลังแบบเปรียบเทียบสีโดยใช้อนุภาคนาโนโลหะคู่” โดยมี ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

นางสาววรวรรณ เสาวรส นักศึกษาภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ เจ้าของผลงาน กล่าวว่า มันสำปะหลังเป็นสินค้าทางการเกษตรชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าส่งออกเป็นจำนวนมากต่อปี แต่หัวมันสำปะหลังดิบจะมีสารไซยาไนด์ (Cyanides) ในปริมาณที่ต่างกันตามสายพันธุ์ คือพันธุ์หวานประกอบอาหารได้โดยระดับปริมาณไซยาไนด์ไม่เป็นอันตราย ขณะที่มันสำปะหลังพันธุ์ขมจะมีปริมาณไซยาไนด์ที่สูง

ไซยาไนด์มีความเป็นพิษ มีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและทางเดินโลหิต เป็นอันตรายมากหากรับประทานดิบ จึงไม่นิยมทานเป็นอาหารโดยตรง แต่จะนำไปแปรรูปเป็นแป้งมัน มันแห้ง มันอัดเม็ด หรืออาหารสัตว์ อีกทั้งไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่ใช้ในการทำงานบางอย่าง เช่น การถลุงโลหะ การสังเคราะห์สารเคมี การตรวจวิเคราะห์ทางเคมีในห้องปฏิบัติการ

ดังนั้นการทดสอบปริมาณของไซยาไนด์จึงจำเป็นอย่างมากสำหรับการส่งออกผลผลิตมันสำปะหลังให้ตรงตามมาตรฐานและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค จากเดิมขั้นตอนในการตรวจสอบไซยาไนด์ในมันสำปะหลัง ต้องสกัดปริมาณไซยาไนด์ในมันสำปะหลังออกมาโดยใช้เอนไซม์ซึ่งมีความยุ่งยากในการเก็บรักษา และตรวจสอบการเปลี่ยนสีโดยใช้สารเคมีที่มีความเป็นพิษ ทำในห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบ

นางสาววรวรรณจึงต้องการคิดค้นวิธีการตรวจสอบที่ลดขั้นตอนและมีความเป็นพิษต่ำลง เพื่อป้องกันสุขภาพของผู้ตรวจสอบ ซึ่งเป็นที่มาของชุดตรวจวัดปริมาณไซยาไนด์ในมันสำปะหลังแบบเปรียบเทียบสี โดยใช้อนุภาคนาโนโลหะคู่ หลักการคือสังเคราะห์อนุภาคที่มีลักษณะเป็น 2 ชั้น หลักการคือสังเคราะห์อนุภาคที่มีลักษณะเป็น 2 ชั้น ที่มีแกน (core) เป็นอนุภาคนาโนเงินและมีเปลือก (shell) เป็นชั้นทองบางๆ หุ้มอยู่ จึงทำให้สารละลายสามารถเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีอมส้ม เป็นสีเหลือง และสีใส เพื่อบอกระดับปริมาณไซยาไนด์ที่ต้องการตรวจสอบ

“เพียงสกัดน้ำจากมันสำปะหลังที่ต้องการตรวจสอบใส่ลงในสารละลายอัตราส่วน 1:1 และสังเกตการเปลี่ยนสีของสารละลายในเวลา 5 นาที หากตรวจพบไซนาไนด์สารละลายจะเกิดการเปลี่ยนสี จากสีม่วงเป็นสีอมส้ม เป็นสีเหลือง และสีใส จากไซนาไนด์ปริมาณน้อยไปถึงปริมาณมากตามลำดับ หากสารละลายเป็นสีใส คือมันสำปะหลังมีปริมาณไซยาไนด์ในระดับที่เป็นอันตราย ไม่สามารถบริโภคโดยตรงได้”

ผลงานดังกล่าวยังคว้ารางวัลระดับดีเด่น การเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2560 และรางวัลระดับดีเด่น การประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2560 ในกลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 หรือ Thailand Research Expo 2017” ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” จัดขึ้นในปี 2561 นี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับเครือข่ายในระดับวิจัยทั่วประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น