xs
xsm
sm
md
lg

ลงพื้นที่พิสูจน์การทำงานแอปฯ ระวังไฟป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวศศิประภา แถวถาทำ และ นายภาคภูมิ เหล่าตระกูล โชว์แอปพลิเคชันสำหรับเฝ้าระวังไฟป่า
นอกจากอากาศที่ร้อนระอุเมื่อเข้าสู่หน้าร้อนแล้ว ยังมีปัญหาหมอกควันจากการเผาที่รุมเร้าในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือที่เผชิญหมอกควันทุกปี อีกทั้งต้นเหตุไฟป่าและปัญหาความล้าช้าของการรับแจ้งเหตุไฟป่า ประกอบกับภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยให้หมอกควันนั้นไม่สามารถลอยหายไปไหนได้ ยิ่งโหมให้พื้นที่ภาคเหนือกลายเป็นเมืองในม่านหมอก(ควัน) มาตลอด และแต่ละครั้งกินระยะเวลานานหลายๆ เดือน

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่า หรือ Forest Fire ขึ้น พร้อมทั้งได้ร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย กระทรวงมหาดไทย จัดอบบรมอาสาสมัครป้องกันไฟป่าเพื่อใช้งานแอปพลิเคชันนี้ ซึ่งทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมสังเกตการใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวด้วย

นางสาวศศิประภา แถวถาทำ นักภูมิสารสนเทศของจิสด้า ได้อธิบายถึงแอปพลิเคชัน Forest Fire ว่า แอปฯ ดังกล่าวใช้ข้อมูลทางภูมิสารสนเทศด้านแผนที่ พื้นที่ป่า พื้นที่ทำมาหากิน แล้วนำมาประกอบเป็นแอปพลิเคชันสำหรับแจ้งเหตุและเฝ้าระวังไฟป่า เพื่อใช้เก็บข้อมูลและติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันทั่วประเทศ
รูปแบบการทำงานของแอปพลิเคชัน Forest Fire
"แอปพลิเคชันนี้ได้นำไปใช้ในพื้นที่ 9 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.น่าน จ.พะเยา จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.แพร่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งภาคเหนือนั้นเป็นภาคที่พบปัญหาหมอกควัน และพบค่าฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมโครเมตร และฝุ่นละอองเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ไมโครเมตร เกินค่ามาตรฐานจากเหตุไฟป่าเกือบทุกปี โดยในอดีตเหตุไฟป่านั้นจะปรากฏรุนแรงในช่วงหน้าแล้ง ระหว่างเดือนธันวาคม-เมษายนของทุกปี" นางสาวศศิประภาเผย

ทางด้าน นายภาคภูมิ เหล่าตระกูล นักสื่อสารองค์กรของจิสด้า กล่าวถึงหน้าต่างการทำงานของแอปพลิเคชันนี้ว่า เมื่อเข้าไปยังหน้าแรกหลังจากลงทะเบียนสำเร็จแล้ว จะพบกับแผนที่แสดงกลุ่มจุดความร้อน (hot spot) ทั่วประเทศที่แยกเป็นสีต่างๆตามประเภทของสถานที่ เช่น สีเขียวอ่อนเป็นป่าอนุรักษ์ สีเขียวเข้มเป็นป่าสงวนแห่งชาติ สัญลักษณ์รูปเปลวไฟสีแดง แทนจุดเกิดเหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง และรูปเปลวไฟสีเทาที่แทนเหตุไฟป่าที่มีการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว

"ชาวบ้านหรือผู้ที่ใช้งานแอปพลิเคชัน Forest Fire สามารถเข้าไปแจ้งเหตุไฟไหม้ป่าได้ที่เมนูแจ้งเหตุ ซึ่งมีระบุที่อยู่ด้านล่างของแอปฯ เมื่อเข้าในหน้าต่างแจ้งเตือน ผู้แจ้งเหตุสามารถเพิ่มรูปถ่ายหรือวิดีโอของสถานที่เกิดเหตุ กำหนดพิกัดของสถานที่เกิดเหตุพร้อมกำหนดระดับความรุนแรงของไฟ ซึ่งระดับความรุนแรงนั้น แบ่งไปตามขนาดของพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ ระดับความรุนแรงน้อยจะมีขนาดพื้นที่เกิดเหตุน้อยกว่า 1 ไร่ ระดับความรุนแรงปานกลางจะมีพื้นที่เกิดเหตุตั้งแต่ 1-10 ไร่ และระดับความรุนแรงมากจะมีพื้นที่เกิดเหตุตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป จากนั้นจะมีทีมงานระบบข้างหลังบ้านเข้ามาช่วยคัดกรองการแจ้งเหตุว่าเป็นพื้นที่ไฟป่าจริงหรือไม่ แล้วข้อมูลจะไปที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด (war room) ต่อไป" นายภาคภูมิอธิบาย
ทำแนวกันไฟป่า
สำหรับเจ้าหน้าที่หลังจากติดตั้งแอปพลิเคชันนี้แล้ว จะสามารถกดเข้าไปแจ้งเหตุไฟไหม้และกดเข้าไปรับการแจ้งเหตุของประชาชน ได้ด้วยการกดยืนยันการแจ้งเหตุที่อยู่ภายในเมนูการแจ้งเตือน และสามารถใช้ระบบนำทางของตัวแอปพลิเคชันเพื่อนำทางจากตำแหน่งของตนไปยังสถานที่เกิดเหตุได้ ด้วยการกลับมาที่หน้าแผนที่และกดสัญลักษณ์รูปไฟสีแดงและกดปุ่ม GO จากนั้นระบบจะบอกเส้นทางการไปถึงสถานที่เกิดด้วยการประมวลผลจากดาวเทียม

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามความเห็นจากกลุ่มชาวบ้านตำบลแม่ทราย อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ที่ได้เข้าอบรมใช้แอปพลิเคชันที่จิสด้าได้พัฒนาขึ้นมา ซึ่งชาวบ้านให้ความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า แอปพลิเคชันนี้นำเสนออย่างเรียบง่าย และสามารถเข้าใจได้ง่ายสำหรับพวกเขา ทำให้พวกเขาสามารถเข้าไปแจ้งเหตุไฟไหม้ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และยังช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถรับการแจ้งเหตุไฟไหม้ป่าได้รวดเร็ว และประสานกำลังลงมาระงับเหตุได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชันนี้เป็นเพียงหนึ่งในวิธีป้องกันและเฝ้าระวังไฟป่าเท่านั้น โดย นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล นายอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่กล่าวเสริมว่า ในพื้นที่จังหวัดแพร่ยังมีมาตรการในการปิดป่าชั่วคราวแบบมีเงื่อนไขในช่วงหน้าแล้ง โดยชาวบ้านที่ต้องการเข้าป่าในช่วงนั้นต้องแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่รักษาป่า พร้อมระบุถึงเวลาเข้า-เวลาออก และเหตุผลที่เข้าในป่าโดยจะมีเงื่อนไขว่า ห้ามนำวัสดุก่อเพลิงอย่างไฟแช็คหรือไม้ขีดไปเข้าไปด้วย

"นอกจากนี้เรายังมีแนวทางในการทำแนวกันไฟป่า ด้วยวิธีกวาดเศษใบไม้ออกเป็นสองข้างทางคล้ายๆ กับทำทางเดินเข้าป่า เพื่อป้องกันไฟป่าลุกลามไปทั่วป่า ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในการเข้าไปทำทุก 10 วัน เนื่องจากช่วงหน้าแล้งมีใบไม้ร่วงเป็นจำนวนมาก" นายสหวิชให้ข้อมูลแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์


กำลังโหลดความคิดเห็น