ที่ผ่านมาความรับรู้ของคนทั่วไปเกี่ยวกับ การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์มักถูกมองว่าเป็นการเรียนรู้เพียงในห้องเรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายและไม่สนใจ ทั้งๆ ที่วิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่มีความสำคัญ สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมรอบตัว สสวท.จึงจัดประกวดโครงงานสิ่งแวดล้อมที่เน้นแก้ปัญหาใกล้ตัว
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายในการสร้างโอกาสให้เด็กไทยลงมือทำงานวิจัยแบบปฏิบัติการจริง ผ่านการประกวดผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (GLOBE Student Research Competition) ซึ่งเน้นการนำความรู้แบบบูรณาการมาคิดแก้ปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจากเรื่องราวใกล้ตัว พร้อมวางเส้นทางต่อยอดพานักวิจัยน้อยไปสู่เวทีสากล
ล่าสุดได้มีการจัดประกวดผลงานวิจัยสิ่งแวดล้อมตามโครงการ GLOBE Student Research Competition 2018 ขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2561ที่ผ่านมา โดยมีเยาวชนไทยจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม และต่างพูดตรงกันว่า เป็นโครงการที่ให้โอกาสและประสบการณ์ที่ดีอย่างมากมาย ทั้งในเรื่องของการฝึกกระบวนการคิดและรู้จักวิธีการหาคำตอบในเรื่องต่างๆ การทำงานเป็นทีม การสื่อสารงานวิจัยของตนเองให้ผู้อื่นได้รับรู้ความกล้าแสดงออก การรู้จักมองปัญหาแบบเป็นเหตุเป็นผล และ ฯลฯ
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท)ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สสวท. ได้จัดการประกวดผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “GLOBE Student Research Competition 2018” ระหว่างวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2561 โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
ทั้งนี้ สสวท. ส่งเสริมให้นักเรียนได้ทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมการเรียนการสอนให้นักเรียนเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่เป็นองค์ประกอบของโลก (ดิน น้ำ บรรยากาศ สิ่งปกคลุมดิน) ในลักษณะของวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ (Earth System Science) โดยใช้ความคิดระดับสูง (Higher order of thinking) และจิตวิทยาศาสตร์ (Scientific attitude) ในการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry) ในการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเองอย่างเป็นระบบ และเป็นมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกับครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถที่จะค้นคว้าวิจัยในระดับที่กว้างและลึกพอที่จะสามารถแก้ไขปัญหาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนได้อย่างแท้จริง ถูกต้อง และยั่งยืน ตลอดจนสามารถที่จะเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้
คณะผู้วิจัยในโครงการประกอบด้วยนักเรียนจำนวน 2-3 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-มัธยมศึกษาปีที่ 6 และครูที่ปรึกษางานวิจัยไม่เกิน 1 คนต่อ 1 งานวิจัย ส่วนเงินรางวัลสำหรับผลงานวิจัยที่ได้รับคัดเลือกรวมเป็นจำนวนกว่า 200,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตรสำหรับโรงเรียนที่ได้รับรางวัล และเกียรติบัตรสำหรับคณะผู้วิจัยที่เข้าร่วมการประชุมวิชาการ GLOBE Student Research Competition 2018 โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลจะได้รับโอกาสเข้าร่วมการนำเสนอผลงานวิจัยในโครงการ GLOBE Student Exchange Program และกิจกรรม Regional GLOBE Learning Expedition (RGLE) ณ ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
รองศาสตราจารย์ ดร. สัญญา มิตรเอม รองผู้อำนวยการ สสวท. ประธานในพิธีมอบรางวัลกล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นักเรียนสามารถเชื่อมโยงนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ไปแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะเราไม่ได้แยกวิทยาศาสตร์ออกจากวิชาอื่นแต่นำวิทยาศาสตร์เข้าไปในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในทุกวิชา เช่น ศิลปะ คณิตศาสตร์ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับว่าเน้นเรื่องใด แต่ละเรื่องเน้นวิทยาศาสตร์มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
"สสวท. มีภารกิจหลักด้านส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในประเทศไทย ที่ผ่านมามีการปรับหลักสูตรเสนอสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมีการประกาศเป็นหลักสูตรฉบับปรับปรุงเมื่อปีที่ผ่านมา โดยจะเริ่มใช้ปีการศึกษา 2561ในระดับชั้น ป.1, ป.4, ม.1 และม.4 ส่วนกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่ สสวท. จัดขึ้น จะช่วยส่งเสริมให้ครู นักเรียนและชุมชนได้รับรู้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ไปแก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ"
โครงการประกวดผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “GLOBE Student Research Competition เน้นเรื่องสภาพแวดล้อมในชุมชนที่แก้ไขปัญหาหรือสร้างประโยชน์ให้ชุมชนได้ รวมทั้งสนับสนุนนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมให้นักเรียนสนใจมากขึ้น ผลงานวิจัยของนักเรียนใช้วิธีดำเนินการตรวจวัดของโครงการ GLOBE (GLOBE Protocols) และส่งข้อมูล (GLOBE Data Entry) เข้าเว็บไซต์โครงการ GLOBE (www.globe.gov) สามารถใช้เป็นฐานการพัฒนาหรือรักษาสภาพแวดล้อมชุมชนได้จริง
“GLOBE ไม่ได้เน้นการประกวดแต่เน้นการนำผลงานมาแสดงร่วมกัน โครงการฯ นี้สร้างคนสร้างองค์ความรู้มากกว่าการแข่งขัน ฝึกการแก้ไขปัญหา ทำการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ในอนาคต ทุกผลงานการวิจัยของนักเรียนมีมาตรฐานระดับนานาชาติและทำการจดสิทธิบัตรในหลายๆ ผลงาน ซึ่งอาจมองว่าเป็นประเด็นเล็กๆ แต่ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานใดจะมาร่วมสนับสนุนหรือนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติ อาทิ ด้านการเกษตรเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องดินและน้ำ, ด้านสาธารณสุข การวิจัยวงจรชีวิตยุงลายช่วยแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกได้” รองผู้อำนวยการสสวท.กล่าว
ด.ช.ภูผา นาคฤทธิ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หนึ่งในทีมจากโรงเรียนเทศบาลบ้านคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง รางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาจากผลงานเรื่อง “สมบัติและการเจริญเติบโตของพริก Capasicum frutescens L. ในพื้นที่ ต.พญาขัน อ.เมือง จ.พัทลุง” กล่าวว่า การทำงานวิจัยดังกล่าว เรียนรู้จากเรื่องใกล้ตัวมาศึกษา คือพ่อของเพื่อนทำสวนพริก ปกติชาวบ้านในชุมชนจะใช้ดินนาและดินภูเขาในการปลูกพริกจึงสงสัยว่า ดินชนิดใดเหมาะสมในการปลูกพริกมากกว่ากัน จะได้นำผลการวิจัยไปบอกต่อได้
"จากการวิจัยพบว่าดินนามีความเหมาะสมมากกว่า โดยชุมชนได้นำผลการวิจัยไปใช้จริงและต่อไปจะศึกษาปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพริก เช่น ทิศทางของแสง หรืออื่นๆ การเข้าร่วมโครงการฯ นี้ทำให้ได้ทำงานเป็นทีมและกล้าแสดงออก รวมทั้งได้ความรู้จากการวิจัยค้นคว้า และวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่ครอบคลุมสิ่งต่างๆของโลก"
ขณะที่น้องๆ จากทีมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้แก่ ด.ช.ทัศณ์พล คุณวุฒิพร และด.ช.พิวัฒน์ ศุภวิทยา ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร่วมเล่าประสบการณ์ทำงานวิจัย โดย ด.ช.ทัศณ์พล เล่าว่า มีโอกาสไปเที่ยวป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติสำคัญเสมือนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ พบว่าเปลี่ยนไปจากที่เคยไปในวัยเด็ก คือ จำนวนปลาตีนลดลงมาก จึงเริ่มสงสัยว่าเพราะเหตุใด
"เมื่อเรียนในวิชาโครงงานจึงปรึกษากับเพื่อนและเริ่มศึกษาทดลองโดยคิดว่าต้องให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมของโลก โครงการฯ นี้ทำให้ได้ฝึกคิดพัฒนาโปรแกรมการใส่ค่าความชื้นสัมพัทธ์บอกค่าจำนวนของปลาตีน ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้ลงมือทำแบบจริงๆ"
ด.ช.พิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า เขามองเห็นถึงความสำคัญของป่าชายเลน และได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพื่อพัฒนาจำนวนประชากรปลาตีนจากค่าความชื้นสัมพัทธ์ ประกอบกับได้ศึกษางานวิจัยของต่างประเทศด้วยทำให้อยากรู้ว่าเหตุใดปลาตีนจึงมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จึงเริ่มศึกษาปัจจัยทางกายภาพและปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเร็วในการเคลื่อนที่
"โครงการฯนี้ ทำให้ได้ฝึกวิธีการทดลองจริงตามหลักการทำงานวิทยาศาสตร์ของ GLOBE และทำงานร่วมกับเพื่อนหลายทีม ช่วยสร้างเทคโนโลยีที่สามารถพิจารณาความสัมพันธ์ของธรรมชาติได้รวมทั้งได้ฝึกการทำงานร่วมกัน จากการศึกษาวิจัยพบว่าบริเวณป่าชายเลนที่ไม่มีขยะจะมีจำนวนปลาตีนมากเพราะอุดมสมบูรณ์"
นางสาวสิริยาภรณ์ คำประเทือง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หนึ่งในทีมโรงเรียนดอนจานวิทยาคม จ.กาฬสินธุ์ รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากผลงานเรื่อง “การศึกษาภาวะเสี่ยงการระบาดของไข้เลือดออกในเขตอำเภอดอนจานเพื่อประดิษฐ์อุปกรณ์ตัดวงจรชีวิตยุง” เล่าว่า ได้นำภาวะปัญหาสาธารณสุขชุมชนคือ โรคไข้เลือดออกมาทำการศึกษาวิจัย เพราะอำเภอดอนจาน เป็น1 ใน 3 พื้นที่ของจ.กาฬสินธุ์ ที่มีการระบาดของไข้เลือดออกมากที่สุด จึงทำการวิจัยภาวะเสี่ยงการระบาดของไข้เลือดออกในพื้นที่พร้อมทั้งทำอุปกรณ์ตัดวงจรชีวิตยุง
"ใช้เวลาศึกษาวิจัย 2 เดือน เริ่มสำรวจจำนวนลูกน้ำยุง บันทึกข้อมูลและทำอุปกรณ์ตัดวงจรชีวิตยุง พบว่าเกิดประสิทธิผลมาก ราคาต้นทุนเพียง170 บาท สามารถช่วยลดลูกน้ำยุงได้ ซึ่งโรงเรียนให้การสนับสนุนและนำไปขยายผล การเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ได้รับประโยชน์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยของกลุ่มตนเองและจากกลุ่มนักเรียนอื่นๆ อย่างมากมาย"
................................................
ประกาศผลผู้ได้รับรางวัล GLOBE Student Research Competition 2018
ผลการประกวดงานวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมประจำปี 2561 แบ่งเป็น 3 ระดับคือระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีการนำเสนอ 2 แบบคือ ประเภทการนำเสนองานวิจัยแบบปากเปล่า และการนำเสนองานวิจัยแบบโปสเตอร์ มีโรงเรียนที่ได้รับรางวัลดังนี้
1.ประเภทการนำเสนองานวิจัยแบบปากเปล่า
ระดับประถมศึกษา รางวัลชนะเลิศ โรงเรียนเทศบาลบ้านคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง ผลงาน“สมบัติและการเจริญเติบโตของพริก Capasicum frutescens L. ในพื้นที่ ต.พญาขัน อ.เมือง จ.พัทลุง”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม จ.เชียงใหม่ ผลงาน “ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพน้ำในลุ่มแน่น้ำฮาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง โรงเรียนดาราวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ผลงาน“การศึกษาลักษณะพื้นที่ที่ส่งผลต่อภาชนะการเก็บน้ำและจำนวนลูกน้ำยุง”
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
รางวัลชนะเลิศ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ผลงาน “การศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางกายภาพที่มีผลต่อจำนวนประชากรและการตอบสนองของปลาตีน บริเวณป่าชายเลนอ่าวไทยตอนบน รูป ก 7 จังหวัด เพื่อพัฒนาโปรแกรมจำนวนประชากรของปลาตีนจากค่าความชื้นสัมพัทธ์ (HPR)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง โรงเรียนดอนจานวิทยาคม จ.กาฬสินธุ์ ผลงาน “ศึกษาคุณภาพน้ำจากแหล่งน้ำ ที่รองรับพื้นที่ทางการเกษตรและใช้พืชลอยน้ำบางชนิดปรับปรุงคุณภาพน้ำ”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ผลงาน "ปัจจัยที่มีผลต่อค่ารังสีอัลตราไวโอเลตในอำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียง จังหวัดเชียงใหม่”
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
รางวัลชนะเลิศ โรงเรียนดอนจานวิทยาคม จ.กาฬสินธุ์ ผลงาน “ศึกษาภาวะเสี่ยงการระบาดของไข้เลือดออกในเขตอ.ดอนจานเพื่อประดิษฐ์อุปกรณ์ตัดวงจรชีวิตยุง”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ผลงาน“การศึกษาชนิดของผู้ล่าลูกน้ำยุงและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความอุดมสมบูรณ์ของผู้ล่าในพื้นที่ของจ.ตรัง”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง โรงเรียนชุมแพศึกษา จ.ขอนแก่น ผลงาน “การศึกษาความสัมพันธ์ของความชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิของอากาศกับชนิดและปริมาณของแมลงศัตรูข้าว”
2.ประเภทการนำเสนองานวิจัยแบบโปสเตอร์
มีโรงเรียนที่ได้รับรางวัล ดังนี้รางวัลขวัญใจมหาชน โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม จ.เชียงใหม่ ผลงานเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพน้ำในลุ่มแม่น้ำฮาว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ระดับประถมศึกษา รางวัลดีเด่น โรงเรียนเซนต์โยเซฟทิพวัล จ.สมุทรปราการ ผลงาน “ผลของการใช้ธัญพืชเป็นวัสดุคลุมดินมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นโป๊ยเซียนในกระถางประหยัดน้ำ”
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รางวัลดีเด่น โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ผลงาน “การบำบัดน้ำเสียโดยใช้ผงแทนนินจากเปลือกเงาะ”
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รางวัลดีเด่น โรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี ผลงาน “การศึกษาและเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของวัสดุปลุกพืชจากกาแฟที่เหมาะสมต่อการใช้แทนดินปลูก”