ในคอลัมน์นี้ขออนุญาตเล่ากิจกรรมอบรมถ่ายภาพดาราศาสตร์ในรูปแบบมาราธอนในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับกิจกรรมนี้ผมใช้ชื่อว่า Astrophotography Marathon 2018 ซึ่งเราจัดกันในรูปแบบการถ่ายภาพในช่วงเวลาที่ต่างกัน โดยเริ่มถ่ายภาพกันตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงเช้า เรียกว่าไม่ต้องนอนกันเลยทีเดียว เพราะทุกช่วงเวลาท้องฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงตลอด ทำให้สามารถถ่ายภาพทั้งกลุ่มดาว ปรากฏการณ์ วัตถุท้องฟ้าต่างๆ ได้ตลอดทั้งคืน
สำหรับปีนี้รับสมัครผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพียง 100 ท่านเท่านั้น ค่าลงทะเบียนท่านละ 1200 โดยทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดรถตู้รับ-ส่ง จาก Astro Park ถึงดอยอินทนนท์ พร้อมบริการอาหาร ผู้เข้าร่วมเพียงแค่เตรียมอุปกรณ์ถ่ายภาพและเครื่องกันหนาวให้พร้อมเท่านั้น ก็พร้อมไปลุยถ่ายภาพกันทั้งคืนกันครับ
เราเลือกสถานที่จัดกิจกรรม Workshop กันที่ยอดดอยอินทนนท์ เนื่องจากเป็นสถานที่ ที่มีความสูงเกินกว่า 2,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ ซึ่งปกติพวกฝุ่นละอองในอากาศหรือหมอกควันจะปกคลุมท้องฟ้าในระดับความสูงไม่เกิน 2,000 เมตร โดยประมาณ ทำให้บริเวณยอดอยอินทนนท์พ้นจากปัญหาฝุ่น หมอกควันเหล่านี้ (อันนี้ต้องทำหนังสือขออนุญาตนะครับ)
เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณศูนย์ควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์ หรือที่เรียกกันว่า สถานีเรดาร์ เราเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการปูพื้นฐานทางดาราศาสตร์เบื้องต้น และการแนะนำวิธีการและเทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งออกเป็น 5 ช่วงเวลาคือ
18.00 – 18.30 น. การถ่ายภาพแสงสนธยา (Twilight)
18.30 – 19.30 น. การถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light)
19.30 – 23.30 น. การถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศ กาแล็กซี เนบิวลา (Deep Sky Object)
00.00 – 03.00 น. เทคนิคการถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star Trails)
03.00 – 05.30 น. การถ่ายภาพทางช้างเผือก (MilkyWay)
นอกจากนั้นยังแนะนำการทำ Polar Alignment สำหรับกล้องโทรทรรศน์ในการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า ซึ่งจำเป็นมากสำหรับใครที่ต้องการเรียนรู้การถ่ายภาพแบบนักดาราศาสตร์ รวมทั้งการแนะนำอุปกรณ์ตามดาว กล้องและเลนส์สำหรับการถ่ายภาพ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการป้ายยา ให้หลงใหลการถ่ายภาพดาราศาสตร์มากขึ้นก็เป็นได้
หลังจากเรียนรู้เทคนิคและวิธีการกันแล้ว ก็มาถึงช่วงเย็นเราเริ่มต้น Workshop กันด้วยการรอถ่ายแสงเย็น หรือแสงสนธยา (Twilight) ตั้งแต่เวลา 18.00 – 18.30 น. ตรงบริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์ แต่น่าเสียดายที่ปีนี้สภาพท้องฟ้าช่วงเย็นไม่ค่อยจะเป็นใจเท่าไหร่นัก
หลังจากสิ้นแสงสนธยา เวลา 18.30 – 19.30 น. ก็ต่อกันด้วยการถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light) แต่เนื่องจากปีนี้ท้องฟ้ามีหมอกควันค่อนข้างมาก ทำให้ท้องฟ้าบริเวณขอบฟ้าไม่ใสเคลียร์ แสงจักรราศีในวันนั้นค่อนข้างจางจนแทบสังเกตไม่เห็น คงต้องยอมรับว่าท้องฟ้าบ้านเราใน 2-3 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปค่อนข้างมาก
เมื่อหมดแสงจักรราศีก็เข้าสู่ช่วงกลางคืนอย่างแท้จริง เวลา 19.30 – 23.30 น. เราเริ่มต้นการถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศ กาแล็กซี เนบิวลา (Deep Sky Object) ด้วยการเรียนรู้วิธีการหาดาวเหนือจากกลุ่มดาวเรียงเด่นบนท้องฟ้า เช่น กลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือที่คนไทยเรียกว่ากลุ่มดาวจระเข้ นอกจากนั้นยังสามารถใช้กลุ่มดาวนายพรานในการหาตำแหน่งดาวเหนือได้เช่นกัน รวมทั้งการวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า และการหาตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ที่เราจะถ่ายกันในค่ำคืนนี้
นอกจากผู้เข้าร่วมยังได้ฝึกปฏิบัติการทำ Polar Alignment สำหรับกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้การติดตามวัตถุท้องฟ้ามีความแม่นยำในการถ่ายภาพแบบเปิดหน้ากล้องนานๆ
ในปีนี้เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่สามารถถ่ายภาพเส้นแสงดาวกันได้ เนื่องจากสภาพท้องฟ้าไม่เป็นใจ ในคืนดังกล่าวท้องฟ้าในช่วงกลางดึกมีเมฆปกคลุมค่อนข้างมาก ประกอบกับมีความชื้นในอากาศค่อนข้างสูง จึงเป็นช่วงที่ผู้เข้าร่วมอบรมได้พอมีเวลางีบหลับกันนิดหน่อย
ในช่วงสุดท้ายของการถ่ายภาพเวลา 03.00 – 05.30 น. ก็ถึงเวลาการถ่ายภาพทางช้างเผือก (MilkyWay) ซึ่งเป็นไฮไลท์ของการถ่ายภาพในงานนี้กันเลยก็ว่าได้ ท้องฟ้าเริ่มเป็นใจและใสเคลียร์ขึ้นเรื่อยๆ จนสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ช่วงเวลาดังกล่าวจะมีความชื้นค่อนข้างสูงแต่อุปกรณ์กันฝ้าที่แจกให้กับผู้เข้าร่วมทุกคนก็สามารถป้องกันได้เป็นอย่างดี
ส่วนตัวผมคิดว่าถึงแม้สภาพอากาศบริเวณขอบฟ้าจะมีหมอกควันเล็กน้อย ซึ่งส่งผลต่อการปรับตั้งค่า WB ที่ค่อนข้างลำบาก แต่อย่างไรก็ตามการเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้ทุกคนได้ทักษะในการนำไปรับใช้ในการถ่ายภาพสถานที่อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนก็สามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้กันทุกคน
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน