xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "ขยะอวกาศ" กับโปสเตอร์ 1 หน้ากระดาษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์ จับมือทำโปสเตอร์ให้ความรู้เรื่องขยะอวกาศ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน และลดความตื่นตระหนก

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ได้ติดตามสถานการณ์สถานีอวกาศเทียนกง-1 ของจีนที่กำลังตะตกสู่โลกอย่างใกล้ชิด โดยร่วมกับองค์กรอวกาศจากประเทศต่างๆ ซึ่งคาดการณ์ว่าสถานีอวกาศดังกล่าวจะตกสู่โลกระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-10 เม.ษ.61นี้

จิสด้ายังได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์เทียนกง -1 ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกายภาพและการจัดการวัตถุอันตรายเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน โดยได้ดำเนินการจัดทำแผนเผชิญเหตุ และคู่มือปฏิบัติการฯ รวมถึงการจัดการชิ้นส่วนหรือวัตถุอันตราย เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้เข้าใจและมีแนวทางในการจัดการกับชิ้นส่วนที่อาจจะตกลงมาในประเทศไทย ถึงแม้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้นจะน้อยมากก็ตาม

ล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับจิสด้า จัดทำคู่มือ “ชวนคุณให้รู้จักขยะอวกาศ” ขึ้นเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนเกี่ยวกับขยะอวกาศหรือเศษชิ้นส่วนอวกาศที่อาจจะตกลงมา ซึ่งเป็นการลดความตระหนก และให้ประชาชนได้รับทราบแนวทางการปฏิบัติตนเมื่อประสบเหตุได้อย่างปลอดภัยและถูกวิธี

คู่มือดังกล่าวสรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับขยะอวกาศไว้ในภาพโปสเตอร์ 1 ภาพ เช่น ปัจจุบันมีขยะอวกาศโคจรรอบโลกกว่า 500,000 ชิ้น , ขยะอวกาศแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ขยะอวกาศที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น เศษหินหรืออุกกาบาต และขยะอวกาศที่เกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถานีอวกาศ ดาวเทียม หรือจรวดนำส่งดาวเทียม

เมื่อมีขยะอวกาศหรือเศษชิ้นส่วนจากอวกาศตกลงมาสู่โลก อาจทำให้เกิดการระเบิด อัคคีภัย มีสารเคมีวัตถุอันตราย หรือกัมมันตรังสี โดยข้อมูลจากโปสเตอร์ให้ความรู้จากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวิทย์เผยให้เห็นว่า ขนาดของขยะอวกาศที่ใหญ่ขึ้นจะส่งผลกระทบได้มากกว่า

ขยะอวกาศทั้งขนาดเล็กหรือใหญ่กว่า 3 เมตร มีโอกาสให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสีชีวิต รวมถึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน แต่กรณีของขยะที่ใหญ่กว่า 3 เมตร ยังอาจก่ออันตรายจากเชื้อเพลิงที่หลงเหลือแก่ผู้ที่เข้าไปสัมผัสขยะอวกาศเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งกรณีของเทียนกง-1 ที่กลายเป็นขยะอวกาศ และกรณีขยะอวกาศอื่นๆ หากมีผู้พบเห็นชิ้นส่วนสามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น