xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ผลิตเบียร์แบบไม่พึ่ง “ฮ็อพ” พืชราคาแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ผลิตเบียร์ด้วยเทคนิคที่ไม่ต้องใช้ฮ็อพ พืชราคาแพงและเปลืองน้ำ (ภาพประกอบจากแฟ้ม FRED TANNEAU / AFP)
นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ผลิตเบียร์แบบไม่พึ่ง “ฮ็อพ” พืชราคาแพงและต้องใช้น้ำในการเพาะปลูกมาก แต่ยังได้เบียร์คราฟต์ที่คงรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ เผยเป็นเทคนิคที่ช่วยให้อุตสาหกรรมลดการพึ่งพิงพืชชนิดนี้

เทคนิคการผลิตเบียร์โดยไม่ใช้ “ฮ็อพ” (hops) พืชราคาแพงที่ต้องใช้น้ำเพาะปลูกในปริมาณมากเพื่อผลิตเบียร์คราฟต์นี้ ได้เผยแพร่ในวารสารวิชาการเนเจอร์คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กลีย์ (University of California Berkeley) สหรัฐฯ

เอเฟพีรายงานว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ซอฟท์แวร์ตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อดัดแปลงจีโนมของยีสต์ที่ใช้ผลิตเบียร์ ให้มียีนของพืชจำพวกมินท์และกะเพรา ซึ่งให้มีเบียร์ที่มีรสชาติเหมือนเติมฮ็อพในกระบวนการผลิต

เจย์ คีสลิง (Jay Keasling) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเคมีและชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กลีย์ เผยว่าพวกเขาได้ใช้เครื่องมือที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้ และพัฒนาขึ้นเพื่อควบคุมกระบวนการเมตาบอลิซึมเพื่อผลิตปริมาณกลิ่นฮ็อพที่เหมาะสม

ผลที่ได้ออกมานั้นทำให้ตัวแทนจากบริษัทผลิตเบียร์ที่อยู่ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยอย่างบริษัทลากูนิตาส์บริวิง (Lagunitas Brewing Company) ยอมรับในรสชาติของเบียร์ที่ผลิตด้วยเทคนิคใหม่ว่า ให้รสชาติของฮ็อพมากกว่าวิธีผลิตแบบดั้งเดิม

ชาร์ลส เดนบี (Charles Denby) หนึ่งในทีมวิจัย บอกเอเอฟพีอย่างมั่นใจว่า เบียรืจากเทคนิคดัดแปลงพันธุกรรมยีสต์นั้นให้กลิ่นและรสชาติของฮ็อพอย่างไม่รู้สึกว่าขาดการเติมพืชชนิดนี้เลย

ยีสต์ที่ใช้ในการผลิตเบียร์ทางการค้านั้นมีชุดโครโมโซม 4 ชุด ซึ่งต่างจากสายพันธุ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการวิจัยที่ปกติจะมีโครโมโซมชุดเดียว ดังนั้นนักวิจัยต้องเติมยีนที่เหมือนกัน 4 ตัว ให้โครโมโซมแต่ละชุด เพื่อสร้างสายพันธุ์ยีสต์ที่ทนต่อกระบวนการผลิตเบียร์ได้

สำหรับฮ็อพนั้นถือเป็นพืชที่เปลืองทรัพยากรในการผลิต โดยการผลิตเบียร์ทุก 1 แกลลอนนั้น ต้องใช้น้ำมากถึง 50 แกลลอน เพื่อปลูกฮ็อพ และยิ่งกระแสเบียร์คราฟท์ที่มาแรง ทำให้มีความต้องการใช้ฮ็อพต่อปริมาณเบียร์คราฟท์มากกว่าเบียร์ลาเกอร์และเบียร์เอล ซึ่งนำไปสู่การลดจำนวนของฮ็อพบางสายพันธุ์

เดนบีเสริมอีกว่ามากกว่านั้นแล้ว เรายังต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเพื่อผลิต ขนส่งและเก็บรักษาฮ็อพ ดังนั้น ในอีกแง่หนึ่งการสังเคราะห์กลิ่นฮ็อพให้เบียร์นั้นก็ช่วยลดการใช้น้ำและปุ๋ยลงไปมหาศาล

“ความหวังของผมคือหากเราใช้เทคโนโลยีเพื่อผลิตเบียร์ที่เยี่ยมยอด ซึ่งผลิตด้วยกระบวนการที่ยั่งยืนมากขึ้นแล้ว ผู้คนก็จะให้การต้อนรับได้ไม่ยาก” เดนบีกล่าว

ทั้งนี้ ทีมวิจัยวางแผนที่จะเดินหน้าพัฒนาสายพันธุ์ยีสต์ใหม่ๆ เพื่อผลิตเบียร์ที่มีกลิ่นและรวชาติหลากหลายมากขึ้น รวมถึงตั้งตาคอยที่จะได้ทดสอบผลพวงจากงานวิจัย ซึ่งคีสลิงกล่าวว่า การใช้เทคนิคนี้ควบคุมการผลิตกลิ่นต่างๆ นี้จะให้เบียร์ที่มีรสชาติของฮ็อพที่กลทกล่อมมากขึ้น รวมทั้งให้รสชาติที่ขมขึ้นมากกว่าที่ได้โดยธรรมชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น