xs
xsm
sm
md
lg

“ฉีดไข่สุนัข” ทางเลือกควบคุมประชากรหมาจรจัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุนัขเพื่อนยามยากของมนุษย์ ไม่ว่าจะสุข ทุกข์ หรือเศร้าเพียงใดสุนัขก็ไม่เคยที่เรา แต่ตอนนี้ทั้งสุนัขและมนุษย์กำลังเจอกับปัญหาที่เรียกตัวเองว่า ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ โรคที่สามารถแพร่จากสัตว์สู่คนและก่อให้เกิดการเสียชีวิตเนื่องจากไม่มีวิธีรักษา แต่ประเทศไทยจะทำอย่างไรในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ทางออกเดียวของเรื่องนี้คงเป็นควบคุมประชากรสัตว์อย่างสุนัขและแมว

สพ.ญ.นัยนา อภิชาตพันธุ์ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เทศบาลนครสมุทรปราการกล่าวว่า การควบคุมประชากรสุนัขและแมวมีด้วยกัน 4 วิธีคือ การฉีดยาคุมกำเนิดในสัตว์เพศเมียซึ่งวิธีนี้ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ดี แต่ปรากฏว่าเกิดผลข้างเคียงต่อสัตว์คือมดลูกอักเสบหรือมดลูกเป็นหนอง วิธีที่ 2 คือการทำหมันโดยการผ่าตัดรังไข่และมดลูกในสัตว์เพศเมียซึ่งเป็นวิธีที่นิยม แต่ก็เป็นวิธีที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญในการทำการผ่าตัด เพราะต้องทำการผ่าตัดเอารังไข่และมดลูกทิ้ง และการผ่าตัดในแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงไม่สามารถทำได้อย่างแพร่หลาย

วิธีที่ 3 คือการทำหมันโดยการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออกในสัตว์เพศผู้ ซึ่งประสบปัญหาเดียวกับการผ่าตัดทำหมันในเพศเมียที่จำนวนคนและจำนวนงบประมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ และวิธีสุดท้ายคือการกักบริเวณเพื่อพิสูจน์ว่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่เป็นเวลา 5 วันก่อนนำไปกำจัดทิ้งหากแสดงอาการติดเชื้อ แต่ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ในการควบคุมประชากรสุนัขนั้น คือการฉีดทำหมันด้วยยาซิงค์กลูโคเนต หรือเรียกอีกอย่างว่า “ฉีดไข่หมาแบบการุณย์”

สพ.ญ.นัยนา เปิดเผยว่าแรกเริ่มในการทำหมันสุนัขด้วยการฉีดลูกอัณฑะนั้น เกิดจากได้อ่านบทความของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ในหนังสือพิมพ์ซึ่งพูดถึงโครงการ ‘รักชีวิต รักสุนัข’ โดยในบทความยังมีการกล่าวถึงการทำหมันสุนัขเพศผู้ด้วยการฉีดซิงค์กลูโคเนตเข้าลูกอัณฑะ จากนั้นจึงได้ไปขอความรู้ด้านวิชาการในการฉีดทำหมันจาก น.สพ.วีระ เทพสุเมธานนท์ ซึ่งตอนนี้เป็นอดีตผู้ทรงคุณวุฒิ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และได้ยาซิงค์กลูโคเนตมา 40 ขวดสำหรับทำหมันสุนัข 40 ตัว

ในช่วงแรกๆที่ได้ยามาทางผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังเคลือบแคลงเรื่องประสิทธิภาพของยาตัวนี้ สพ.ญ.นัยนาจึงได้ทดลองในสุนัขที่เทศบาลนครจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 79 ตัวด้วยระยะเวลา 16 เดือน โดยสุนัขที่นำมาทดลองแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ สุนัขจรจัด สุนัขมีเจ้าของและสุนัขที่นำไปเลี้ยงที่สถานพักพิง โดยก่อนการฉีดทำหมันทางเจ้าหน้าที่ได้มีการสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ชาวบ้านก่อน

ยาซิงค์กลูโคเนตชนิดฉีด ซึ่งเป็นตัวยาที่มีการคิดค้นมานานแล้วในสหรัฐฯ โดยภายในตัวยามีการผสม Arginyl-glycyl-aspartic acid (RGD) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรดอะมิโนชนิดหนึ่งของกรดแอสพาร์ติก เพื่อที่จะสามารถผ่านเข้าไปในเซลล์และออกฤทธิ์ได้ง่าย เมื่อฉีดเข้าไปยังอัณฑะซึ่งเป็นการฉีดเข้าไปเฉพาะที่ จะส่งผลให้ตัวหลอดท่ออสุจินั้นบีบตัวลงหรือมีผลทำให้การสร้างเซลล์อสุจินั้นหายไป ลูกอัณฑะจะค่อยๆ หดลงเหลือเพียง 25% และสุนัขจะเป็นหมัน 100% หลังจากฉีดแล้วประมาณเดือนหนึ่ง

น.สพ.วีระ กล่าวเสริมว่าในการฉีดทำหมันก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญอยู่พอสมควร โดยเข็มที่ใช้ต้องมีขนาดรูที่เล็กมากๆ คล้ายเข็มที่ใช้ฉีดอินซูลินเข้าหน้าท้อง เพราะถ้าใช้เข็มรูใหญ่ยาจะเกิดการไหลย้อนออกมา และฤทธิ์ของยาจะก่อให้เกิดเนื้อตายในบริเวณที่ทำการแทงเข็มลงไป เพราะตัวยามีฤทธิ์กัดเป็นแผล แต่ถ้ามีแผลเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว

"ทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งเจ้าของสัตว์ให้ทราบและให้ใช้ยาทาแผลสดไปทา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ถ้าเทคนิคการฉีดไม่ดี โดยหลังจากการฉีดก็สุนัขอาจจะมีอาการปวดอาการบวมบ้าง ซึ่งตัวยานี้มีการทดลองใช้และมีผลการวิจัยรับรองเพียงแค่ในสุนัขเท่านั้น จึงไม่สามารถนำไปใช้ในสัตว์อื่นได้โดยเฉพาะแมวซึ่งเป็นสัตว์ที่แพ้ยาได้ง่าย" น.สพ.วีระระบุ

สำหรับการฉีดทำหมันเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว ประหยัด และเห็นผลเทียบเคียงกับการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออก เนื่องจากยา 1 ขวด ฉีดลูกอัณฑะ 2 ข้าง ใช้เวลา 2 นาทีและสุนัขพักฟื้นเพียง 2 วัน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการฉีดทำหมันแต่ละครั้งไม่เกิน 8 บาท ผลที่ได้คือมีลูกสุนัขเกิดใหม่มีจำนวนลดลงตามเป้าหมายที่ต้องการควบคุมประชากรของสุนัขให้ได้มากที่สุดคือ 50 % ของสุนัขทั้งหมดเพื่อทำให้ประชากรของสุนัขคงที่ และยังสามารถลดโรคบางอย่างที่เกิดจากระบบสืบพันธุ์ ลดพฤติกรรมก้าวร้าวของสุนัขเพศผู้ได้บางส่วน และอาจจะทำให้สุนัขมีอายุยืนขึ้น

หลังจากที่มีการทดลองปฏิบัติและลงมือปฏิบัติจริงกับสุนัขในเทศบาลเมืองนคร ส.พญ.นัยนาได้ร่วมมือและขยายการฉีดทำหมันไปสู่เทศบาลใกล้เคียงอย่างเทศบาลปากน้ำและเทศบาลบางเมือง นอกจากนี้ยังได้ฉีดทำหมันให้สุนัขใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยอาศัยความร่วมมือจาก อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ชาวบ้านในชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ผลคือสามารถฉีดทำหมันสุนัขได้ 379 ตัวภายในเวลา 3 วัน

หากถามว่าวิธีฉีดทำหมันจะแก้ปัญหาเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าด้วยการคุมประชากรได้ดีกว่าวิธีอื่นหรือไม่ น.สพ.วีระ กล่าวตอบว่าวิธีนี้เป็นหนึ่งในทางเลือกของการทำหมันเท่านั้น เพราะความเหมาะสมของการทำหมันของสุนัขตัวหนึ่ง ในแต่ละเวลาและสถานที่ไม่เหมือนกัน โดยสุนัขที่มีเจ้าของหรือมีผู้ดูแล เจ้าของสามารถเลือกได้ว่าต้องการทำหมันด้วยวิธีการใด

"ถ้าเปรียบเทียบกับการทำหมันโดยการผ่าตัดที่ต้องมีขั้นตอนการเตรียมพร้อมสุนัขและขั้นตอนการดูแลหลังจากผ่าตัดที่วุ่นวาย และหลังผ่าตัดสุนัขส่วนใหญ่จะไม่ค่อยร่าเริง เอาแต่นอน และอ้วนเนื่องจากสูญเสียตัวสร้างฮอร์โมนไป วิธีการฉีดทำหมันที่ลูกอัณฑะโดยตรงจะใช้เวลาที่เร็วกว่า อาจไม่ต้องฉีดยาสลบ ขั้นตอนการดูแลหลังจากการฉีดทำหมันไม่ยุ่งยาก อย่างไรก็ตามยังไม่มีการนำยาสำหรับฉีดทำหมันสุนัขใช้ในเชิงการค้า แต่ถ้ามีคลีนิคหรือหน่วยงานใดต้องการนำตัวยาไปใช้ควบคุมประชากรสุนัข จะมีการคิดค่ายาอยู่ที่ขวดละ 8 บาท" น.สพ.วีระกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น