ขณะที่เรากำลังใช้ชีวิตอย่างปกตินั้น “เทียนกง-1” สถานีอวกาศจีนที่หมดอายุและหลุดจากการควบคุมแล้วนั้นกำลังรอวันตกสู่พื้นโลก โดยที่เราไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าขยะอวกาศชิ้นนี้จะสู่จุดใดของโลก แม้ว่าโอกาสจะตกสู่แผ่นดินนั้นน้อยกว่าโอกาสตกในมหาสมุทร แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่
“เทียนกง-1” (Tiangong-1) เป็นสถานีอวกาศที่พัฒนาโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยไม่มีความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสถานีอวกาศรุ่นที่ 3 ถัดจากสถานีอวกาศเมียร์ของสหภาพโซเวียต ซึ่งสถานีอวกาศจีนลำนี้มี 3 ประกอบ คือ โมดูลขับเคลื่อน ห้องปฏิบัติการวิจัย และระบบเทียบท่าอัตโนมัติ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.4 เมตร มีความยาวรวม 10.5 เมตร และมีมวล 8.5 ตัน รองรับลูกเรือสำหรับปฏิบัติงานและอาศัยในระยะสั้นได้ 3 นาย
สถานีอวกาศเทียนกง-1 ถูกส่งขึ้นไปจากฐานปล่อยจรวดในทะเลทรายโกบี ของมณฑลมองโกลเลีย เมื่อ 29 ก.ย.54 สู่วงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) ที่ระยะสูง 264-292 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก และได้ปฏิบัติงานรวม 6 ปี 152 วัน โดยโคจรรอบโลก 36,011 รอบ ซึ่งแต่ละรอบโคจรนั้นใช้เวลา 90 นาที กระทั่งเมื่อเดือน ก.ย.58 สถานีอวกาศลำนี้ได้หมอายุการใช้งานและสูญเสียการควบคุมจากสถานีภาคพื้น โดยมีอัตราการสูญเสียระยะสูง 17.5 เมตรต่อวัน
ข้อมูลจาก น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ ระบุว่า มีคาดการณ์ว่าสถานีอวกาศเทียนกง-1 จะตกสู่พื้นโลกช่วงปลายเดือน มี.ค.-ต้นเดือน เม.ษ.61 โดยคาดการณ์จากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุว่า สถานีอวกาศน่าจะตกสู่พื้นโลกประมาณวันที่ 8 เม.ษ.61 ขณะที่องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจกซา (JAXA) คาดการณ์ว่าเทียนกง-1 จะตกสู่พื้นโลกวันที่ 31 มี.ค.61 โดยอาจจะตกก่อนหรือหลังวันดังกล่าว 8 วัน
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศและแรงเสียดทานของบรรยากาศโลกมีผลต่อทิศทางและอัตราการล่วงหล่นของสถานีอวกาศ จึงเป็นไปได้ยากที่จะคาดการณ์ตำแหน่งการตกถึงพื้นโลกล่วงหน้าหลายวัน โดยการรบุตำแหน่งที่แน่นอนทำได้ล่วงหน้าเพียง 6-7 ชั่วโมงก่อนการตก (Re-entry) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เมื่อสถานีอวกาศอยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 100 กิโลเมตร จะถูกแรงดึงดูดตกสู่พื้นโลกทันที
นอ.ฐากูรรายงานว่า ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (เพื่อพลาง) ศวอ.ทอ หรือลีซา (LESA) ซึ่งมีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาระบบสังเกตการณ์โลก และระบบเฝ้าระวังด้านอวกาศ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ติดตามดาวเทียม ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ สถานีรายงานอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ สังเกตเทียนกง-1 ระหว่างวันที่ 25-26 ก.พ.61 พบว่าสถานีอวกาศได้โคจรข้ามขอบฟ้าของดอยอินทนนท์ในแนวทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่ระยะสูง 252 กิโลเมตร ด้วยความเร็วเฉลี่ย 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยมีลักษณะคล้ายดาวสว่างสีขาวกะพริบเคลื่อนที่ก่อนจางหายไปในเงาโลก
สถานีอวกาศเทียนกง-1 ในปรากฏให้เห็นอีกครั้งเหนือท้องฟ้าไทยเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) และกองทัพอากาศได้นำคณะสื่อมวลชนและคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 50 คนไปรวมสังเกตการโคจรผ่านของสถานีอวกาศ ในมุมเหนือศีรษะบริเวณยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งซึ่งจากสังเกตการณ์ครั้งนั้นสถานีอวกาศอยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 232 กิโลเมตร และจากการจำลองวิถีโคจรของลีซานั้นสถานีอวกาศเทียนกง-1 จะผ่านไทยครั้งสุดท้ายในวันที่ 25 มี.ค.ก่อนตกสู่พื้นโลก
ขณะที่ข้อมูลจาก ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจรของจิสด้า ระบุว่า ข้อมูลล่าสุดจากเครือข่ายเฝ้าระวังทางอวกาศ (Space Surveillance Network: SSN) เมื่อ 28 ก.พ.ระบุว่า สถานีอวกาศเทียนกง-1 จะสู่พื้นโลกไม่เกินวันที่ 10 เม.ย.นี้ แต่ความแม่นยำในคาดการณ์จะมากขึ้นเมื่อสถานีอวกาศอยู่ใกล้โลกมากกว่านี้ โดยจิสด้าได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีความเชี่ยวชาญด้านกายภาพและการจัดการวัตถุอันตราย แต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์เทียนกง-1 และอยู่ระหว่างจัดทำคู่มือปฏิบัติการแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อความเข้าใจและเป็นแนวทางในการจัดการชิ้นส่วนที่อาจตกลงมาสู่ประเทศไทย
สำหรับสถานะของเทียนกง-1 จัดเป็นขยะอวกาศ ซึ่ง นอ.ฐากูรกล่าวว่า ขยะอวกาศในวงโคจรต่ำนั้นมีมาก และทุกครั้งที่ส่งจรวดหรือดาวเทียมก็จะมีขยะอวกาศเกิดขึ้นทุกครั้ง และกำลังเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งดาวเทียมต่างๆ ที่หมดอายุก็ยังโคจรเป็นขยะอยู่ในวงโคจรได้อีกหลายสิบปี แต่โดยปกติแล้วดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานแล้วจะยังมีเชื้อเพลิงเพื่อใช้ควบคุมให้ตกสู่โลกและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ แต่สำหรับเทียนกง-1 นั้นไม่สามารถควบคุมได้
ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ในอีกแง่หนึ่งสถานการณ์ของเทียนกง-1 ก็นับเป็นโอกาสในการพิสูจน์ศักยภาพในการจัดการขยะอวกาศ ซึ่งประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเทคโนโลยีติดตามดาวเทียมได้ แม้ว่าจิสด้าไม่มีเครื่องมือในการติดตามโดยตรง แต่สถานกาณ์ครั้งนี้ป็นอีกตัวอย่างของความร่วมมือที่อาศัยความเชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานสร้างเป็นเครือข่าย
ในการติดตามสถานีอวกาศเทียนกง-1 ครั้งนี้มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดย ดร.อานนท์อานนท์แจกแจงไว้ว่า ได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศมีเครื่องมือที่สามารถติดตามเทียนกง-1 และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ซึ่งมีเทคโนโลยีช่วยในการติดตามวัตถุอวกาศ ส่วนจิสด้านั้นมีซอฟท์แวร์ที่ช่วยในการติดตาม แต่เทคโนโลยีที่มีนั้นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสามารถติดตามวัตถุอวกาศได้จากมุมเดียวคือมุมบนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งจำเป็นต้องมีเครื่องมืออีกหลายตัวเพื่อติดตามได้ครอบคลุมประเทศไทยมากขึ้น
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลล่าสุดของสถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “จับตาเทียนกง-1”