เมื่อวันที่ 11กุมภาพันธ์ ค.ศ.2016 ทีมวิจัยคลื่นโน้มถ่วงที่เมือง Livingston ในรัฐ Louisiana กับที่เมือง Hanford ในรัฐ Washington ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้อุปกรณ์ LIGO (Laser Interferometer Gravitational - Wave Observatory) ในการสังเกตปรากฏการณ์คลื่นโน้มถ่วง โดยใช้หลักการแทรกสอดของแสง ได้รายงานข่าวการตรวจรับคลื่นโน้มถ่วงที่เกิดจากการพุ่งชนกันอย่างรุนแรงหลุมดำสองหลุม ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน ค.ศ.2015
ข่าวนี้ทำให้คนทั้งโลกรู้สึกตื่นเต้น และยินดียิ่ง เพราะนั่นหมายความว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Albert Einstein ที่ได้พยากรณ์เหตุการณ์นี้เมื่อ 100 ปีก่อนว่า ธรรมชาติมีคลื่นโน้มถ่วง อันเป็นคลื่นชนิดใหม่ นอกเหนือจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คลื่นน้ำ คลื่นเสียง คลื่นสึนามิ คลื่นแผ่นดินไหว ฯลฯ
ความพยายามของนักฟิสิกส์และวิศวกรนับพันที่พบคลื่นโน้มถ่วงครั้งนั้นได้ทำให้นักฟิสิกส์ 3 คนได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 2017 คือ (1) Rainer Weiss วัย 85 ปีแห่ง Masschusetts Institute of Technology (MIT) (2) Barry Barrish วัย 81 ปี และ (3) Kip Thorne วัย 77 ปีแห่ง California Institute of Technology (Caltech) ในสหรัฐอเมริกา
ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein ได้พยากรณ์ว่าปริภูมิและเวลาที่อยู่ในบริเวณโดยรอบมวล สามารถยืดออก หดเข้า และบิดโค้งได้ โดยจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นกับลักษณะการเคลื่อนที่ของมวล และการบิดโค้งนี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าแรงโน้มถ่วง โดยเฉพาะเวลามวลเคลื่อนที่ด้วยความเร่ง ปริภูมิ-เวลาโดยรอบมวลจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระลอกคลื่น ในลักษณะเดียวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากประจุไฟฟ้าที่เคลื่อนที่ด้วยความเร่ง
อีก 59 ปีต่อมาคือในปี 1974 Joseph Taylor กับ Russell Hulse ได้สังเกตเห็นดาวพัลซาร์สองดวงที่โคจรรอบกันและกัน ได้เปล่งแสงที่มีความถี่น้อยลงๆ ขณะที่ดาวทั้งสองเคลื่อนที่เข้าใกล้กันตลอดเวลา ความถี่ของแสงที่เปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปตามคำทำนายของ Einstein ทุกประการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพลังงานของคลื่นโน้มถ่วงเกิดจากการสูญเสียพลังงานกลศาสตร์ของดาวพัลซาร์ทั้งคู่ การสังเกตเห็นคลื่นโน้มถ่วงโดยทางอ้อมในครั้งนั้นทำให้ Hulse และ Taylor ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 1993
แต่นักฟิสิกส์ก็ยังไม่สามารถรับคลื่นโน้มถ่วงได้โดยตรง ในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อนนั้น Joseph Weber แห่งมหาวิทยาลัย Maryland ได้เคยพยายามรับคลื่นโน้มถ่วง โดยใช้ทรงกระบอกที่ทำด้วยอะลูมิเนียมมวลหนึ่งตันวางอยู่ในสุญญากาศ และใช้ transducer รับสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดจากการยึดตัวออก และหดตัวเข้าของทรงกระบอก เวลามีคลื่นโน้มถ่วงมาตกกระทบ แม้ Weber จะอ้างสักปานใดว่า อุปกรณ์ของเขารับคลื่นโน้มถ่วงได้แล้ว แต่นักวิจัยทั้งโลกไม่เห็นด้วยกับเทคนิคการวิเคราะห์ผลการทดลองของเขา
ในความพยายามขั้นต่อไป นักฟิสิกส์จึงได้เบนความสนใจจะใช้เทคนิคการแทรกสอดของแสงเพื่อตรวจรับคลื่นโน้มถ่วง ตามข้อเสนอของ M. Gutsenshtein และ V. Pustovoit แห่งมหาวิทยาลัย Moscow ในรัสเซียซึ่งได้แถลงว่าถ้ามีการแบ่งลำแสงเลเซอร์ออกเป็น 2 ส่วน ให้ลำแสงทั้งสองพุ่งไปในแนวตั้งฉากกัน ตามเส้นทางที่เป็นแขนของอุปกรณ์แทรกสอด เมื่อแสงกระทบกระจกราบที่ปลายแขน แสงจะกลับมารวมกัน ทำให้เกิดปรากฏการณ์แทรกสอด แต่ถ้ามีคลื่นโน้มถ่วงเคลื่อนที่ผ่านแขนทั้งสองข้างของอุปกรณ์ แขนข้างหนึ่งจะยืดออก และอีกข้างหนึ่งจะหดเข้า ความยาวของแขนที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดการแทรกสอดที่นักทดลองสามารถเห็นได้
ในปี 1972 Rainer Weiss รู้สึกพอใจกับความคิดที่จะใช้เลเซอร์ตรวจรับคลื่นโน้มถ่วงมาก จึงเขียนโครงการชื่อ Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory (LIGO) ซึ่งมีความยาว 23 หน้ากระดาษ เป็นรายงานเสนอต่อมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) และรายละเอียดของความคิดนี้ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี โดย Kip Thorne ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปจากสถาบัน California Institute of Technology (Caltech) เขาจึงเชิญ Weiss มาทำวิจัยที่ Caltech ในปี 1975 โดยสัญญาจะหาตำแหน่งที่ตั้งของ LIGO ให้ แต่ประวัติความสำเร็จในการทำงานวิจัยของ Weiss มีน้อยมาก Caltech จึงไม่มีตำแหน่งนักวิจัยให้ นั่นหมายความว่า Weiss กับ Thorne และ Ronald Drever ซึ่งเป็นสหายของ Thorne ต้องทดลอง LIGO แยกกัน จนกระทั่งปี 1987 องค์การ National Science Foundation (NSF) ของอเมริกาจึงลงมติบีบบังคับให้คนทั้ง 3 ทำงาน LIGO ร่วมกัน เพราะถ้าไม่เช่นนั้น งบประมาณวิจัยมูลค่า 10,500 ล้านบาทก็จะถูกตัดทันที
ผลที่ตามมาคือ อุปกรณ์ LIGO ที่ Hanford และ Livingston ได้ถือกำเนิด เป็นอุปกรณ์คู่แฝดที่มีโครงสร้างเหมือนกันทุกประการ เพื่อตรวจสอบผลการวัดของกันและกัน และในประเทศอื่นๆ ก็มี LIGO ของตัวเอง เช่น VIRGO ของฝรั่งเศส-อิตาลีที่เมือง Pisa มีแขนของอุปกรณ์ยาว 3 กิโลเมตร และ GEO 600 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับเยอรมัน ที่เมือง Hanover ในเยอรมนี มีแขนยาว 600 เมตร ส่วนที่ TAMA ในเมือง Tokyo ในญี่ปุ่น มีแขนยาว 300 เมตร แขนของ LIGO ที่มีความยาวต่างๆ กันนี้ ก็เพื่อให้สามารถรับคลื่นโน้มถ่วงที่มีความถี่ต่างๆ กันได้
Weiss ผู้ซึ่งได้รับครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบล เกิดเมื่อปี 1932 ที่กรุง Berlin ในเยอรมนี บิดาเป็นแพทย์ มารดาเป็นนักแสดงภาพยนตร์โทรทัศน์ บรรพบุรุษของครอบครัวมีเชื้อชาติยิว จึงทำให้การดำเนินชีวิตในเยอรมนีมีปัญหา เพราะครอบครัวถูกอิทธิพลนาซีกลั่นแกล้ง ดังนั้นจึงพากันอพยพไปเมือง Prague ใน Czechoslovakia แต่ก็ต้องอพยพอีกครั้ง เมื่อกองทัพนาซีบีบบังคับรัฐบาลเชกฯ ให้ยกดินแดนส่วนหนึ่งให้เยอรมนี และรัฐบาลเชกฯ ก็ยินยอม ครอบครัว Weiss จึงตัดสินใจอพยพออกจากยุโรป ไปอเมริกาเมื่อเดือนมกราคม ปี 1939 ก่อนที่ Hitler เข้ายึดครองเชคโกสโลวาเกีย 2 เดือน
เมื่อเดินทางถึงที่อเมริกาใหม่ๆ ตระกูล Weiss ต้องประสบความลำบากมาก เพราะทุกคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย พ่อแม่จึงต้องทำงานเป็นพนักงานโรงงาน ส่วนเด็กชาย Weiss ต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในบ้านกับน้องสาว และได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน Columbia Grammar and Preparatory School แต่ Weiss ไม่ชอบเรียนหนังสือเลย จึงหนีเรียนบ่อย เพื่อไปเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ และใช้เวลาว่างซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้บรรดานักเลงใกล้บ้าน เพื่อจะได้ไม่ถูกรังแกและถูกรีดไถเงิน
ชีวิตในวัยเด็กของ Weiss จึงไม่มีความสุข แต่การเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ทำให้พ่อแม่ยินยอมให้มีสิทธิ์พิเศษบ้าง เช่น ให้อยู่ในห้องที่ใหญ่ที่สุดของบ้าน แม้จะไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่ Weiss ก็สอบผ่านทุกครั้ง เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาได้ไปเรียนวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าที่ MIT เพราะต้องการเป็นช่างซ่อมวิทยุ แต่พบว่าหลักสูตรที่นั่นเน้นการฝึกงานในโรงไฟฟ้า จึงเปลี่ยนใจไปเรียนฟิสิกส์แทน เพราะฟิสิกส์เป็นวิชาที่กำหนดเกณฑ์ต่ำที่สุดในการเข้าเรียน และ Weiss ได้เรียนฟิสิกส์จนกระทั่งถึงชั้นปี 3 จึงขอลาออก เพราะต้องการติดตามคนรักไปที่รัฐ Illinois เมื่อรักสลาย Weiss ได้กลับไปเรียนต่อนอกเวลาที่ MIT และทำงานในห้องปฏิบัติการเพื่อหาเงินเสียค่าเล่าเรียน จนกระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่ออายุ 23 ปี อีก 7 ปีต่อมาก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้วยวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับนาฬิกาอะตอม จากนั้นไปฝึกทำวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Princeton กับ Robert Dicke ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเป็นเวลาสองปีแล้ว จึงกลับไปเป็นอาจารย์พิเศษที่ MIT
ในเวลานั้นวงการฟิสิกส์กำลังตื่นเต้นกับข่าวการพบรังสีไมโครเวฟภูมิหลัง (Cosmic Microwave Background CMB) ที่ยังเหลืออยู่หลัง Big Bang และทฤษฎีทำนายว่า อุณหภูมิของรังสีควรลดลงๆ จนมีค่าเฉลี่ยประมาณ 2.7 เคลวิน แต่การวัดความเข้มของรังสีที่มีความยาวคลื่นสั้นกลับพบว่าได้ค่าสูงกว่าที่ทฤษฎีทำนาย เพื่อพิสูจน์ว่าเหตุการณ์ทุกอย่างไม่มีอะไรผิดปกติ Weiss ได้นำอุปกรณ์วัดรังสีติดตั้งในบอลลูน แล้วปล่อยขึ้นสำรวจสภาพอากาศเหนือบรรยากาศโลก และตรวจพบว่า ทฤษฎี Big Bang ยังถูกต้องทุกประการ
ผลงานนี้ทำให้ Weiss มีชื่อเสียงโด่งดัง และช่วยให้ Weiss ได้งานเป็นอาจารย์ประจำที่ MIT
ในปี 1976 เมื่อ NASA ส่งดาวเทียมชื่อ Cosmic Background Explorer (COBE) ขึ้นอวกาศเพื่อวัดอุณหภูมิของ CMB อย่างละเอียดสุดๆ คือ ผิดพลาดไม่เกิน 0.1 องศา จนทำให้สามารถวัดความแปรปรวนของอุณหภูมิในบริเวณต่างๆ ของเอกภพได้ ผลงานนี้ทำให้ John Mather กับ George Smoot ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 2006 ทั้งๆ ที่นักฟิสิกส์หลายคนคิดว่า Weiss น่าจะได้ร่วมรับรางวัลโนเบลครั้งนั้นด้วย เพราะเขามีส่วนในการออกแบบดาวเทียม
เมื่อ Kip Thorne ได้เข้ามาร่วมทำงานกับ Weiss เขาคือคนที่ตระหนักว่า ความสำเร็จของ LIGO จะเกิดขึ้นได้จากการรู้แหล่งที่มีพลังงานโน้มถ่วงมหาศาล ซึ่งอาจจะได้จากการชนกันของหลุมดำ แต่การคำนวณแสดงให้เห็นว่าหลุมดำต้องอยู่ใกล้โลกมาก LIGO จึงจะสามารถรับสัญญาณได้ หรือถ้ามีดาวนิวตรอนสองดวงที่โคจรวนรอบกันและกัน เมื่อดาวทั้งสองชนกัน ก็จะมีคลื่นโน้มถ่วงให้ LIGO สามารถรับได้เช่นกัน โดยดาวนิวตรอนทั้งสองอาจจะอยู่ไกลจากโลกไม่เกิน 65 ล้านปีแสง
ในปี 2015 ที่ LIGO รับคลื่นโน้มถ่วงจากการชนกันของหลุมดำได้ คนทั้งโลกรู้ว่าจะมีนักฟิสิกส์สามคนที่จะได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ แต่จะเป็นใครบ้าง ระหว่าง Weiss, Thorne, Drever และ Barish
ความคิดเห็นได้แตกแยกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายนักฟิสิกส์คลื่นซึ่งคิดว่า Weiss, Thorne กับ Drewer ควรจะได้ ส่วนอีกฝ่ายคือ ฝ่ายนักฟิสิกส์อนุภาคมูลฐานซึ่งมีความคิดว่า Weiss, Thorne และ Barish น่าจะได้รับเกียรติมากกว่า
ในกลุ่มนักฟิสิกส์อนุภาค บุคคลสำคัญที่ความเห็นมีน้ำหนักมาก ได้แก่ Samuel Ting (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1976) และ David Gross (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1979) ซึ่งกล่าวว่าไม่เคยรู้จัก Drewer เลยว่ามีบทบาทอย่างไรบ้างในการสร้าง LIGO
ความแตกแยกของการสนับสนุนได้ยุติเมื่อ Drewer ได้เสียชีวิตลงในเดือนมีนาคม ค.ศ.2017 ก่อนที่จะมีการประกาศผลรางวัลโนเบล
ก่อนที่จะได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 2017 ทั้ง Weiss กับ Thorne และ Barish ได้รับรางวัลมาแล้วหลายรางวัล เช่นรางวัล Special Breakthrough, รางวัล Gruber Cosmology, รางวัล Shaw Prize in Astronomy และรางวัล Kavli Prize in Astrophysics เป็นต้น
ข่าวที่ยิ่งใหญ่กว่าคลื่นโน้มถ่วงปี 2015 ได้เกิดขึ้นอีก เมื่อเวลา 12.41 นาฬิกาตามเวลามาตรฐานสากลของวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ.2017 เพราะในวันนั้นได้มีดาวนิวตรอนสองดวงที่มีมวล 1.1 และ 1.6 เท่าของดวงอาทิตย์ได้พุ่งชนกัน แล้วทำให้เกิดทั้งคลื่นโน้มถ่วง และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คลื่นนี้มีชื่อเป็นทางการว่า GW 170817 โดยเหตุการณ์ได้เกิดขึ้น ณ ที่ๆ อยู่ห่างจากโลก 130 ล้านปีแสง
เมื่อหอสังเกตการณ์ LIGO ของอเมริกา และ Virgo ของอิตาลี ได้เห็นรังสีแกมมา รังสีเอ็กซ์ แสงที่ตาเห็น และรังสีอินฟราเรดเกิดขึ้น หลังจากที่อุปกรณ์ได้รับคลื่นโน้มถ่วง นี่เป็นเหตุการณ์ที่นักฟิสิกส์ทั่วโลกตื่นตาและตื่นใจมาก
เพราะตลอดเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาหลังจากที่อุปกรณ์ LIGO ในเมือง Hanford และ Livingston ในอเมริกากับอุปกรณ์ Virgo ที่เมือง Pisa ในอิตาลีสามารถรับสัญญาณจากคลื่นโน้มถ่วงได้รวม 4 ครั้ง มาครั้งนี้ LIGO ก็ได้รับสัญญาณอีกเป็นครั้งที่ห้า โดยคลื่นโน้มถ่วงที่รับได้ครั้งนี้แตกต่างจากสี่คลื่นแรก คือ จากเดิมที่คลื่นมีการสั่นสะเทือนเป็นเวลา 2-3 วินาทีด้วยความถี่ 10 รอบ/วินาที มาคราวนี้คลื่นใหม่สั่นสะเทือนนานถึง 100 วินาที และด้วยความถี่ต่างๆ กันหลายพันรอบ/วินาที
ในขณะที่คลื่นโน้มถ่วงเก่า เกิดจากการชนกันระหว่างหลุมดำ แต่คลื่นใหม่เกิดจากการชนกันของดาวนิวตรอน และในการชนกันครั้งหลังนี้ ไม่เพียงแต่คณะนักฟิสิกส์ที่ LIGO กับ Virgo เท่านั้นที่ “เห็น” เหตุการณ์ นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์อื่นๆ ทั่วโลกก็ได้เห็นเหตุการณ์ด้วย เพราะการชนกันครั้งนั้น ได้มีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นต่างๆ ตั้งแต่รังสีแกมมา รังสีเอ็กซ์ แสงที่ตาเห็น จนกระทั่งถึงรังสีอินฟราเรดออกมาด้วย ให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศชื่อ Fermi Gamma-ray Space Telescope ได้เห็นการระเบิดปล่อยรังสีแกมมาพลังงานสูง (gamma ray burst) หลังจากที่เห็นคลื่นโน้มถ่วง 2 วินาที
การส่งข่าวอย่างทันทีทันใดให้บรรดาเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลกติดตามสังเกตเหตุการณ์ได้ และช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณตำแหน่งที่เหตุการณ์เกิดได้ว่า มาจากกลุ่มดาว Hydra ตรงบริเวณขอบของกาแล็กซี่ NGC4993 และผลลัพธ์หลังการชนได้ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เปลี่ยนสีจากสีน้ำเงินไปเป็นสีแดงมัวๆ อย่างช้าๆ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นก็มีรังสีเอ็กซ์ และคลื่นวิทยุออกมาด้วย
เหตุการณ์นี้ได้ทำให้หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ประมาณ 70 แห่งทั่วโลกหันกล้องโทรทรรศน์ทั้งที่อยู่บนโลกและในอวกาศพุ่งตรงไปที่เหตุการณ์ชนกันของดาวนิวตรอน ทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่สำคัญมาก 3 เรื่อง คือ
1. เหตุการณ์ชนกันของดาวนิวตรอนสามารถอธิบายที่มาของปรากฏการณ์ระเบิดปล่อยรังสีแกมมา (gamma ray burst) ที่รุนแรงได้ เพราะตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนนี้ นักทฤษฎีฟิสิกส์ดาราศาสตร์เคยคิดว่า การระเบิดปล่อยรังสีแกมมาเกิดจากการที่ดาวนิวตรอนยุบตัวเป็นหลุมดำ และเหตุการณ์ปล่อยรังสีแกมมาควรเกิดไม่นานเกิน 2 วินาที ถ้าเหตุการณ์เกิดนานกว่านั้น คือ นานระดับนาที และต้นเหตุจะต้องมาจากการยุบตัวของดาวฤกษ์ที่มีมวลมาก แต่การเห็นเหตุการณ์ปล่อยรังสีแกมมาพลังงานสูงที่เกิดครั้งนี้แสดงว่า ต้นเหตุมาจากดาวนิวตรอน 2 ดวงชนกัน
2. เหตุการณ์ดาวนิวตรอน 2 ดวงชนกันได้ทำให้เกิดดาวชนิดใหม่ชื่อ kilonova ซึ่งเปล่งแสงโชติช่วงชัชวาลสว่างนับพันเท่า (kilo) ของซูเปอร์โนวาธรรมดา และไม่เพียงแต่แสงเท่านั้น ที่ถูกขับออกมาชิ้นส่วนของดาวอันประกอบด้วยอนุภาคนิวตรอนได้ถูกขับออกมาด้วยเป็นกลุ่มก้อนล้อมรอบ kilonova ซึ่งจะรับอนุภาคนิวตรอนที่ถูกขับออกมาเพิ่มเติม ทำให้เกิดธาตุใหม่ที่จะสลายตัวตามกระบวนการที่เรียก r-process (จากคำเต็มว่า rapid neutron capture) ทำให้ได้ธาตุใหม่ที่สามารถเปล่งแสงได้นาน 2-3 วัน จากนั้น ธาตุใหม่ๆ จะดูดซับแสงสีฟ้า แล้วปล่อยแสงสีแดงออกมา ซึ่งก็ตรงตามที่นักดาราศาสตร์สังเกตเห็น
3. ดาว kilonova ยังให้คำตอบอีกว่า บรรดาธาตุที่หนักกว่าเหล็ก เช่น เงิน ทองคำ แพลททินัม ฯลฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร ในอดีตนักฟิสิกส์นิวเคลียร์ได้รู้มานานแล้วว่า ธาตุหนักเกิดจากกระบวนการ r-process แต่ไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้สามารถเกิดได้ ณ ที่ใด ถึงวันนี้ ทุกคนรู้แล้วว่า บรรดาธาตุหนักในเอกภพเกิดจากการชนกันอย่างรุนแรงของดาวนิวตรอน
ในส่วนของแสงที่ตาเห็นซึ่งถูกปล่อยออกมาจากเหตุการณ์ชนกันครั้งนั้น หอดูดาวต่างๆรอบโลก ได้เห็นแสงหลังการชนเป็นเวลานานประมาณ 10 ชั่วโมง 52 นาที และเมื่อเวลา 23.33 นาฬิกา ตามเวลามาตรฐานสากล กล้องโทรทรรศน์ที่มีเลนส์เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1 เมตรที่ Chile สามารถถ่ายภาพของกาแล็กซี่ NGC 4993 ซึ่งเป็นตำแหน่งศูนย์กลาง (ground zero) ที่เกิดเหตุการณ์ได้
เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ได้ทำให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกจำนวนประมาณ 4600 คน ผลิตงานวิจัยออกมาเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร The Astrophysical Journal Letters, Science, Nature ฯลฯ จากการได้พบองค์ความรู้ใหม่มากมาย
เมื่อมีดาว kilonova เป็นกรณีตัวอย่างให้เห็นในวันนี้ ในอนาคตนักดาราศาสตร์ก็จะมี kilonova เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นงานวิจัยขั้นต่อไป คือ นักฟิสิกส์จะวิเคราะห์เหตุการณ์และเก็บข้อมูลของทุกเหตุการณ์มาทำสถิติ เพื่อสร้างทฤษฎี และเสนอแบบจำลอง เพราะนับถึงวินาทีนี้นักฟิสิกส์ทุกคนมั่นใจแล้วว่า ความรู้ต่างๆ ที่มีเป็นความรู้ที่ถูกต้อง และทุกคนยังเชื่อต่อไปว่าวิทยาศาสตร์วันนี้ยังสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติได้ แม้จะไม่สมบูรณ์ 100% ก็ตาม
อ่านเพิ่มเติมจาก Advanced Virgo: a second-generation interferometric gravitational wave detector โดย F. Acernese และคณะใน Classical and Quantum Gravity ฉบับที่ 32, 024001 ปี 2015
เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์