xs
xsm
sm
md
lg

“สตีเฟน ฮอว์กิง” นักฟิสิกส์ เสียชีวิตแล้วในวัย 76

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สตีเฟ่น ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ผู้โด่งดังแห่งยุค (AFP photo/Niklas Halle’n)
"สตีเฟน ฮอว์กิง" นักฟิสิกส์เสียชีวิตแล้วในวัย 76

บีบีซีรายงานข่าวเศร้าว่า "สตีเฟน ฮอว์กิง" นักฟิสิกส์ผู้โด่งดังเสียชีวิตแล้วในวัย 76 ปี โดยโฆษกของครอบครัวเป็นผู้แถลงเรื่องนี้

"สตีเฟน ฮอว์กิง" (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอังกฤษ ได้เสียชีวิตแล้วในวัย 76 ปี โดยโฆษกของครอบครัวเขาได้ออกมาแถลงเรื่องนี้ในวันที่ 14 มี.ค.2018 ท่ามกลางความเสียใจทั้งคนในและนอกวงการ

นีล ดีเกรส ไทสัน (Niel deGrasse Tyson) นักฟิสิกส์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังจากสหรัฐฯ ได้โพสตส์แสดงความเสียใจผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กว่า ฮอว์กิงได้ทิ้งสุญญากาศแห่งปัญญาซึ่งไม่ว่างเปล่าให้เรา เหมือนพลังงานสุญญากาศที่แทรกซึมไปตามผืนผ้ากาลอวกาศที่ยากจะตรวจวัด

ฮอว์กิงเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้โดดเด่นในงานด้านจักรวาลวิทยา เขามีผลงานการค้นพบครั้งสำคัญเกี่ยวกับหลุมดำและทฤษฎีสัมพัทธภาพ อีกทั้งยังเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังหลายเล่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ประวัติย่อของเวลา" (A Brief History of Time)

รายงานข่าวระบุคำแถลงลูกๆ ของเขา คือ ลูซี (Lucy) โรเบิร์ต (Robert) และ ทิม (Tim) ว่า พวกเขาต่างเสียใจอย่างสุดซึ้งที่บิดาผู้เป็นที่รักจากไปในวันนี้ พ่อของพวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และเป็นคนพิเศษเจ้าของผลงานและมรดกที่จะคงอยู่ต่อไปอีกนานหลายปี

"ความกล้าหาญและความหนัก รวมถึงความฉลาดหลักแหลมและอารมณ์ขันของพ่อได้จุดประกายให้แก่คนทั่วโลก พ่อเคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า จะไม่เป็นเอกภพหากไม่ได้อยู่เป็นครอบครัวกับคนที่เรารัก" ลูกของฮอว์กิงกล่าวไว้อาลัย

ฮอว์กิงเกิดเมื่อ 8 ม.ค.1942 ที่ออกซ์ฟอร์ด อังกฤษ เมื่ออายุได้ 17 เขาได้เข้าเรียนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก่อนจะศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge)

ในปี 1963 ฮอว์กิงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (motor neurone disease) และมีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อได้เพียง 2 ปี แต่เขาก็มีชีวิตรอดมาได้จนถึง ปี 1974 ก็ได้เสนอทฤษฎีว่าหลุมดำ (black holes) ปลดปล่อยรังสีได้ ซึ่งเรียกว่า "การแผ่รังสีฮอว์กิง" (Hawking radiation)

ถึงปี 1979 ฮอว์กิงได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ลูคัสเซียน (Lucasian Professor) ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้านั้นคือ เซอร์ไอแซค นิวตัน (Sir Isaac Newton) และในปี 1988 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือ A Brief History of Time ซึ่งขายได้มากกว่า 10 ล้านเล่ม

ปลายทศวรรษ 1990s ฮอว์กิงได้รับเสนอยศอัศวิน แต่ 10 ปีให้หลังพบว่าเขาคืนยศเนื่องจากปัญหาเรื่องการให้งบสนับสนุนงานวิทยาศาสตร์ของรัฐบาล

เรื่องราวชีวิตของเขาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything เมื่อปี 2014 ซึ่ง เอดดี เรดเมยน์ (Eddie Redmayne) รับบทแสดงเป็นฮอว์กิง และภาพยนตร์นี้ยังได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม


กำลังโหลดความคิดเห็น