งานต่อกรกับผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าในอินโดนีเซียก้าวสู่ 4.0 เมื่อนักอนุรักษ์ขนเทคโนโลยีไฮเทคทั้งบาร์โค้ดดีเอ็นเอ ไปจนถึงแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ไว้รับมือกลุ่มผู้ทำผิดกฎหมาย
ป่าฝนอันหนาทึบของอินโดนีเซียที่กระจายไปทั่วประเทศที่อุดมด้วยหมู่เกาะกว่า 17,000 เกาะนี้ ส่งเสริมให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูงสุด
ทว่า อินโดนีเซียก็อยู่แถวหน้าของการค้าผิดกฎหมายที่ผลักดันให้สิ่งมีชีวิตหลายสปีชีส์อยู่ขอบเหวของการสูญพันธุ์ ตามรายงานของเอเอฟพีการค้าสิ่งมีชีวิตผิดกฎหมายทั้งพืชและสัตว์นี้มีมูลค่าถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
เพื่อต่อสู้ต่อปัญหาดังกล่าว นักอนุรักษ์เริ่มใช้แกดเจ็ตใหม่ๆ เพื่อปกป้องสัตว์ป่าที่หายากของประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ และกำลังถูกคุกคาม
แมทธิว พริตเชตต์ (Matthew Pritchett) จากมูลนิธิฟรีแลนด์ (Freeland Foundation) ที่ต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า บอกเอเอฟพีว่าเเทคโนโลยีจะช่วยให้คนทำงานจับคนร้ายได้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยอาชญากรรมที่อยู่เบื้องหลังการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายนั้น เป็นกลุ่มจัดตั้งขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนอย่างมาก
เพื่อติดตามกลุ่มลักลอบค้าสัตว์ป่า กลุ่มนักอนุรักษ์ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกับที่ใช้สู้กับกลุ่มค้ายาและเจ้าพ่อมาเฟีย อย่างเช่นสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WCS) ซึ่งทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซีย ก็ใช้ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ แบบเดียวกับที่ใช้ทำแผนที่เครือข่าย และสกัดเอาข้อมูลจากอุปกรณ์
ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์หน่วยกู้ภัยสัตว์นานาชาติอินโดนีเซีย (International Animal Rescue Indonesia: IAR) ก็เริ่มใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ดดีเอ็นเอเพื่อตรวจหาหลักฐานคดีอาชญากรรม ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเป็นวิธีจำแนกชนิดสัตว์โดยอาศัยลำดับพันธุกรรทสายสั้นๆ จำแนกสปีชีส์
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อจากสัตว์ของกลางที่ถูกยึด ซึ่งจะนำไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลได้ว่าสัตว์ที่เป็นของกลางนั้นเป็นสปีชีส์หรือสปีชีส์ย่อย ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด
ตอนนี้กลุ่มอนุรักษ์หน่วยกู้ภัยสัตว์นานาชาติอินโดนีเซียได้นำเทคโนโลยีบาร์โค้ดมาจำแนกตัวนางอายซึ่งเป็นสัตว์ไพรเมทมีพิษที่ถูกล่าจนเกือบสูญพันธุ์ เพราะถูกนำไปใช้ในการแพทย์จีนแบบโบราณ
คริสติน รัตเทล (Christine Rattel) ที่ปรึกษาโครงการของหน่วยกู้ภัยสัตว์นานาชาติอินโดนีเซียบอกเอเอฟพีว่า หากเรามีสัตว์ที่เรารู้ต้นกำเนิด และปรากฏสัตว์ชนิดนั้น ณ ที่หนึ่ง เช่น กรุงจาร์กาตาของอินโดนีเซีย เราก็สามารถเปรียบเทียบตัวอย่างพันธุกรรมได้ จากนั้นก็จะระบุแคบลงไปถึงจุดที่มีการล่าสัตว์ป่าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตลอดจนเส้นทางลักลอบค้า
ทว่า เชี่ยวชาญระบุว่า แม้จะมีเทคโนโลยีที่ดีเยี่ยม แต่หากกฎหมายไม่เอื้ออำนวยหรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ต่อให้มีเทคโนโลยีมากแค่ไหนก็ไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง