xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจทะเลทรายอเมริกาใต้ หาเงื่อนงำเอเลี่ยนที่อาจพบบนดาวอังคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพแวดล้อมอันทารุณของทะเลทรายอะทาคามายังมีสิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์อาศัยอยู่ได้ และพักตัวได้เป็นเวลานับสิบปี ก่อนจะฟื้นตัวอีกครั้งเมื่อฝนตก  นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเราอาจพบสิ่งมีชีวิตรูปแบบเดียวกันนี้บนดาวอังคาร (AFP)
นานๆ ครั้งที่ฝนจะตกในทะเลทรายอะทาคามาที่อยู่ในอเมริกาใต้ 10 ปีอาจมีฝนตกสักครั้งหรืออาจน้อยกว่านั้น แต่สภาพอันแห้งแล้งนี้ก็ไม่ไร้สิ่งมีชีวิต เพราะยังพบแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ และนักวิทยาศาสตร์ก็คาดว่าดาวอังคารที่ทุรกันดารนั้นอาจจะมีสิ่งมีชีวิตแบบเดียวกันอาศัยอยู่

เอเอฟพีรายงานว่า ทะเลทรายอะทาคามา (Atacama Desert) ที่ขยายอาณาเขตกินพื้นที่ของชิลีและเปรูนั้น เป็นพื้นที่แห้งแล้งที่สุดบนโลก และอาจมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงดาวอังคารมากที่สุดบนโลก ซึ่งทีมวิจัยเรื่องนี้ได้คีพิมพ์ผลงานวิจัยลงวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซน์ (Proceedings of the National Academy of Sciences)

เดิร์ก ชูลเซ-มาคุช (Dirk Schulze-Makuch) นักวิจัยหัวหน้าทีม ซึ่งเป็นศาสตราจารย์และนักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเบอร์ลิน (Technical University of Berlin) ในเยอรมนี พร้อมด้วยคณะร่วมงานได้เดินทางไปยังทะเลทรายดังกล่าวเมื่อปี 2015 เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมว่า สิ่งชีวิตแบบใดที่อาจอาศัยอยู่ที่นั่น

ทว่า เกิดฝนตกขึ้นอย่างไม่คาดฝัน จากนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจวัดการปะทุของกิจกรรมทางชีวภาพในดิน รวมทั้งใช้ช้อนที่ผ่านการฆ่าเชื้อแบบสเตอไรล์ ตักตัวอย่างดินมาศึกษา และผลการวิเคราะห์จีโนมได้ช่วยจำแนกว่ามีจุลินทรีย์สปีชีส์ที่พบได้เฉพาะถิ่น โดยส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย ซึ่งอาจจะปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย โดยพักตัวอยู่นิ่งนานหลายปี แล้วกลับมามีชีวิตและสืบพันธุ์อีกครั้งเมื่อฝนตก

"ในอดีตนักวิจัยได้พบสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วใกล้ๆ ผิวดิน และเศษซากของดีเอ็นเอ แต่นี่เป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ใครก็ได้สามารถจำแนกรูปแบบอันทรหดของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดินของทะเลทรายอะทาคามา เราเชื่อว่าชุมนุมจุลินทรีย์เหล่านี้ สามารถพักตัวนิ่งๆ ได้นานหลายร้อยปีหรือแม้กระทั่งหลายพันปี ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงมากๆ กับที่คุณจะค้นพบได้บนดาวเคราะห์อย่างดาวอังคาร และจากนั้นก็กลับมามีชีวิตอีกครั้งเมื่อฝนตก" ชูลเซ-มาคุชกล่าว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้กลับไปทะเลทรายอะทาคามาอีกครั้งในปี 2016 และ 2017 เพื่อติดตามผลต่อเนื่อง และค้นพบว่าชุมนุมจุลินทรีย์กลุ่มเดิมที่พบในดินนั้น ค่อยๆ ย้อนกลับสู่สภาวะพักตัวตามเดิม แต่ไม่ได้ตายไปโดยสิ้นเชิง โดยรายงานที่ระบุในวารสารวิชาการบอกว่า สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ส่วนมากพบในชั้นลึกๆ ของทะเลทรายนั้น ได้สร้างชุมนุมที่มีการเคลื่อนไหวมาหลายล้านปี และวิวัฒน์ให้รับมือกับสภาพแวดล้อมที่ทารุณได้

ทีมวิจัยบอกด้วยว่า นับแต่ดาวอังคารได้เคยมีมหาสมุทรและทะเลสาบเมื่อหลายพันล้านปีก่อน สิ่งมีชีวิตในรูปแบบแรกๆ อาจเจริญเติบโตในแหล่งน้ำเหล่านั้นด้วย

องค์การอวกาศระดับโลกกำลังส่งหุ่นยานยนต์ไปยังดาวอังคาร ในความพยายามที่จะค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิต แต่ความพยายามใดๆ ที่จะนำตัวอย่างเหล่านั้นกลับมายังโลกจะมีค่าใช้จ่ายมหาศาลและยังเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อน

ด้านชูลเซ-มาคุช กล่าวว่างานวิจัยนี้อาจจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์พุ่งเป้าไปยังเส้นทางที่จะศึกษาจุลินทรีย์บนดาวอังคาร ที่อาจอาศัยอยู่ดาวอังคารที่ทั้งหนาวเย็นและแห้งแล้งกว่าตลอดเวลา คล้ายๆ จุลินทรีย์ที่พบในทะเลทรายอะทาคามา

"เรารู้ว่ามีน้ำแข็งตัวอยู่ในดินของดาวอังคารและงานวิจัยเร็วๆ นี้ก็บ่งชี้อย่างหนักแน่นว่ามีหิมะตกตอนกลางคืน และมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มความชื้นใกล้ๆ พื้นผิว หากมีสิ่งมีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่บนดาวอังคาร งานวิจัยของเราช่วยชี้แนะได้ว่าอาจจะพบสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นอยู่ใต้ผิวดิน" ชูลเซ-มาคุชกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น