xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมชาติของมังกรโคโมโด

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

มังกรโคโมโดออกล่าเหยื่อบริเวณเกาะโคโมโด (AFP/Getty Images)
เทพนิยายของชนแทบทุกชาติมักกล่าวถึง มังกร สำหรับคนเอเชีย มังกรเป็นสัตว์ที่ไม่มีปีกสำหรับบิน และมีจิตใจดี นิทานพระอภัยมณีมีม้ามังกร ส่วนคนเกาหลีเชื่อว่าในแม่น้ำทุกสายมีมังกรคุ้มครอง ด้านคนจีนก็เชื่อว่า เวลามังกรหายใจแรงๆ ฝนจะตก และพายุในทะเลเกิดจากการที่มังกรต่อสู้กัน ตามปกติมังกรจีนจะอาศัยอยู่ในปราสาทมุกใต้ทะเล และกระดูกของมังกรสามารถใช้รักษาโรคได้ สำหรับสีของมังกรนั้นใช้บอกนิสัย เช่น สีดำแสดงความดุร้าย สีเหลืองแสดงการเป็นสัตว์นำโชค และสีฟ้าแสดงความสำคัญเป็นต้น

ส่วนมังกรของชาวตะวันตกก็มีเช่นกัน แต่เป็นสัตว์ร้ายที่มีปีกและสามารถพ่นไฟจากปากได้ เทพนิยายอังกฤษกล่าวถึงนักบุญ St. George ว่า ได้ฆ่ามังกรที่มุ่งทำร้ายหญิงสาว เทพเจ้า Quetzacoatl ของเผ่า Aztec ในอเมริกากลางเป็นสัตว์ผสมระหว่างงูกับมังกร

ในโลกของความจริง มังกรที่นักชีววิทยารู้จักดีที่สุด คือ มังกรโคโมโด (Komodo) ที่มีพบมากบนเกาะ Komodo ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินโดนีเซีย ในเขต Timor ตะวันตกและอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะชวา โดยเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะ Lesser Sunda เกาะมีพื้นที่ 340 ตารางกิโลเมตร เนื้อที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาโดยมียอดเขาสูงสุดที่ 735 เมตร พื้นที่เกาะถูกปกคลุมด้วยป่าปาล์ม ทะเลรอบเกาะมีกระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่าน สภาพแวดล้อมที่รุนแรงนี้ทำให้โลกไม่รู้อะไรๆ มากเกี่ยวกับเกาะ Komodo จนกระทั่งปี 1912 เมื่อนักดำน้ำหาไข่มุกชาวมาเลย์คนหนึ่งนำเรือเข้าจอดที่เกาะ และตั้งใจจะงมหาไข่มุกในหอยนางรมที่เขาคิดว่ามีอย่างบริบูรณ์ในทะเล และทันทีที่ขึ้นฝั่งก็ได้เห็น มังกรหลายตัวเดินเพ่นพ่านไปมา ขนาดและรูปร่างที่ดูดุร้ายทำให้ต้องวิ่งขึ้นเรือ และกลับไปรายงานข่าวการเห็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดใหม่ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนให้ P.A. Ouwens ซึ่งเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สัตว์แห่งเมือง Bogor บนเกาะชวาทราบ

เพราะ Ouwens ได้สดับตรับฟังเรื่องสัตว์อสุรกายมาแล้วหลายครั้ง มาคราวนี้ เขาได้ตัดสินใจส่งเจ้าหน้าที่ไปดู และถ้าเป็นไปได้ก็ให้เก็บซากสัตว์ประหลาดกลับมาเป็นหลักฐานด้วย และ Ouwens ก็ได้ประจักษ์ว่า สัตว์ลึกลับนี้มีจริง เพราะซากที่เขาเห็นมีลำตัวยาวประมาณ 3 เมตร และเป็นสัตว์สปีชีส์ใหม่ จึงตั้งชื่อว่า Varamus Komodoensis และคนทั่วไปนิยมเรียกมันว่า มังกรโคโมโด

อีก 14 ปีต่อมา W. Douglas Burden แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ American Museum of Natural History ในอเมริกา เมื่อได้ข่าวมังกรโคโมโด จึงตัดสินใจจะล่าจับมังกรตัวเป็นๆ มาให้ชาวตะวันตกดู และตั้งใจจะโชว์ซากมังกรในพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้าชม เพราะโดยนิสัยส่วนตัว Burden ชอบเก็บสะสมสัตว์แปลก ดังนั้นจึงได้ระดมนักล่ามังกร ช่างภาพ และพรานป่าที่มีประสบการณ์สูงในการล่าสัตว์ รวมถึงนักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน พร้อมลูกหาบอีก 15 คนเดินทางไปเกาะ Komodo และในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ.1926 Burden กับคณะก็ได้เห็นมังกรโคโมโดตัวเป็นๆ บนฝั่ง จึงนำเรือจอดที่อ่าว Python บนเกาะ และรู้สึกแปลกๆ เหมือนตนกำลังอยู่บนโลกดึกดำบรรพ์ที่มีไดโนเสาร์มากมายกำลังไล่ล่าฆ่ากินกวาง หมูป่า และควายบนเกาะ โดยได้เห็นมันย่องเข้าหาเหยื่อที่ไม่ระวังตัว จนอยู่ห่างประมาณ 1 เมตร แล้วกระโจนเข้ากัดที่ท้อง สะโพก หรือขา ให้เหยื่อล้ม แล้วอ้าปากที่มีฟันคมกัดทึ้งเนื้อของเหยื่อ โดยการเหวี่ยงไปมาให้เลือดไหลนอง ซึ่งจะทำให้เหยื่อช็อคจนหมดสติ แล้วมันก็จะกัดกินเหยื่ออย่างเลือดเย็นและรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เหยื่ออาจมีน้ำหนักตัวมากกว่ามันหลายเท่า แต่มันก็สามารถกินเหยื่อหมดได้ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง เช่น หมูป่าที่หนัก 50 กิโลกรัมอาจจะถูกกินหมดภายในเวลา 17 นาที

Burden ต้องการบันทึกเหตุการณ์นี้เป็นภาพยนตร์ จึงนำซากแพะที่ตายแล้วมาล่อ และพบว่ามันชอบกินซากสัตว์ที่เสียชีวิตแล้วมากกว่าสัตว์เป็น

มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ในตระกูลกิ้งก่า ตัวที่โตเต็มที่มีลำตัวยาวตั้งแต่ 2-3.2 เมตร และอาจจะหนักมากถึง 160 กิโลกรัม สามารถวิ่งได้เร็ว 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ประมาณ 5.6 เมตร/วินาที เหยื่อที่วิ่งช้าจะเสร็จมันทุกราย) ชอบออกหาเหยื่อในเวลากลางวัน เพราะสายตาที่สามารถเห็นได้ไกล 300 เมตร เวลาอากาศร้อนอุณหภูมิร่างกายของมันจะสูงตาม มันชอบขดตัวในรูเพื่อลดการสูญเสียความร้อน ในเวลากลางคืน ตาของมันจะมองเห็นเหยื่อได้ยาก จึงใช้หูและลิ้นช่วยในการหาอาหาร โดยการแลบลิ้นสองแฉกของมันออกมาสัมผัสโมเลกุลที่ลอยมาจากตัวเหยื่อ แล้วดึงลิ้นกลับไปแตะอวัยวะรับกลิ่นซึ่งอยู่ที่เพดานปาก จากนั้นต่อมรับกลิ่นจะส่งสัญญาณไปที่สมอง เพื่อบอกให้มันรู้ว่าสัตว์อะไรกำลังจะเป็นเหยื่อ

จมูกของมังกรโคโมโดไวมาก จึงทำให้มันสามารถได้กลิ่นเหยื่อจากที่ไกลๆ ในกรณีเหยื่อเน่าที่ส่งกลิ่นรุนแรง มังกรจะเดินถึงเหยื่อได้ในเวลาไม่นาน
นักวิจัยพบน้ำลายของมังกรโคโมโดเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนายาปฏิชีวนะ (JUNI KRISWANTO/AFP/Getty Images)
ตามปกติมังกรโคโมโดไม่ชอบกลิ่นอุจจาระ ดังนั้น ลูกอ่อนของมันมักจะหลบอาศัยอยู่บนต้นไม้ เพื่อหนีพ่อแม่หรือมังกรอื่นที่หิวโหย และจะลงมาคลุกตัวด้วยอุจจาระเพื่อความปลอดภัย ลูกมังกรชอบกินแมลง งู และนก เมื่อเติบใหญ่น้ำหนักตัวของมันจะเพิ่มขึ้น และจะลงมาใช้ชีวิตบนดินมากขึ้น เหยื่อที่จะกินก็มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น หมูป่า กวาง และควาย เป็นต้น เวลาอาหารขาดแคลน มังกรโคโมโดจะว่ายน้ำข้ามทะเลไปเกาะใกล้เคียงที่มีคนอาศัยอยู่เพื่อกินแพะ ม้า และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ของชาวบ้าน เพราะสัตว์เหล่านี้ทันทีที่เห็นมันจะวิ่งหนี แล้วทิ้งลูกเล็กๆ ให้มันกิน

เมื่อถึงฤดูสืบพันธุ์มังกรตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียจะต่อสู้กันเพื่อแย่งตัวเมีย ตัวผู้ใดที่พ่ายแพ้จะวิ่งหนี ทิ้งให้ตัวชนะได้ครอบครองตัวเมีย

ถึงเดือนกันยายน มังกรตัวเมียจะวางไข่ในหลุมที่อยู่ลึกลงไปในดิน ลูกมังกรที่เกิดใหม่มีลำตัวยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และหนักประมาณ 100 กรัม แต่ชีวิตเริ่มต้นของมันก็ไม่ปลอดภัย เพราะอาจจะถูกมังกรตัวใหญ่กว่ากินมันเป็นอาหาร แต่ถ้ามันรอดชีวิตมาได้ อายุขัยของมังกรอาจจะมากถึง 25 ปี

ตั้งแต่ปี 1915 ที่โลกรู้จักมังกรโคโมโด รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ที่ปกครองอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายคุ้มครองให้มันเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์

สถิติการท่องเที่ยวบนเกาะ Komodo เกาะ Ringa และเกาะ Flores แสดงให้เห็นว่าทุกปี จะมีนักทัศนาจรและนักธรรมชาติไปแวะดูมังกรโคโมโดประมาณ 20,000 คน ปัจจุบันความน่าสนใจของมังกรโคโมโดในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์คือเรื่องพิษของมัน ซึ่งอาจจะเป็นยามหัศจรรย์ได้ในอนาคต

โลกมีสัตว์พิษหลายชนิด ใครที่ถูกแมงกะพรุนต่อยจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนไปนานหลายวัน สำหรับคนที่มีความต้านทานน้อย พิษที่รุนแรงอาจทำให้ตายได้ เหล็กในของผึ้งมีสาร metitin ที่เป็นอันตราย ปลาปักเป้ามีสาร tetrodotoxin ที่สามารถทำให้เซลล์ประสาทชาจนคนที่ถูกพิษทำงานไม่ได้ พิษตะขาบก็อาจทำให้ร่างกายช็อค ส่วนพิษงูมีสาร henotoxin ที่ทำให้เลือดของคนที่ถูกกัดไหลไม่หยุด และหอยทาก (Conus geographus) มีพิษที่สามารถทำร้ายเหยื่อถึงชีวิตได้

แม้สัตว์พิษจะมีมากมายหลายชนิด แต่ความหลากหลายของพิษกลับมีไม่มาก เพราะทุกพิษทำงานเหมือนๆ กัน คือ ทำลายเนื้อเยื่อ และระบบภูมิคุ้มกันของเหยื่อ

มังกรโคโมโดนั้นเวลากัดเหยื่อ พิษที่มีในน้ำลายของมันจะทำให้เลือดของเหยื่อไม่แข็งตัว เมื่อเลือดเหยื่อไหลออกมาเรื่อยๆ ความดันเลือดจะลด แล้วร่างกายจะช็อคหมดสติ แต่เวลามังกรโคโมโดกัดกัน ตัวมันไม่เป็นอะไร

ในปี 2013 นักเคมีชื่อ Barney Bishop แห่งมหาวิทยาลัย George Mason ได้พบสารประกอบ peptide หลายชนิดในเลือดของมังกรโคโมโด และคิดจะใช้ peptide เหล่านี้เป็นยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะ peptide ชื่อ DRGN-1 ซึ่งเมื่อนำมาทดสอบกับแบคทีเรียที่กำลังคุกคามบาดแผล เขาได้พบว่าบาดแผลจะหายเร็ว

ถึงวันนี้ Bishop กับคณะได้พบ peptide ในเลือดของมังกรโคโมโดมากกว่า 200 ชนิดแล้ว และได้ทำให้โลกของยาปฏิชีวนะมีความหวังมากขึ้นว่า peptide ที่พบจะเป็นยาที่อัศจรรย์ได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง peptide ชนิด antimicrobial AMP 48 รูปแบบ ซึ่งมีศักยภาพในการรักษาโรคได้ ตั้งแต่ปอดบวม สิว วัณโรค หนองใน แม้กระทั่ง anthrax

องค์การอนามัยโลกมีสถิติว่า ทุกปีผู้คนประมาณ 700,000 คนจะเสียชีวิตด้วยการติดเชื้อ เพราะแบคทีเรียที่คุกคามมีฤทธิ์ในการต่อต้านยาปฏิชีวนะ และ WHO คิดว่า จำนวนคนที่เสียชีวิตอาจจะสูงถึง 10 ล้านคนในปี 2050

Bishop กับคณะวิจัยได้ทดสอบ AMP ที่พบในเลือดมังกรโคโมโดกับแบคทีเรียชนิดต่างๆ และพบว่า AMP ของเลือดมีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรียได้ดี จนคิดว่ามันอาจเป็นยาวิเศษได้ นั่นหมายความว่า ต้องมีการเลี้ยงมังกรโคโมโดอย่างขนานใหญ่ แต่มันเป็นสัตว์ที่มีไม่มาก ดังนั้น การทำฟาร์มมังกรโคโมโดคงไม่เป็นทางออก Bishop จึงต้องวิเคราะห์โครงสร้างของ peptide ต่างๆ แล้วหาทางสังเคราะห์มันให้ได้ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ก็ต้องทำ เพื่อให้มนุษย์ชาติจะได้ปลอดภัย

นอกจากมังกรโคโมโดแล้ว นักวิจัยคนอื่นๆ ก็กำลังค้นหาพิษจากสัตว์ต่างๆ เช่น แมงมุมที่ใช้ฆ่าเซลล์มะเร็ง พิษงู taipan ของออสเตรเลียที่ระงับการที่เลือดไหลไม่หยุด ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติมจาก Venomous: How Earth’s Deadliest Creatures Mastered Biochemistry โดย Christie Wilcox จัดพิมพ์โดย Scientific American/ Farrar, Strauss and Giroux ปี 2016

เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น