2-4 มี.ค.ชวนชาวกรุงสัมผัสความสำคัญ "เสือโคร่ง" นักล่าที่มีความสำคัญต่อป่า ช่วยกำจัดสัตว์อ่อนแอและไม่จำเป็นต่อระบบนิเวศ ภายในนิทรรศการกองทุน WWF ณ เซ็นทรัลเวิลด์
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักงานประเทศไทย จับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ บี. กริม กรุ๊ป (บริษัท บี.กริม แอนด์ โก จำกัด) จัดนิทรรศการ "การอนุรักษ์เสือโคร่งให้มากกว่าที่คิด - Save Tiger, Save So Much More" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก หรือ World Wildlife Day โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้ เผยแพร่ข้อมูลของเสือโคร่งและบทบาทของเสือโคร่งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าสากลโลก สำนักงานประเทศไทยกล่าวว่า ในโอกาสที่วันสัตว์ป่าและพืชโลกปีนี้ ทั่วโลกจะสื่อสารเรื่องราวของ Big Cat หรือเสือโคร่ง ภายใต้แนวคิด Big Cats: Predator Under Threat หรือนักล่าผู้กำลังถูกคุกคาม ซึ่งในประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในพื้นที่เพียงไม่กี่แห่งบนโลก ที่ยังพบเสือโคร่งอาศัยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกของปรเทศ
จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่ชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชพบว่ามีเสือโคร่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 200-250 ตัวจากทั่วโลกประมาณ 3,000 ตัว โดยทาง WWF ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงศ์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ที่มีอาณาเขตติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งเป็นบริเวณที่มีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนี้ในพิธีเปิดนิทรรศการ ยังได้มีการเสวนาภายใต้หัวข้อ "การอนุรักษ์เสือโคร่งให้มากกว่าที่คิด" ซึ่งเป็นการแชร์ประสบการณ์โดยคนรักษ์เสือโคร่งอย่าง ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่กล่าวถึงความสามารถในการดำรงชีพของเสือโคร่งว่า เป็นสัตว์ที่สามารถอาศัยอยู่ได้ในหลากหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเขตหนาวในรัสเซีย ภูเขาสูงอย่างเทือกเขาหิมาลัย ทุ่งหญ้าเขตร้อนและกึ่งร้อน ป่าในอินเดียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
โดยแหล่งหากินหลักของเสือโคร่งคือป่าอุดมสมบูรณ์ที่มีขนาดใหญ่ อาหารหลักของเสือโคร่งคือสัตว์ที่มีขนาดใหญ่อย่าง วัวแดง กวาง เก้ง กระทิง หมูป่า เสือโคร่งเพศผู้จะใช้พื้นที่หากินราวๆ 200-300 ตารางกิโลเมตร ส่วนเสือโคร่งเพศเมียจะใช้พื้นที่หากินเพียง 60-70 ตารางกิโลเมตร
ดร.ศักดิ์สิทธิ์กล่าวว่า ถึงแม้ว่าเสือโคร่งจะเป็นสัตว์ที่ล่าสัตว์ขนาดใหญ่แต่เสือโคร่งจะล่าเฉพาะสัตว์ตัวที่กำลังอ่อนแอ หรือไม่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศแล้วเท่านั้น เพื่อเป็นการรักษาสายพันธ์ที่ดีของประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อ อีกทั้งซากสัตว์ที่เสือโคร่งล่าทิ้งไว้ก็จะกลายเป็นอาหารให้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหมี เสือดาวหรือสัตว์ล่าเนื้อหลายๆ ตัว แม้แต่ไก่เองก็ตาม
"ดังนั้นเสือโคร่งจึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในฐานะผู้ที่อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมปริมาณของนักล่าอย่างเสือดาวและหมาใน ทำให้สัตว์ขนาดเล็กมีโอกาสรอดได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าขนาดใหญ่"
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม นิทรรศการ Save Tigers, Save So much more ฟรีตลอดทั้งงาน ตั้งแต่วันที่ 2-4 มีนาคม 2561 ณ โซนอีเดน ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์