xs
xsm
sm
md
lg

อาจมีสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วสร้างมีเทนบน "เอนเซลาดัส" ดวงจันทร์ของดาวเสาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดวงจันทร์เอนเซลาดัสที่บันทึกจากยานแคสสินีของนาซา  (NASA/JPL/Space Science Institute)
ลดความคาดหวังที่จะเจอสิ่งมีชีวิตทรงปัญญานอกโลกลงก่อน เพราะมนุษย์เราอาจจะได้พบสิ่งมีชีวิตต่างดาวในรูปของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวในบริเวณไม่ไกลเกินขอบเขตอิทธิพลของดวงอาทิตย์ โดยนักวิจัยเผยว่า “เอนเซลาดัส” ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์อาจจะมีสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอาศัยอยู่ แบบเดียวกับที่พบในถิ่นทุรกันดารสุดหฤโหดบนโลก

ทั้งนี้ นักวิจัยได้เขียนรายงานลงวารสารวิชาการเนเจอร์คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) ว่าดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ซึ่งเป็นเหมือนก้อนน้ำแข็งปูดๆ โคจรรอบดาวเสาร์นั้น อาจเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เรียกว่า “อาร์เคีย” (archaeans) เหมือนอย่างที่พบในสภาพแวดล้อมสุดทารุณบนโลก

ทีมวิจัยระบุว่า อาร์เคียมีเทโนจีนิค (methanogenic archaean) หรืออาร์เคียที่ผลิตมีเทนได้ ซึ่งมีชื่อเรียกวิทยาศาสตร์ว่า “มีทาโนเทอร์โมคอคคัส โอกินาเวนซิส” (Methanothermococcus okinawensis) นี้ สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมในห้องปฏิบัติการที่จำลองสภาพแวดล้อม ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์ของดาวเสาร์ดวงนี้ได้

สำหรับบนนั้นตามรายงานเอเอฟพีระบุว่า พบอาร์เคียอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงจัดอย่างปล่องน้ำร้อน (hydrothermal vents) ในทะเลลึก และอาร์เคียชนิดนี้สามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซไฮโดรเจนให้เป็นมีเทนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการตรวจพบมีเทนจากไอระเหยที่ออกมาจากรอยแตกของพื้นผิวดวงจันทร์เอนเซลาดัส

ทีมวิจัยจากเยอรมนีและออสเตรีย ซึ่งร่วมทำงานรายงานครั้งนี้เขียนสรุปว่า พวกเขาได้สรุปว่าก๊าซมีเทนที่ตรวจพบจากไอพวยพุ่งบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสนั้น โดยหลักการแล้วน่าจะผลิตขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิตที่ผลิตมีเทนได้ อีกทั้งทีมวิจัยยังคำนวณว่า ต้องมีปริมาณไฮโดรเจนที่เหมาะสมเท่าไรที่จะเกื้อหนุนให้เกิดจุลินทรีย์ดังกล่าวได้จากกระบวนการทางเคมีธรณีภายในแกนกลางที่เป็นหินของดวงจันทร์เอนเซลาดัส

ทีมวิจัยที่เขียนรายงานยังเตรียมทดสอบสมมติฐานนี้ว่า ปัจจัยบนดวงจันทร์ของดาวเสาร์ดวงนี้นั้นดีพอที่จะเป็นแหล่งอาศัยของอาร์เคียมีทาโนจีนิคหรือไม่ โดย ไซมอน ริตต์มันน์ (Simon Rittmann) จากมหาวิทยาลัยเวียนนา (University of Vienna) ออสเตรีย ผู้ร่วมวิจัย และเขียนรายงานทางวิชาการนี้ กล่าวว่า ข้อมูลที่มาจากการศึกษาทางห้องปฏิบัติการอย่างนั้น เผยให้เห็นว่า (สมมติฐาน) “มีความเป็นไปได้” แต่ก็ได้ย้ำผ่านเอเอฟพีว่า ผลที่ได้ออกมานั้นไม่ใช่หลักฐานว่า มีสิ่งมีชีวิตต่างดาว

“การศึกษาของเรานั้นพุ่งเป้าไปที่จุลินทรีย์ขนาดเล็ก ผมอยากจะเลี่ยงถึงการคาดการณ์ใดๆ เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตทรงปัญญา” ริตต์มันน์กล่าว

ทั้งนี้ ดาวเสาร์เป็นเคราะห์ลำดับที่ 6 ในระบบสุริยะ อยู่ห่างจากโลกโดยมีเพียงดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีขั้นเท่านั้น และดาวเคราะห์ดวงนี้ยังดวงจันทร์เป็นบริวารอีกหลายสิบดวง

งานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่า เอนเซลาดัสเป็นแหล่งมหาสมุทรของน้ำในสถานะของเหลวที่อยู่ใต้พื้นผิวน้ำแข็ง ซึ่งน้ำในสถานะดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต และยังเชื่ออีกว่าดวงจันทร์ของเพื่อนบ้านดวงนี้มีองค์ประกอบอย่างมีเทน าร์บอนไดออกไซด์ และแอมโมเนีย และที่ขั้วใต้ของดาวเคราะห์มีความเคลื่อนไหวของน้ำร้อน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสอดประสานให้ดวงจันทร์ดวงนี้เป็นเป้าหมายในการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

อย่างไรก็ตาม ทีมเขียนรายงานวิจัยระบุว่า ยังต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตัดความเป็นไปได้ว่า มีเทนที่พบบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสนั้นอาจจะมาจากกระบวนการทางเคมีธรณี ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางชีววิทยา


กำลังโหลดความคิดเห็น