ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ - สกว. และ รพ.รามา เดินหน้าถอดจีโนมหายีนคนไทยแท้ๆ เป้าหมายเพื่อให้วงการแพทย์สามารถวิเคราะห์อัตราหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง หรือความบกพร่องทางด้านร่างกายได้ รวมถึงนำไปสู่การวิจัยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง
หลังประกาศความสำเร็จในการถอดจีโนมคนไทยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาที่จะนำไปสู่ป้องกันการแพ้ และการรักษาโรคที่สอดคล้องพันธุกรรมเฉพาะบุคคล เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หน่วยงานพันธมิตร 3 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือทีเซลส์ (TCELS) และสำนักงานกองททุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ประกาศเดินหน้าโครงการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างดีเอ็นเอของชาติอาเซียนอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อหายีนคนไทยแท้ๆ โดยร่วมมือกับสถาบันจีโนมปักกิ่งประเทศจีน
"ปีนี้ประเทศไทยจะเริ่มจากอาสาสมัครจากทั่วทั้งภูมิภาคของประเทศรวม 120 คนจาก 40 ครอบครัว โดยเลือกจากความสัมพันธ์แบบพ่อแม่ลูก ยกตัวอย่างเช่นพ่อเป็นคนจีน แม่เป็นคนไทยทางโครงการจะไม่ใช้จีโนมของคนเป็นลูกแต่อาจจะใช้จีโนมของคนเป็นหลานเพื่อนำมาเข้าโครงการ กล่าวคือจะเลือกลูกเสี้ยวของเชื้อสายชาวต่างชาติ และตั้งเป้าหมายไว้ที่อย่างน้อย 10,000 คนภายในเวลา 5 ปี" ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า
เหตุที่ทำโครงการนี้ขึ้น ศ.ดร.วสันต์อธิบายว่า เนื่องจากต้องการที่จะเข้าใจพื้นฐานของยีนของคนไทยให้มากขึ้น และเพื่อเป็นฐานข้อมูลอ้างอิงพันธุกรรมของคนไทย อีกทั้งต้องการความเชื่อมโยงว่าพันธุกรรมอ้างอิงของคนไทยนั้นเป็นอย่างไร จากการที่คนไทยเป็นเชื้อชาติที่มีบรรพบุรุษจากหลายเชื้อชาติอย่าง จีน มาเลเซีย ลาว เวียดนาม ดังนั้นในปัจจุบันจึงยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาตร์ใดสามารถบอกได้ว่า ลักษณะของจีโนมของคนไทยแท้ๆ มีลักษณะเป็นอย่างไร อีกทั้งในภูมิภาคอาเซียนก็ประสบปัญหาเรื่องความหลายหลายของจีโนมเช่นกัน จึงได้เกิดความร่วมมือในการเก็บจีโนมทั้งหมดขึ้น
"ข้อดีของการรู้ลักษณะที่แท้จริงของยีนคนไทยแท้ จะช่วยให้วงการแพทย์สามารถวิเคราะห์อัตราหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง หรือความบกพร่องทางด้านร่างกายได้ และจะได้หาทางแก้ไขหรือทำการพัฒนาการวิจัยและเทคโนโลยีการแพทย์เพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ลดความเสี่ยงนั้นๆ ได้" ศ.ดร.วสันต์ระบุ
ศ.ดร.วสันต์กล่าวอีกว่า ในอนาคตจะจัดตั้งธนาคารจีโนมและยีนมนุษย์แห่งชาติ (National human genome and Gene bank) เพื่อเป็นการพลิกโฉมของการรักษา ป้องกันและดูแลคนไข้ของประเทศอย่างสิ้นเชิง และจะมีการร่วมมือกับธนาคารชีวภาพ (Biobank) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการจัดตั้งศูนย์เก็บข้อมูลจีโนม ตัวอย่างเลือด น้ำลายและเนื้อเยื่อของคนไข้ในอนาคต โดยศูนย์เก็บข้อมูลดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี