xs
xsm
sm
md
lg

เผยความสำเร็จถอดจีโนมการแพ้ยาของคนไทยสู่การรักษาให้ได้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ
3 หน่วยงานพันธมิตร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ - สกว. และ รพ.รามา ประกาศความสำเร็จถอดจีโนมคนไทย 100 ยีนที่เกี่ยวกับการใช้ยา สู่การตรวจเลือดก่อนจ่ายยารักษา เพื่อป้องกันแพ้ยารุนแรงไป พร้อมเดินหน้าโครงการศึกษายีนที่นำไปสู่การรักษาเฉพาะบุคคลให้ได้ผล

หลังจากที่ทีมนักวิจัยจากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือทีเซลส์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมคนไทยคนแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว จนได้ขยายเครือข่ายเภสัชพันธุศาสตร์และจีโนมทางการแพทย์ ไปยังประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและอัพเดทความก้าวหน้าในการใช้นวัตกรรมบริการของแต่ละประเทศ กระทั่งปี พ.ศ.2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันจีโนมริเก้นประเทศญี่ปุ่น (RIKEN Center for Integrative Medical Science: IMS) ได้ร่วมกันสนับสนุนวิจัยแก่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ รพ.รามาธิบดี เพื่อถอดรหัสยีนที่เกี่ยวข้องกับการแพ้ยา 100 ยีนต่อคน ในประชากรภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 1,000 คน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ 3 หน่วยงานพันธมิตร นำโดย ทีเซลส์ พร้อมด้วย สกว. และศูนย์วิจัยจีโนมทางการแพทย์ฯ รพ.รามาธิบดี ได้ร่วมกันแถลงข่าว ถึงความสำเร็จของนักวิจัยในการถอดรหัสจีโนมคนไทยเพื่อตรวจหาพันธุกรรมการแพ้ยาก่อนวางแผนรักษาโรคเฉพาะบุคคล จนการขยายผลไปสู่การตรวจพันธุกรรมการแพ้ยาของประชากรในกลุ่มอาเซียน

ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ของทีเซลส์ กล่าวว่า ทีเซลส์ได้ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี จัดตั้งเครือข่ายเภสัชพันธุศาสตร์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Pharmacogenonmics Research Network: SEAPHAM) ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา และได้จัดประชุมระดมความคิดในการพัฒนางานวิจัยเพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านเภสัชพันธุศาสตร์และจีโนมทางการแพทย์ในระดับภูมิภาคเรื่อยมา

"สำหรับปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกปีคือมีการประชุมนักวิจัยประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อร่วมมือกันในโครงการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมด (Whole genomes) ของประชากรคนไทย 8 กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศเนปาล ควบคู่ไปกับการถอดรหัสยีน 100 ยีนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา ซึ่งเป็นโครงการที่ได้เริ่มไปแล้วก่อนหน้านี้" ดร.ศิรศักดิ์กล่าว

ด้าน ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน 8 ประเภทที่ได้มีการขยายผลเรื่องการถอดรหัสยีนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาของแต่ละบุคคลจำนวน 100 ยีน คือ บรูไน พม่า มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนิเซีย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยจีโนมรีเก้น ประเทศญี่ปุ่น

"โครงการนี้เกิดมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาสำคัญในการรักษาด้วยยา 3 ประการคือ หนึ่งคนไข้บางรายใช้แล้วแพ้อย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต สองยาที่ใช้ไม่ได้ผลในบางบุคคล และสาม การปรับปริมาณยาที่ใช้ในแต่ละบุคคลเพื่อให้ได้ผลการรักษาสูงสุด" ศ.ดร.วสันต์ระบุที่มา

สำหรับยีนจำนวน 100 ยีนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานั้น จะผลิตเอนไซม์หลักออกมา 2 ตัวคือ เอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยยา (Drug metabolism enzyme) และจะตอบสนองต่อปริมาณของยา อีกเอ็นไซม์คือ เอนไซม์ที่ขนส่งยาไปยังส่งที่ต้องการรักษา (Drug transport enzyme )

“ในโครงการนี้จะมีโครงการย่อยอีก 6 โครงการที่มุ่งเน้นในการดูความหลากหลายของยีนที่ตอบสนองต่อยาในประชากรที่มีความแตกต่างกันขอลประชากรในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกันว่าแต่ละประเทศที่ยีนที่ตอบสนองต่อการใช้ยาเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร" ศ.ดร.วสันต์แจกแจง

หากงานวิจัยนี้แล้วเสร็จ ศ.ดร.วสันต์ระบุว่าจะกลายเป็นทางเลือกใหม่ให้แพทย์ทั่วทั้งอาเซียนนำไปทดลองใช้ เพราะการรักษาแบบเดิมก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพ้ยา และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจากการลองผิดลองถูกของแพทย์ที่ต้องรักษาผู้ป่วย เนื่องจากคนบางรายใช้ยาราคาแพงในการรักษาแต่กลับไม่ได้ผล บางรายหายช้าเพราะขนาดยาที่ไม่เหมาะ บางรายเกิดอาการแพ้ถึงขั้นเสียชีวิต

"หากนำงานวิจัยนี้มาปรับสู่การรักษาที่มุ่งเน้นการใช้ยาเฉพาะบุคคลที่สอดคล้องกับพันธุกรรมของผู้ป่วย ก็จะทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยและเป็นมาตรฐานในการรักษาต่อไปในอนาคต ปัจจุบันเมื่อเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราชหรือโรงพยาบาลรามาธิบดี ทางเจ้าหน้าที่จะนำท่านไปเจาะเลือดเพื่อหายีนที่ตอบสนองต่อการใช้ยาทันที เพื่อที่ให้แพทย์ได้ทราบว่าแพทย์กำลังจ่ายยาที่ไม่เหมาะแก่พันธุกรรมของท่าน แพทย์ก็จะทำการเปลี่ยนยาทันที"

“ในอีก 5 ปีข้างหน้าเมื่อท่านเข้าไปขอรับการรักษา ทางเจ้าหน้าที่การแพทย์จะทำการเจาะเลือดของท่านเพื่อมาวิเคราะห์หายีนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา จะได้เกิดความมั่นใจว่าท่านได้ยาที่มีขนาดโดสเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สามารถออกฤทธิ์เหมาะสมกับยีนของท่าน" ศ.ดร.วสันต์กล่าวถึงประโยชน์ของโครงการนี้

ส่วน รศ.ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ด้านเครือข่ายวิจัยนานาชาติและวิเทศสัมพันธ์กล่าวว่า เป้าหมายของการสนัยสนุนโครงการเครือข่ายวิจัยนานาชาติ หรือ IRN (The International Research Network) คือการสร้างความเข้มแข็งทางด้านงานวิจัยและแก้ปัญหาสัมคัญของประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ

"ในการประชุม SEAPharm ในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมแรกของเครือข่ายฯ
ในการดำเนินการภายใต้โครการดังกล่าวนี้คาดว่าจะสามารถส่งผลให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดสนับสนุนอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ นอกจากนี้ยังสร้างความแข็งแกร่งและความยั่งยืนให้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบริการและผลิตภัณฑ์ด้านเภสัชพันธุศาสตร์และจีโนมทางการแพทย์"

รศ.ดร.นพ.พงศกรกล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ยังผลักดันให้ประเทศไทยได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเป็นประตูสู่อาเซียนด้านเภสัชพันธุศาสตร์และจีโนมทางการแพทย์ (Asian corridor of pharmacogenomics and genomic Medicine) และเป็นการยกระดับการพัฒนางานวิจัย ด้านเภสัชพันธุศาสตร์พัฒนาทัดเทียมนานาอารยะประเทศต่อไป
รศ.ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร
ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์


กำลังโหลดความคิดเห็น