xs
xsm
sm
md
lg

Giovanni Domenico Cassini นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Giovanni Domenico Cassini
ในปี 1650 (ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) Giovanni Domenico Cassini หนุ่มวัย 25 ปี ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งโดยสันตะปาปา Clement ที่ 9 ให้เป็นศาสตราจารย์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Bologna โดยได้รับเงินเดือนมากที่สุด ผลที่ตามมาคือ ชีวิตทำงานของ Cassini ในมหาวิทยาลัยดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นเลย เพราะถูกเพื่อนร่วมงานอิจฉา และกลั่นแกล้งตลอดเวลา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สันตะปาปาทรงโปรดปราน Cassini มาก เพราะสามารถทำงานถวายได้หลายเรื่อง เช่น ออกแบบสร้างป้อมปราการรอบพระราชวังขององค์สันตะปาปา ออกแบบคลอง และสร้างเขื่อนระบายน้ำจากแม่น้ำ Po ที่ไหลผ่านพรมแดนระหว่างอิตาลีกับฝรั่งเศส แต่ผลงานที่ทำให้สันตะปาปาทรงชื่นชมมากที่สุด คือ เมื่อ Cassini ได้รับตำแหน่งราชองครักษ์พิทักษ์ราชินี Christina แห่งสวีเดนเมื่อครั้งที่เสด็จโรม ความสัมพันธ์ที่ “ลึกซึ้ง” ระหว่างพระนางกับ Cassini ได้ทำให้พระนางทรงเปลี่ยนศาสนามานับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคทอลิกที่มีสันตะปาปาเป็นผู้นำ

ในช่วงเวลาที่มีชีวิต Cassini ได้ทำงานวิชาการหลายด้านเช่น เป็นนักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ วิศวกร และโหรทำให้มีผลงานมากมายและหลากหลาย เช่น ได้พบช่องว่างในแถบวงแหวนของดาวเสาร์ (Cassini Division) ได้ตระหนักว่า ความเร็วแสงมีค่าจำกัดทำให้นักวิทยาศาสตร์มีวิธีวัดความเร็วได้ เป็นนักทำแผนที่ และเป็นนักการเมืองผู้มีบทบาทและความสามารถเป็นที่ยอมรับในวงการเมือง

ทุกวันนี้ชื่อ Cassini เป็นชื่อของหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์และดาวอังคาร ชื่อของบริเวณที่มีสีคล้ำบนดวงจันทร์ Iapetus ของดาวเสาร์ (บริเวณนั้นชื่อ Cassini Regio) เมื่อ NASA มีโครงการส่งยานอวกาศไปเยือนดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวาร NASA ได้ตั้งชื่อโครงการว่า Cassini – Huygens Mission นอกจากนี้วงการดาราศาสตร์ก็ยังมีดาวเคราะห์น้อยชื่อ 24101 Cassini ด้วย

Giovanni Domenico Cassini เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ.1625 ที่เมืองPerunaldo ในแคว้น Genoa ของอิตาลี เข้ารับการศึกษาที่ The Jesuit College ในเมือง Genoa เพื่อเรียนคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์กับโหราศาสตร์ขั้นสูง เมื่อสำเร็จการศึกษาได้งานที่หอดูดาว Panzano จากนั้นได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Bologna ตามพระบัญชาของสันตะปาปา Clement ที่ 9

ในเวลานั้นประเทศฝรั่งเศส มีกษัตริย์ปกครองคือสมเด็จพระเจ้า Louis ที่ 14 ซึ่งมีพระฉายาว่า สุริยะกษัตริย์ (Sun King) พระองค์ทรงจัดตั้ง Academy of Sciences and Arts และได้จัดสร้างหอดูดาวที่ดีที่สุดในโลกให้นักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสทำงาน พระองค์ได้ทรงมอบหมายให้นายกรัฐมนตรี Jean – Baptiste Colbert เป็นผู้รับผิดชอบในการแสวงหานักดาราศาสตร์ที่มีความสามารถสูงสุดมาประจำที่หอดูดาว และให้หานักวิทยาศาสตร์กับศิลปินที่มีความสามารถสูงมาทำงานถวายพระองค์ด้วย

เมื่อทราบพระราชประสงค์ของผู้บังคับบัญชา บุคคลแรกที่ Colbert นึกถึงคือ Giovanni Cassini ผู้มีผลงานโดดเด่นด้านดาราศาสตร์มากมาย เช่น ในปี 1665 ได้เห็นจุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) บนดาวพฤหัสบดีในเวลาไล่เลี่ยกับ Robert Hooke ได้เคยสร้างเขื่อนทดน้ำจากแม่น้ำ Po ไม่ให้ไหลท่วมพัง แต่ในเวลานั้น Cassini กำลังครองตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Bologna ดังนั้น Colbert จึงต้องขอซื้อตัวโดยได้เสนอเงินประจำตำแหน่งมากเป็นสามเท่าของเงินเดือนที่ Cassini กำลังได้รับ และสัญญาจะให้ความสะดวกสบายอีกมากมาย จน Cassini ตอบปฏิเสธไม่ได้ และได้ทูลขออนุญาตต่อองค์สันตะปาปาก่อนจะทิ้งงานไป

เพราะในช่วงเวลานั้นสันตะปาปาทรงประสงค์จะมีสัมพันธไมตรีที่ดีกับฝรั่งเศส และไม่ประสงค์จะมีความขัดแย้งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนาหรือการเมือง ดังนั้นสันตะปาปาจึงทรงไม่ขัดข้องที่จะให้ Cassini ไปทำงานที่ปารีสในปี 1669 ในตำแหน่งองคมนตรีแห่งราชสำนักฝรั่งเศส โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษาในการสร้างกล้องโทรทรรศน์ และทำงานวิทยาศาสตร์ร่วมกับนักวิชาการฝรั่งเศสคนอื่นๆ

ในเบื้องต้น Cassini ตั้งใจว่าจะรับงานนี้เป็นงานชั่วคราว จึงทูลขอให้สันตะปาปาทรงจ่ายเงินเดือนให้ในขณะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัย Bologna จนกระทั่งกลับอิตาลี แม้บรรดาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยจะคัดค้านการให้เงินเดือน Cassini สักเพียงใด สันตะปาปาก็ทรงไม่ฟัง เพราะทรงถือว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีค่ายิ่งกว่าความไม่พอใจของอาจารย์มหาวิทยาลัย

หลังจากที่ทำงานได้หนึ่งปี ในปี 1675 Cassini เป็นบุคคลแรกที่ได้พบว่า แถบบรรยากาศในส่วนต่างๆ ของดาวพฤหัสบดีมีความเร็วในการเคลื่อนที่แตกต่างกัน และได้พบช่องว่าง Cassini ในวงแหวนรอบดาวเสาร์ ผลงานนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงโปรดปรานมาก ดังนั้น เมื่อหอดูดาวที่ปารีสถูกสร้างเสร็จในปี 1682 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงทรงโปรดเกล้าให้ Cassini ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการประจำหอดูดาว และ Cassini ได้ครองตำแหน่งนี้จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1712

เมื่อผลงานเป็นที่ประทับใจองค์กษัตริย์มากเช่นนี้ ในปี 1673 พระองค์จึงทรงโปรดให้ Cassini แปลงสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศส ความผูกพันระหว่างกษัตริย์กับคนต่างชาติในลักษณะนี้ทำให้นักวิชาการฝรั่งเศสหลายคนอิจฉา ในทำนองเดียวกับเหล่าอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Bologna แต่ Cassini ก็ไม่สนใจ โดยมุ่งหน้าทำงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสต่อไป

แต่มีครั้งหนึ่งที่การทำงานของ Cassini ได้ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงผิดหวัง คือในปี 1672 Cassini กับเพื่อนชื่อ Jean – Felix Picard และ Philippe de La Hire ได้อาสาทำแผนที่ของประเทศฝรั่งเศสใหม่ โดยใช้ความรู้ดาราศาสตร์ที่ได้จากการสังเกตดวงจันทร์ทั้ง 4 ของดาวพฤหัสบดีจากสถานที่ต่างๆ ในฝรั่งเศส ในการคำนวณระยะทางระหว่างเส้นแวงที่ลากผ่านสถานที่เหล่านั้น การสำรวจแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของประเทศฝรั่งเศสมีค่าน้อยกว่าพื้นที่ๆ นักภูมิศาสตร์ได้คำนวณไว้ถึง 20% ตัวเลขนี้ทำให้พระเจ้าหลุยส์ตรัสทำนองน้อยพระทัยว่านี่คือ การตอบแทนที่พระองค์ทรงได้รับจาก Cassini ที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูเป็นอย่างดี

Cassini ได้จัดให้นักดาราศาสตร์ Jean Richer เดินทางไปเมือง Payenne ในประเทศ French Guiana ในขณะที่ Cassini ยังพำนักอยู่ที่ Paris เพื่อสังเกตดาวอังคารในเวลาเดียวกันและใช้ข้อมูลที่ได้คำนวณระยะทางที่ดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกด้วย และเมื่อรู้ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์ก็สามารถใช้วิชาเรขาคณิตคำนวณระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงดาวอังคารได้

ในเบื้องต้น Cassini เชื่อว่าโลกคือศูนย์กลางของระบบสุริยะ แต่การสังเกตวิถีโคจรของดาวเคราะห์ต่างๆ ในเวลาต่อมาทำให้ Cassini เปลี่ยนใจไปเชื่อทฤษฎีของ Copernicus ในที่สุด

หอดูดาวปารีสนั้นอยู่ในชนบทที่ไกลจากปารีสมาก ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายจึงรู้สึกว่า การเดินทางไปที่หอดูดาวไม่สะดวก และเสียเวลามาก แม้จะเป็นพระราชประสงค์ในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ตาม บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจึงสนับสนุนให้มีการประชุมที่ปารีสแทน นอกจากนี้ ในสายตาของ Cassini เองก็รู้สึกว่า หอดูดาวมีสภาพเหมือนพระราชวังมิใช่ห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์ แม้จะไม่มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมาแวะเยือน และอยู่ปฏิบัติงาน แต่หอดูดาวปารีสภายใต้การนำของ Cassini ก็ได้สร้างผลงานที่สำคัญมากมาย เช่น ในปี 1676 ได้พบว่า แสงมีความเร็วที่สามารถวัดค่าได้ และเมื่อ Cassini ได้สังเกตเห็นวงโคจรที่มีลักษณะไม่ปกติของดาวยูเรนัส ข้อมูลที่ได้สามารถช่วยให้นักดาราศาสตร์ในเวลาต่อมารู้ตำแหน่งของดาวเคราะห์ Neptune ที่ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนด้วย

Cassini รู้สึกสนุกสนานกับการใช้ชีวิตในฝรั่งเศสมาก หลังจากที่ได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศสแล้ว Cassini ก็ได้เปลี่ยนชื่อจาก Giovanni Domenico เป็น Jean – Dominique แต่ชื่อสกุลก็ยังคงเดิมคือ Cassini

ในบั้นปลายชีวิต คือในปี 1711 ตาของ Cassini เป็นต้อหิน ที่ต่อมาได้บอดสนิทเป็นการจบชีวิตทำงานของนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ.1712 สิริอายุ 87 ปี

หลังจากที่ Cassini ได้จากไปแล้วในปี 1785 หอดูดาวปารีสก็ได้จัดสร้างห้องสมุด Cassini ประจำหอดูดาว โดยเหลนของ Cassini ได้มอบข้อมูลดาราศาสตร์ทั้งหมดที่บรรพบุรุษตั้งแต่ทวด-ปู่ และบิดา ซึ่งต่างก็เคยเป็นผู้อำนวยการของหอดูดาวหามาได้ให้แก่มหาวิทยาลัยปารีส

ห้องสมุดนี้ยังมีเอกสารต้นฉบับที่ Joseph Nicolas Deliste ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้รวบรวมมาจากที่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและรัสเซียด้วย และชิ้นที่มีค่ามากที่สุดคือกล่องเอกสาร 16 กล่องของนักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ชื่อ Johannes Hevelius ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้วาดภาพผิวของดวงจันทร์อย่างละเอียด และได้ศึกษาจุดบนดวงอาทิตย์ (sunspot) และมีภาพวาดผิวของดวงจันทร์ที่ Cassini วาดด้วย ถ้าดูรูปที่วาด ทุกคนก็จะเห็นได้ชัดว่า Cassini มิได้มีฝีมือด้านนี้เลย

ณ วันนี้หอดูดาวที่ปารีสยังมีสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บอุปกรณ์ดาราศาสตร์ร่วม 500 ชิ้น บางชิ้นมีขนาดมโหฬารมาก และมีกล้องโทรทรรศน์ของ Léon Foucault ผู้เป็นคนแรกที่สาธิตให้เห็นว่าโลกหมุนรอบตัวเอง เพราะกล้องของ Foucault ใช้กระจกสะท้อนแสงที่ถูกเคลือบด้วยเงิน และเป็นต้นแบบของกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่เราใช้ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติมจาก “The Cassini Family and the Paris Observatory” ใน Astronomical Society of the Pacific Leaflets : 146-153 Bicode 1947

เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น