ส่อง “โรงงานผลิตพืช” ของญี่ปุ่นปลูกผักได้ในระบบปิด ไม่ต้องกลำแดดตากลม ควบคุมคุณภาพพืชผักได้ง่าย ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ใช้พื้นที่น้อย และมีประสิทธิภาพทั้งได้ผลผลิตสูงแต่ใช้ทรัพยากรน้อย ด้านกระทรวงวิทย์เตรียมผลักดันอุตสาหกรรมเกษตรตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
จากนี้ไปคนไทยจะมัวทะนงว่าเป็นดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำของโลกอยู้ไม่ได้แล้ว เพราะญี่ปุ่นดินแดนเกาะที่มีพื้นที่และทรัพยากรจำกัดนั้นก้าวหน้าไปถึงขั้นตั้งโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ที่สามารถปลูกพืชผักภายในโรงงานที่มีพื้นที่จำกัด โดยไม่เปลืองทรัพยากรทั้งน้ำ ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง แต่ได้ผลผลิตมากและควบคุมคุณภาพได้ดีกว่าการเพาะปลูกระบบปิด
โรงงานผลิตพืชเป็นเทคโนโลยีที่สามารถมาช่วยเกษตรกรยุคใหม่ให้สร้างผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการผลิตพืชในระบบปิดหรือกึ่งปิดที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น แสง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และธาตุอาหาร ให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช พัฒนาจากองค์ความรู้แขนงต่างๆ เช่น สรีรวิทยาพืช การเกษตร วิศวกรรม รวมถึงการจัดการเทคโนโลยี
ทั้งนี้ ผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงผู้ริหารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้บริหารศูนย์เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้เยี่ยมชมโรงงานผลิตพืชของบริษัท 808 Factory ณ เมืองชิซึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นได้พัฒนาเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี สามารถปลูกพืชในระบบปิดได้มากกว่า 10 ชั้น โดยขึ้นอยู่กับชนิดของพืช และใช้พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตพืชสำคัญมากต่อการผลิตอาหารและยารักษาโรค และต้องเพิ่มปริมาณให้เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเพิ่มคุณภาพของผลผลิต และการใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์4.0” จากเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนโยบายให้นำเทคโนโลยีมาใช้เสริมความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรม
"จุดเด่นคือ สามารถผลิตพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ทั้งด้านอัตราการผลิต ที่ให้ผลผลิตสูงโดยใช้พื้นที่และเวลาน้อย และใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อย เพิ่มคุณภาพของพืชเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิต เช่น การเพิ่มวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดที่ใช้เป็นยารักษาโรค และคุณสมบัติทางกายภาพอื่นๆ เช่น ผิวสัมผัส รสชาติ และอายุหลังการเก็บเกี่ยวที่ยาวนานขึ้น และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและต่อมนุษย์ เช่น การลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการลดใช้ทรัพยากรน้ำและธาตุอาหาร"
ด้าน ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่าไบโอเทคนำเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชมาประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชมูลค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชในกลุ่มสมุนไพร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงสามารถกำหนดให้สมุนไพรสร้างสารออกฤทธิ์ตามความต้องการได้ด้วย เช่น สมุนไพรบางตัวจะมีการผลิตสารสำคัญทางยาอย่าง น้ำมันหอมระเหย (Essential oil) แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) หรือแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ออกมาในเวลาพืชเกิดความเครียดจากสิ่งแวดล้อม
“บริษัท 808 Factory มีโรงงานผลิตพืชขนาดใหญ่ มีระบบการจัดการแบบปิดที่มีการควบคุมสภาวะแวดล้อมต่างๆ ทั้ง แสง น้ำ อากาศ การให้ปุ๋ย ทำให้พืชผักที่ปลูกในโรงงานแห่งนี้ ไม่มีการปนเปื้อนจากโรคและแมลงศัตรูพืช โรงงานแห่งนี้มีพื้นที่การผลิตอยู่ที่ 1,000 ตารางเมตร สามารถปลูกพืชได้มากถึง 120,000 ต้น มีอัตราการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 9,000 ต้นต่อวัน การผลิตพืชระบบนี้ลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ไปได้มาก เช่น ลดการใช้สารฆ่าแมลง ลดการใช้น้ำ ลดการใช้ปุ๋ย ประหยัดพื้นที่เพาะปลูก เทคโนโลยีนี้เหมาะสมที่จะนำไปเสริมคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างรายได้ให้ประเทศต่อไป” ดร.สมวงษ์กล่าว