xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มต้นฤดูกาลถ่ายภาพทางช้างเผือกใบแรกของปี 2561

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 2500 / Exposure : 30 sec)
ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็ถือเป็นช่วงของการเริ่มต้นถ่ายภาพทางช้างเผือกกันอีกครั้งหนึ่งในรอบปี 2561 โดยสภาพอากาศส่วนมากของประเทศไทยก็ถือว่ามีท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งใสเคลียร์ปราศจากเมฆฝน เหมาะแก่การเริ่มต้นถ่ายภาพทางช้างเผือกตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป

สำหรับช่วงเดือนธันวาคมถึงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เราจะไม่สามารถถ่ายภาพแนวใจกลางทางช้างเผือกได้ เนื่องจากดวงอาทิตย์เคลื่อนที่มาอยู่ตรงบริเวณใกล้กับกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู ซึ่งเป็นตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกนั่นเอง หรือในทางดาราศาสตร์เรามักอธิบายว่า เมื่อใดที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่มาอยู่ตรงบริเวณกลุ่มดาวราศีใด ก็จะตรงกับเดือนนั้นนั่นเองครับ และในเดือนกุมภาพันธ์ดวงอาทิตย์ก็เริ่มเคลื่อนที่จากราศีมกรไปยังราศีกุมภ์ ทำให้ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากกลุ่มดาวคนยิงธนูมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากนี้เป็นต้นไป เราก็จะสามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้เร็วขึ้นและนานขึ้น ไปจนถึงปลายเดือนตุลาคมกันเลยทีเดียวครับ

ทำความรู้จักทางช้างเผือกกันก่อน

ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อมองจากโลก สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ลักษณะเป็นแถบสว่างพาดเป็นแนวยาวกลางฟ้า ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้

หลายคน “มักมีความเข้าใจผิดว่าทางช้างเผือกนั้นจะเห็นได้ในบางช่วงของปีเท่านั้น” แต่แท้จริงแล้วทางช้างเผือกนั้นเราสามารถสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งปีเพียงแต่บางช่วงเราก็เห็นส่วนของใจกลางบ้างด้านข้างของทางชว้างเผือกบ้างแต่ก็เห็นได้นะครับ แต่ไฮไลท์ของการถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้น คือการถ่ายตรงบริเวณแนวใจกลางทางช้างเผือกที่แนวที่สว่างที่สุด ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือน กุมภาพันธ์ไปจนถึงปลายตุลาคมของทุกปี ที่เป็นช่วงที่ไม่ถูกแสงดวงอาทิตย์รบกวนเท่านั้น

ใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) คือส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือก ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมาย อาทิ ดาวฤกษ์ กระจุกดาว เนบิวลา เป็นต้น แนวใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู ปรากฏบนท้องฟ้าในตำแหน่งที่เฉียงไปทางใต้ และเนื่องจากใจกลางทางช้างเผือกอยู่บริเวณกลุ่มดาวซีกฟ้าใต้ ทางภาคใต้ของไทยจึงมองเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่สูงจากมวลอากาศบริเวณขอบฟ้าและสูงจากขอบฟ้ามากกว่าภูมิภาคอื่น ชาวใต้จึงมีโอกาสสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ชัดเจนมากกว่าภูมิภาคอื่น
ภาพจำลองแสดงตำแหน่งแนวใจกลางทางช้างเผือกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยสามารถเริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลา 04:00 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจัยหลักๆ ที่เราจะทำให้เราถ่ายภาพทางช้างเผือกมี ดังนี้
1. เวลา : เวลาที่สามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ เช่นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เราจะสามารถเริ่มสังเกตเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกได้ตั้งแต่ก่อนรุ่งเช้าเวลา 4.00 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
2. สถานที่ : สถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกต้องมีความมืดสนิทปราศจากแสงรบกวนหรือมลภาวะทางแสง และสามารถจะสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกได้ชัดเจน

เทคนิคที่ผมใช้ในการสังเกตว่าสถานที่นั้นนอกจากมืดแล้ว ค่าทัศนวิสัยของท้องฟ้าดีแค่ไหนนั้น เราลองดูจากการกระพริบแสงของดาวฤกษ์ได้เช่นกัน หากท้องฟ้าใสเคลียร์มีทัศนวิสัยท้องฟ้าที่ดีมากๆ ดาวฤกษ์มักไม่ค่อยกระพริบแสง แสงจะนิ่งๆ แต่หากสังเกตเห็นว่าแสงของดาวฤกษ์มีการกระพริบแสงค่อนข้างมาก ก็แสดงให้เห็นว่าท้องฟ้ามีฝุ่นหรือเมฆอยู่พอสมควรซึ่งอาจทำให้บดบังทัศนวิสัยของท้องฟ้าได้

3. สภาพอากาศ : นอกจากสภาพอากาศโดยรวมจะต้องใสเคลียร์แล้ว ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ สภาพท้องสภาพท้องฟ้าตั้งแต่บริเวณของฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องใสเคลียร์ปราศจากเมฆรบกวนด้วยเพราะเป็นทิศที่ทางช้างเผือกจะเริ่มขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศนี้ครับ

4. อุปกรณ์ : กล้อง เลนส์ และขาตั้งกล้อง ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ในการถ่ายภาพ ซึ่งกล้องถ่ายภาพที่ใช้ควรจะสามารถปรับค่าความไวแสง(ISO) ได้สูงๆ รวมทั้งเลนส์มุมกว้างแบบไวแสง (รูรับแสงกว้างๆ) ก็จะช่วยให้เราได้ภาพทางช้างเผือกที่สว่างชัดเจนมากขึ้น

เทคนิคในการถ่ายภาพทางช้างเผือก เพื่อให้ได้ภาพ (ในช่วงเดือนนี้)

1. ควรเดินทางไปถึงสถานที่ถ่ายภาพก่อนเวลา 4.00 น.

2. สามารถใช้แอพพลิเคชั่น เช่น Star chart ในการหาทิศทางหากไม่แน่ใจตำแหน่งทิศทางของแนวใจกลางทางช้างเผือก

3. ปรับโฟกัสให้คมชัดที่สุดด้วยดาวสว่าง (ปิดระบบออโต้โฟกัส) เช่นช่วงนี้สามารถใช้ดาวพฤหัสบดี หรือดาวแอนทาเรสในกลุ่มดาวแมลป่องช่วยในการปรับโฟกัสได้

4. เริ่มต้นถ่ายภาพด้วยความไวแสง (ISO) ที่สูงที่สุด และรูรับแสงที่กว้างที่สุด ด้วยเวลาการเปิดหน้ากล้องไม่นานมากนัก หลังจากที่ถ่ายติดภาพทางช้างเผือกแล้ว จึงค่อยปรับองค์ประกอบภาพ และลดค่าความไวแสงลงมาพร้อมทั้งใช้การคำนวณเวลาการถ่ายภาพจากสูตร Rule of 400/600 (https://goo.gl/zzTcsH)

5. ตำแหน่งทางช้างเผือก ยิ่งสูงยิ่งชัดเจน ดังนั้นหากต้องการให้ได้ภาพทางช้างเผือกที่สว่างชัดเจนมากที่สุด ควรถ่ายภาพในช่วงที่แนวใจกลางอยู่สูงจากขอบฟ้า

6. เปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อลดสัญญาณรบกวน พร้อมกับภารถ่ายภาพด้วย RAW file เพื่อสามารถนำมาปรับในภายหลัง
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/3.5 / ISO : 2500 / Exposure : 30 sec)
จากภาพถ่ายทางช้างเผือกใบแรกของผมในปีนี้ แม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะมีแสงดวงจันทร์รบกวนมากกว่า 26 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่อาจบดบังความสว่างของใจกลางทางช้างเผือกได้ เนื่องจากปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด คือสถานที่ที่มีสภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ปราศจากแสงไฟรบกวน เช่น ยอดดอยอินทนนท์ทำให้สามารถถ่ายภาพ “ทางช้างเผือกใต้แสงจันทร์” ได้ค่อนข้างสว่างชัดเจน

*** อย่างไรก็ตามในการถ่ายภาพควร “ตรวจสอบช่วงเวลาการขึ้น-ตกของดวงจันทร์” ด้วยครับ ว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีแสงดวงจันทร์รบกวนหรือไม่ เพราะแสงของดวงจันทร์นั้นหากมีความสว่างมาก ก็จะกลบแสงทางช้างเผือกได้เช่นกัน

ปัจจุบันเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า มีจำนวนคนไม่น้อยที่ชื่นชอบและหลงใหลการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์กันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากเราหันมาให้ความสำคัญกับการร่วมมืออนุรักษ์เขตท้องฟ้ามืดกันให้มากขึ้น ก็เชื่อได้ว่าในอนาคตประเทศเราจะมีสถานที่สำหรับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์เพิ่มมากขึ้น จนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานที่ในเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้การรับรอง Dark Sky Certification จาก IDA หรือ International Dark-Sky Association องค์กรระหว่างประเทศที่สร้างมาตรฐานท้องฟ้ามืดมิดจนเข้าถึงความงดงามของธรรมชาติ และหากได้การรับรองนี้ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวยิ่งขึ้นไปอีกด้วยครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน



กำลังโหลดความคิดเห็น