ภาพยนตร์ทาร์ซานเมื่อ 100 ปีก่อน กล่าวถึงทาร์ซานในวัยเด็กว่าได้รับการฝึกฝนให้โหนเถาวัลย์โดยลิงชิมแปนซี แต่ในความเป็นจริงลิงที่โหนเถาวัลย์ได้คล่องแคล่วกว่ามาก คือ ลิงอุรังอุตัง ความผิดพลาดนี้เกิดจากการที่ Edgar Rice Burrough ผู้ประพันธ์เรื่องทาร์ซานในปี 1912 ไม่รู้จักลิงอุรังอุตัง
อุรังอุตัง (orangutan) เป็นคำในภาษามาเลย์ที่แปลว่า คนชราที่อาศัยอยู่ในป่า การตั้งชื่อเช่นนี้ เพราะชาวบ้านมักเห็นมันมีลักษณะเหมือนคนแก่ที่ชอบหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับคน
อุรังอุตัง Pongo abelii และ Pongo pygmaeus เป็นสปีชีส์ที่พบอาศัยอยู่ในป่าบนเกาะสุมาตราและบอร์เนียวตามลำดับ ตาของมันมีขนาดเล็ก ขนตามตัวมีลักษณะยาวตรง และมีสีน้ำตาล ตัวผู้ที่โตเต็มที่จะสูงประมาณ 1.4 เมตร หนักประมาณ 90 กิโลกรัม และมีอายุยืนถึง 60 ปี ส่วนตัวเมียมีขนาดเล็กประมาณครึ่งหนึ่งของตัวผู้ ลิงชนิดนี้มีขาสั้น แต่มีแขนยาวสำหรับใช้อุ้งมือยึดกิ่งไม้เวลาโหนตัว ตามปกติอุรังอุตังชอบใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้ และไม่ชอบเดินพื้น แม้จะโหนเถาวัลย์ได้ไม่ดีเท่าชะนี แต่มันก็มีความสามารถในการโหนที่นับว่าเยี่ยม จึงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ อุรังอุตังชอบสร้างรังบนต้นไม้ให้อยู่สูงตั้งแต่ 10-25 เมตร อาหารที่มันชอบบริโภคได้แก่ เปลือกไม้ ไข่นก ใบไม้ หน่อไม้ และผลไม้ เช่น ทุเรียน
ตามปกติอุรังอุตังชอบใช้เสียงในการสื่อสาร ลิงตัวผู้ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว ส่วนตัวเมียเวลามีลูกอ่อน มันกับลูกจะไปไหนมาไหนด้วยกัน เมื่อถึงฤดูสืบพันธุ์ตัวผู้และตัวเมียจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันเพียง 2-3 วัน จากนั้นตัวเมียจะตั้งครรภ์นานประมาณ 9 เดือน ลูกอุรังอุตังเมื่อคลอดใหม่ๆ จะหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม และจะอยู่กับแม่นานประมาณ 7 เดือนจนเติบใหญ่พอจะเลี้ยงตัวเองได้ มันจึงจะแยกจากแม่ เพราะตัวเมียตั้งครรภ์ทุก 7-8 ปียิ่งไปกว่านั้น มันอาจต้องมีอายุถึง 15 ปีจึงจะสืบพันธุ์ได้ ดังนั้น ลิงพันธุ์นี้จึงมีสมาชิกครอบครัวค่อนข้างน้อย
อุรังอุตังมีความสามารถในการใช้อุปกรณ์ได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์อื่นๆ เช่น รู้จักใช้ก้อนหินกะเทาะเปลือกเมล็ดพืชให้แตก เพื่อจะได้กินเนื้อเมล็ดที่อยู่ข้างใน รู้จักใช้กิ่งไม้แหย่รังผึ้ง เพื่อขับไล่ผึ้งออกจากรัง แล้วมันจะได้กินน้ำผึ้ง รวมถึงรู้จักใช้กิ่งไม้เป็นอาวุธป้องกันตัว เวลาเสือปีนต้นไม้ขึ้นมาจะจับมันกิน ความสามารถในการใช้อุปกรณ์นี้เด่นมากเวลาถูกขัง แต่เวลาอยู่ป่า มันแทบไม่ใช้อุปกรณ์เลย
นอกเหนือจากการมีเสือเป็นศัตรูแล้ว คนก็เป็นศัตรูที่สำคัญของมันด้วย เพราะคนป่าชอบล่ามันเป็นอาหาร และถ้าลิงตัวที่ถูกฆ่าเป็นลิงแม่ลูกอ่อน คนป่าก็จะนำลูกลิงไปขาย หรือนำไปเลี้ยง แต่มักเลี้ยงไม่รอด เพราะลิงน้อยไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เป็นป่าได้
ณ เวลานี้ ป่าอันเป็นที่อยู่อาศัยหลักของอุรังอุตังกำลังถูกมนุษย์เผาทำลาย และไม้ในป่าถูกลอบตัด การสูญพันธุ์ของอุรังอุตังจึงกำลังเป็นปัญหาร้อนปัญหาหนึ่งที่นักอนุรักษ์สัตว์ทั่วโลกตระหนัก
รัฐกาลิมันตันของประเทศอินโดนีเซียมีป่าชื่อ Tanjung Putting ซึ่งทางการได้เก็บสงวนไว้สำหรับเลี้ยงอุรังอุตังโดยเฉพาะ ป่านี้มีอุรังอุตังประมาณ 7,000 ตัว ส่วนที่เมืองบาลิกปาบัน ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะบอร์เนียวนั้นก็เป็นสถานที่เลี้ยงอุรังอุตังอีกสถานที่หนึ่ง ที่สอนและฝึกให้มันรู้จักปรับตัว จนสามารถเอาตัวรอดได้ เวลามันถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะลูกลิงอุรังอุตังที่ได้รับการเลี้ยงดูตั้งแต่เกิดโดยมนุษย์ มักทำอะไรเองไม่เป็น นอกจากนี้การใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดคนเป็นเวลานาน ได้เปิดโอกาสให้เชื้อโรค เช่น วัณโรคและหวัดใหญ่สามารถแพร่สู่อุรังอุตังอื่นๆ ในป่าได้ เพราะสัตว์เหล่านั้นมักไม่มีภูมิคุ้มกัน ดังนั้นมันจะล้มป่วย และอาจล้มตายได้
ด้วยเหตุนี้สถานที่เลี้ยงดูอุรังอุตังทั้งหลายจึงต้องอยู่ในป่า และมีกรงขนาดใหญ่ให้มันได้เดินออกกำลังกาย และโหนกิ่งไม้ ทันทีที่ลิงตัวใหม่เดินทางมาถึงสถานที่เลี้ยงดู เจ้าหน้าที่จะตรวจสุขภาพ เจาะเลือด พิมพ์ลายนิ้วมือ แล้วนำไปกักบริเวณ และตรวจสุขภาพมันจนมั่นใจว่ามันไม่มีโรคติดต่อใดๆ จนกระทั่งมันมีความสามารถในการโหนเถาวัลย์ได้ดี มันจึงจะถูกนำไปปล่อยป่า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะมีชีวิตรอด เพราะการเลี้ยงดูโดยแม่ของมันจะทำให้มีโอกาสรอดชีวิตได้มากกว่า จากการรู้แหล่งและชนิดของอาหารที่มีประโยชน์จากแม่ที่คอยแนะนำและสอน
ในการศึกษาว่า อุรังอุตังที่ถูกเลี้ยงโดยคน เวลาถูกนำไปปล่อยป่าจะมีโอกาสรอดชีวิตเพียงใด นักชีวิทยาที่ศูนย์วิจัยในอินโดนีเซียได้พบว่า ภายในเวลา 18 เดือนหลังจากที่ถูกปล่อย ลิงจะสามารถหาอาหารได้เองประมาณ 40 ชนิด จาก 180 ชนิดที่ป่ามี และตามปกติมันไม่ชอบลองกินอาหารชนิดใหม่ แต่จะกินอาหารนั้นก็ต่อเมื่อได้เห็นลิงอื่นกินให้มันเห็นเท่านั้น
เพราะป่าบนเกาะสุมาตราและบอร์เนียวกำลังถูกทำลายไปตลอดเวลา และอุรังอุตังเองก็สืบพันธุ์ได้ครั้งละตัว อีกทั้งต้องใช้เวลานานจึงตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น ปัญหาอุรังอุตังกำลังจะสูญพันธุ์จึงเป็นเรื่องที่นักอนุรักษ์ทุกคนรู้สึกกังวล และกำลังหาทางปกป้องสัตว์ที่เป็น “ญาติ” ไกลๆ ของมนุษย์ชนิดนี้
ข่าวใหญ่ล่าสุดที่เกี่ยวกับอุรังอุตัง คือ การพบอุรังอุตังสปีชีส์ใหม่ในป่าพื้นที่ 1,000 ตารางกิโลเมตรบนเกาะสุมาตราเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีกลายนี้ การสำรวจเบื้องต้นแสดงว่า ประชากรลิงสปีชีส์นี้มีไม่ถึง 800 ตัว และเมื่อบริเวณใกล้ป่ากำลังมีการสร้างเขื่อน และถนนหลายสายกำลังถูกตัดผ่าน นักอนุรักษ์สัตว์จึงมีความกังวลว่า อุรังอุตังสปีชีส์ใหม่นี้อาจจะสูญพันธุ์ในเวลาอีกไม่นาน
บทความที่ตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสาร Current Biology ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้ได้รายงานการพบลิงอุรังอุตัง Pongo tapanuliensis (ซึ่งตั้งตามชื่อของตำบล Tapanuli ที่พบ) ว่าลิงสปีชีส์ใหม่อยู่ห่างจากอุรังอุตังสปีชีส์เดิมเพียง 100 กิโลเมตรแต่มีความแตกต่างทั้งทางพันธุกรรม กายวิภาค และนิเวศจากสปีชีส์เดิมสองสปีชีส์ที่โลกมี
ย้อนอดีตไปถึงปี 1997 ที่ Erik Meijaard ซึ่งเป็นนักชีววิทยาในสังกัดสถาบัน Borneo Futures ในกรุง Jarkata ได้ติดตามอ่านรายงานของนักสำรวจคนหนึ่งที่เขียนในปี 1935 ว่าเขาได้เห็นอุรังอุตังที่มีขนหยิกงอ และชอบกินตะขาบอาศัยอยู่ในป่า Batang Toru แต่ไม่มีใครคนใดสนใจและติดตามเรื่องนี้ จนกระทั่งปี 2005 Gabriella Fredriksson นักอนุรักษ์ในโครงการ Sumatran Orangutan Consercation Programme ที่เมือง Medan ในอินโดนีเซียจึงได้ลงพื้นที่ ซึ่งสงสัยว่าเป็นแหล่งอาศัยของลิงพันธุ์ใหม่นี้ และได้เห็นว่า มันมีจริง เพราะชอบกินอาหารแปลกๆ เช่น ตะขาบ และลูกต้นสน การตรวจดูมูลของลิงทำให้ได้พบ mitochondrial DNA ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มันมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับอุรังอุตังบนเกาะ Borneo ยิ่งกว่าอุรังอุตังที่อาศัยอยู่บนเกาะ Sumatra
แต่หลักฐานที่พบเห็นนั้นยังไม่เพียงพอ นักชีววิทยายังต้องการกระดูกของมันมาวิเคราะห์ด้วย เวลาได้ล่วงเลยไปถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2013 ก็ได้พบว่า ชาวบ้านได้ฆ่าอุรังอุตังตัวผู้ตัวหนึ่ง หลังจากที่มันได้บุกรุกเข้ามากินผลไม้ในสวน และได้เก็บกะโหลกกับกรามของมันไว้ เพราะเห็นมันแตกต่างจากกะโหลกลิงที่รู้จักดีจำนวน 33 กะโหลกจากพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากภาพถ่ายของลิงเพศผู้ 2 ตัว และเพศเมีย 1 ตัวว่ามันมีขนสีอบเชยที่หยิกงอ และตัวผู้มีหนวดส่วนตัวเมียมีเครา เทปบันทึกเสียงแสดงว่า เสียงร้องของมันแหลมสูงกว่า เป็นจังหวะที่ถี่กว่าลิงสปีชีส์เดิม
การวิเคราะห์ genome ของลิงในเวลาต่อมาได้ช่วยให้นักวิจัยมั่นใจว่า อุรังอุตังนี้เป็นสปีชีส์ใหม่แน่นอน ข้อมูลแสดงว่า เมื่อ 3.4 ล้านปีก่อน สายพันธุ์ของอุรังอุตังที่อยู่ทางตอนเหนือของสุมาตรากับที่อยู่ทางใต้ของเกาะ และบอร์เนียวได้แยกจากกัน (เกาะสุมาตรากับเกาะเบอร์เนียวในอดีตเคยติดกันและแยกกัน ตามระดับน้ำทะเลที่ขึ้นและลง) จนกระทั่งเมื่อ 674,000 ปีก่อน สายพันธุ์ของอุรังอุตังบนเกาะสุมาตราตอนใต้และบอร์เนียวก็ได้แยกจากกันอีก
แม้ลิงที่อยู่ทางตอนเหนือและตอนใต้ของเกาะจะมีเพศสัมพันธุ์กันบ้าง หลังจากที่สายพันธุ์ได้แยกจากกันแล้ว แต่อุรังอุตังสปีชีส์ Tapanuli ก็ได้แยกออกมาอย่างอิสระเมื่อ 20,000 ปีก่อนนี้เอง ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ภูเขาไฟ Toba บนเกาะสุมาตราระเบิด จนทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของลิงถูกทำลายไปมาก และมนุษย์ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะ หลังจากนั้นไม่นาน
เพราะบริเวณที่อาศัยของลิงสปีชีส์ใหม่นี้กำลังถูกบุกรุกโดยคนด้วยการสร้างเขื่อน ตัดป่า และทำเหมือง ดังนั้นนักอนุรักษ์ลิงอุรังอุตังจึงเห็นว่ามันต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน ก่อนจะสายไป โดยได้เสนอให้จัดตั้งหน่วยบริหารระบบนิเวศที่ Batang Toru เพื่อทำงานร่วมกับชาวบ้าน ไม่ให้ตัดป่าอย่างผิดกฎหมายและห้ามล่าลิงเป็นอาหาร อีกทั้งให้ชาวบ้านคิดว่า การพบลิงสปีชีส์ใหม่จะทำให้พื้นที่นั้นเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน และทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติมจาก Wild Man from Borneo: a cultural history of the Orangutan โดย R. Cribb และคณะ จัดพิมพ์โดย University of Hawaii Press ปี 2014
เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์