ยุคนี้บุกรุกป่าไม่ใช่เรื่องที่จะปกปิดกันได้ง่ายๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทั้งเทคโนโลยีดาวเทียมและเทคโนโลยีการสื่อสาร ช่วยให้การตรวจตราและเข้าถึงผู้บุกรุกพื้นที่ป่าได้สะดวกขึ้น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ปาในพื้นที่สามารถรับรู้ข้อมูลการบุกรุกที่ส่งตรงจากวงโคจร และตรงออกไปตรวจยังจุดต้องสงสัย ได้รวดเร็วกวาสุ่มลาดตระเวณ
“พิทักษ์ไพร” คือระบบปฏิบัติการค้นหาพื้นที่บุกรุกด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน โดยแจ้งเบาะแสถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้โดยตรง และเจ้าหน้าที่ส่วนกลางสามารถติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที
ระบบปฏิบัติการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผสานความเชี่ยวชาญด้านการสำรวจทรัพยากรป่าไม้และเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของหน่วยงานจาก 2 กระทรวงเข้าด้วยกัน
นายอนุสรณ์ รังสิพานิช รักษาการผู้เชี่ยวชาญพิเศษของจิสด้า เล่าให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบดังกล่าวว่า มาจากดำริของ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ที่ได้หารือกับอธิบดีกรมป่าไม้ และมีแนวคิดที่จะให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมสำรวจทรัพยากรและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อค้นหาพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก
จากแนวคิดของผู้บริหารนั้น ทีมพัฒนาระบบปฏิบัติการพิทักษ์ไพรของจิสด้า ซึ่งนำโดยนายอนุสรณ์ได้หารือและปรับแก้ระบบให้สอดคล้องกับการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยใช้เวลาประมาณปีกว่าพัฒนาระบบดังกล่าวจนสำเร็จ และได้นำไปใช้งานจริงในพื้นที่หน่วยต่างๆ ของกรมป่าไม้
ตามปกติจิสด้าจะรับข้อมูลดาวเทียมเป็นช่วงเวลาที่แน่นอน ซึ่งฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติของจิสด้านั้น จะนำข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ส่งมาตามตาราง 2 ช่วงเวลามาเปรียบเทียบ ซึ่งบางพื้นที่นั้นบันทึกภาพใหม่ทุกวันหรือทุกสัปดาห์ จากนั้นใช้แบบจำลองเชิงพื้นที่เพื่อหาค่าดัชนีพืชพรรณ ซึ่งเป็นการวัดค่าการสะท้อนแสงอย่างแสงอินฟราเรดและแสงสีแดง แล้วหาพื้นที่ที่มีพืชพรรณต่างๆ ได้ หากพื้นที่ป่ามีการเปลี่ยนแปลงค่าที่ได้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ทว่าค่าที่เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้ทั้ง การผลัดใบของป่าบางชนิด การทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านบางพื้นที่ ไฟป่า หรือการทำกินในพื้นที่ สปก.ที่ได้สิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งข้อมูลในส่วนหลังนั้นมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยโดยที่ทีมพัฒนาระบบปฏิบัติการพิทักษ์ไพรไม่ทราบถึงข้อมูลดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ตรวจคัดกรองอีกทีว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการบุกรุกป่าจริงหรือไม่
เมื่อข้อมูลสารสนเทศบ่งชี้ว่าพื้นที่ป่าถูกบุกรุกและได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้แล้ว ระบบจะส่งข้อมูลแจ้งเตือนไปถึงเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ทั้งผ่านตรวจพบผ่านระบบปฏิบัติการพิทักษ์ไพร โดยแสดงข้อมูลในระบบว่า “จุดเข้าใหม่” รวมถึงแจ้งเตือนผ่านระบบข้อความทางโทรศัพท์มือถือ และอีเมล
นอกจากนี้ในการแจ้ง “จุดต้องสงสัย” นั้น ต้องการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองของจิสด้าแล้ว ประชาชนทั่วไปยังสามารถแจ้งจุดต้องสงสัยเข้าไปในระบบได้ และผ่านการคัดกรองโดยเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เช่นเดียวกัน หลังจากระบบแจ้งจุดเข้าใหม่แล้วเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะรับทราบและแจ้งเข้าระบบว่า “กำลังดำเนินการ” ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องรับทราบภายใน 1 วันหลังมีการแจ้งจุดเข้าใหม่ ไม่เช่นนั้นจะแสดงถึงการละเลยหน้าที่
การดำเนินการนั้นมีระยะเวลา 5 วัน ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการแล้วสามารถส่งข้อมูลรายงานเข้าระบบได้ทั้งในแบบข้อความและรูปภาพ โดยในการดำเนินการนั้นมีความเป็นไปได้ว่าจุดต้องสงสัยดังกล่าวนั้นเป็นไปได้ทั้ง “จุดบุกรุก” และ “ไม่ใช่จุดรุก” ซึ่งเจ้าหน้าทีสามารถแจ้งรายละเอียดและหลักฐานทั้งคำอธิบายเป็นข้อความและรูปภาพเข้าระบบได้
“ระบบปฏิบัติการนี้เป็นกลไกให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงาน และช่วยชี้เป้าให้เห็นพื้นที่ถูกบุกรุกได้เร็ว และป้องกันได้เร็ว อีกทั้งยังเป็นการเฝ้าระวังและเป็นจิตวิทยาป้องปรามให้กลัวการถูกจับกุม และยังส่งผลให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่อื่นๆ ต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ เพราะระบบนี้ช่วยให้อธิบดีกรมป่าไม้สอดส่องได้ว่าเจ้าหน้าที่ทำงานหรือไม่” นายอนุสรณ์กล่าวถึงประโยชน์ของระบบปฏิบัติการพิทักษ์ไพร
สำหรับประชาชนผู้สนใจและอยากรวมเฝ้าระวังการบุกรุกป่า สามารถเข้าระบบได้จากแอปพลิเคชันทางเว็บไซต์ https://change.forest.go.th/download หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “พิทักษ์ไพร” ผ่าน Google Play ของสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ App Store ของสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการไอโอเอส