xs
xsm
sm
md
lg

พบชุมชนชาวมายานับล้านชีวิตหลับใหลอยู่ใต้ป่ากัวเตมาลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดิจิทัลสามมิติที่สร้างขึ้นจากข้อมูลไลดาร์เผยให้เห็นเมืองชนเผ่ามายาที่อยู่ใต้ป่าในกัวเตมาลา (Canuto & Auld-Thomas/PACUNAM via AP)
พบร่องรอยชาวมายานับล้านซ่อนตัวในป่าทึบของกัวเตมาลา

ชนเผ่ามายายังคงมีเรื่องราวลึกลับที่ค่อยๆ เผยออกมาทีละน้อย ล่าสุดนักวิจัยได้ค้นพบร่องรอยที่แสดงว่า ในอดีตผู้คนนับล้านชีวิตของเผ่าพันธุ์ที่มีอารยธรรมชั้นสูงนี้ ได้เคยอาศัยอยู่ในพื้นซึ่งปัจจุบันกลายเป็นป่ารกทึบ

การค้นพบในครั้งนี้นักวิจัยได้ใช้เทคนิคชั้นสูงในการทำแผนที่ค้นพบอาคารบ้านเรือน แนวกำแพงและพีระมิดของชนเผ่ามายาหลายแสนแห่งเรียงตัวหนาแน่นอยู่ในป่ารถทึบของภูมิภาคเพเตน (Peten region) ของกัวเตมาลา ซึ่งก่อนหน้านี้หาไม่พบ การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าเคยมีผู้คนอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้มากกว่าหลายล้านคน อย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน

เครือข่ายนักโบราณคดีทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรปและกัวเตมาลา ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิมรดกและวัฒนธรรมมายา (Mayan Heritage and Nature Foundation) ของกัวเตมาลา ได้แถลงการค้นพบครั้งนี้ รวมถึงการค้นพบอีกหลายครั้ง ซึ่งมีทั้งค้นพบพื้นที่ทำเกษตรระดับอุตสาหกรรมและคลองชลประทานอีกจำนวนมาก

จากการศึกษาประมาณคร่าวๆ ว่าผู้คนราวๆ 10 ล้านคนอาจจจะเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มมายา นั้นหมายความว่ามีความจำเป็นที่จะต้องผลิตอาหารเป็นปริมาณมาก ซึ่ง มาร์เซลโล เอ คานูโต (Marcello A. Canuto) ศาสตราจารย์จากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) ในสหรัฐฯ กล่าวว่า จำนวนดังกล่าวมากกว่าที่เคยกล่าวถึง 2-3 เท่า

ทีมนักวิจัยใช้เทคโนโลยีทำแผนที่ที่เรียกว่าไลดาร์ (LiDAR: Light Detection And Ranging) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้แสงเลเซอร์ค้นหาเค้าโครงที่ซ่อนอยู่ใต้พุ่มไม้ที่หนาแน่น โดยวัดการสะท้อนหลับของแสงเลเซอร์ที่ส่องกราดไปพื้น และภาพที่ได้ออกมานั้นเผยให้เห็นว่า ชาวมายาปรับเปลี่ยนภูมิประเทศออกไปกว้างกว่าที่เคยคิด ในบางบริเวณพบว่า 95% ของพื้นที่ใช้ไปเพื่อการเพาะปลูก

“การเกษตรของพวกเขาจริงจังและยั่งยืนกว่าที่พวกเราคิดไว้มาก และพวกเขาเพาะปลูกแทบจะทุกตารางนิ้วของพื้นที่” ฟรานซิสโก เอสตราดา-เบลลี (Francisco Estrada-Belli) รองศาสตราจารย์วิจัยจากมหาวิทยาลัยทูเลนกล่าว และเสริมว่าชาวมายายังสูบน้ำจากหนองน้ำเข้าพื้นที่ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเหมาะแก่การเพาะปลูกด้วย อีกทั้งกำแพงป้องกันที่ยาวเหยียด ระบบคูน้ำและเขื่อนดิน และคลองชลประทาน แสดงให้เห็นถึงการใช้แรงงานจำนวนมาก

ด้านโทมัส การ์ริสสัน (Thomas Garrison) รองศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาของวิทยาลัยอีทากา (Ithaca College) ในนิวยอร์ก สหรัฐฯ เสริมว่าบริเวณดังกล่าวยังมีความเป็นเมืองรวมอยู่ด้วย เพราะมีคลองขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นเพื่อเปลี่ยนทิศทางน้ำไหลตามธรรมชาติ

แผนที่กว่า 2,100 ตารางกิโลเมตรที่ทำเสร็จแล้วนี้ ทำให้เราได้รับรู้ว่าชาวมายาที่เคยมีวัฒนธรรมรุ่งเรืองเมื่อช่วงประมาณ 1000 ปีก่อนคริตศักราช ถึง 900 ปีหลังคริตศักราช มีพื้นที่ครอบครองขยายกว้างออกไปจากที่เคยคาดไว้ และถึงตอนนี้ลูกหลานของพวกเขาก็ยังคงอาศัยอยู่ในแถบนั้น

การทำแผนที่ยังทำให้ตรวจพบสิ่งก่อสร้างอีกกว่า 60,000 โครงสร้าง ซึ่งในจำนวนนั้นมีศูนย์กลางประกอบพิธีตามความเชื่อของชาวมายาอีก 4 แห่ง ซึ่งมีลานกว้างและปิรามิดอีกจำนวนมาก

การ์ริสันกล่าวอีกว่าปีนี้เขาลงพื้นที่สำรวจพร้อมกับข้อมูลจากไลดาร์เพื่อค้นหาถนนเส้นหนึ่งที่ปรากฏในข้อมูล ซึ่งเขาก็ได้พบถนนดังกล่าวและบอกว่าหากไม่มีข้อมูลจากไลดาร์ก็ไม่รู้แน่ชัดว่านั่นคืออะไร และคงเหยียบย่ำบริเวณดังกล่าวไปมาโดยไม่รู้เพราะความหนาแน่นของต้นไม้ใบไม้ที่ปกคลุมอยู่

การ์ริสันสังเกตอีกว่าพื้นที่เพาะปลูกของชาวมายันไม่เหมือนกับเมืองโบราณอื่นๆ พื้นที่เกษตร ถนน และอาคารบ้านเรือนภายนอกถูกทำลายไปตามลำดับของการทำเกษตรกรรม แถมป่าขึ้นปกคลุมพื้นที่การเกษตรและโครงสร้างอาคาร ยังช่วยซ่อนและปกป้องพวกมันไว้

“ในป่านี้ซึ่งหลบซ่อนเราจากความพยายามค้นหามายาวนานนี้ แท้จริงแล้วยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือพิทักษ์รักษาผลกระทบจากการพัฒนาที่ดินที่เกิดขึ้นทั่วภูมิประเทศ” การ์ริสันกล่าว ซึ่งนอกจากทำงานในโครงการนี้แล้วเขายังเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเมืองเอลซอตส์ (El Zotz) ในกัวเตมาลา

ทั้งนี้ ข้อมูลไลดาร์ได้เผยให้เห็นโครงสร้างที่ไม่เคยตรวจพบมาก่อน อยู่ระหว่าง 2 เมือง ที่การ์ริสันเรียกว่าเป็นเสมือน “ป้อมปราการ” ของเมืองมายา ซึ่งบางส่วนของโครงสร้างเมืองมายาที่อยู่บนยอดดอยนี้มีระบบคูดินและเขื่อนนี้สูงถึง 9 เมตร แต่ทีมสำรวจก็เดินผ่านไปโดยไม่เห็นอะไร

ด้านคานูโตกล่าวว่า ทันทีที่ได้เห็นภาพจากข้อมูลไลดาร์ก็ทำให้ทีมสำรวจรู้สึกเจื่อนๆ เพราะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาได้เดินเหยียบย่ำอยู่ตลอดเวลาที่ออกสำรวจ


กำลังโหลดความคิดเห็น