xs
xsm
sm
md
lg

เหตุผลที่ไม่ควรพลาด “จันทรุปราคาเต็มดวง” 31 ม.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเป็นสีแดงอิฐโดยนาซา (NASA)
แม้ทุกปีจะเกิดจันทรุปราคาเฉลี่ยปีละ 2-3 ครั้ง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้นมีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 31 ม.ค.61 นี้ เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะรวม 3 ปรากฏการณ์ดวงจันทร์น่าสนใจ

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า วันที่ 31 ม.ค.61 เกิด “ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง” ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าในไทยนานกว่าชั่วโมง ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:51-21:07 น. สังเกตได้ทางทิศตะวันออกทุกพื้นที่ของประเทศตั้งแต่หัวค่ำเป็นต้นไป

1.จันทรุปราคาแรกของปี 2561

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี 2561 โดยพื้นที่ที่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในครั้งนี้ ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย บริเวณตอนเหนือและตะวันออกของทวีปยุโรป ตอนเหนือและตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตอนเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้

สำหรับประเทศไทยสามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ได้ด้วยตาเปล่า ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทางทิศตะวันออกในช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:30 น.เป็นต้นไป แต่ปรากฏการณ์เริ่มเมื่อดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 17:51 น. จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18:48 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19:51-21:07 น. เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที

"ช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง เมื่อสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหลังเวลา 21:07 น. ไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกกลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกหมดทั้งดวงในเวลา 22:11 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่จะสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์จากเงามัวของโลกเปลียนแปลงเพียงเล็กน้อย และสิ้นสุดปรากฏการณ์โดยสมบูรณ์ เมื่อดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลกเวลา 23:08 น.” ดร.ศรัณย์กล่าวและเพิ่มเติมว่าสำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในไทยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กรกฏาคม 2561

ด้าน นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของสมาคมว่า ขณะเกิดจันทรุปราคาครั้งนี้ ดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวปู มีกระจุกดาวเปิดที่มีชื่อเสียงคือกระจุกดาวรังผึ้ง ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง กระจุกดาวรังผึ้งอยู่สูงเหนือดวงจันทร์ประมาณ 5 องศา ขณะบังเต็มที่เมื่อดวงจันทร์เข้าใกล้ศูนย์กลางเงาโลกมากที่สุดในเวลา 20:30 น. ศูนย์กลางเงาอยู่ห่างขอบดวงจันทร์ออกไปเล็กน้อยทางทิศเหนือ ทำให้คาดหมายได้ว่าพื้นที่ด้านทิศใต้ของดวงจันทร์ซึ่งอยู่ทางขวามือเมื่อมองขึ้นไปบนฟ้าน่าจะสว่างกว่าอีกด้านหนึ่ง

2.จันทรุปราคาเต็มดวงในคืน “บลูมูน”

อีกความพิเศษของปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ คือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในคืน “บลูมูน” (Blue Moon) หรือคืนที่เกิดเหตุการณ์จันทร์เต็มดวงหรือจันทร์เพ็ญ (Full Moon) ที่สามารถมองเห็นแสงของดวงจันทร์ได้ 100% เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายในเดือนที่เกิดจันทร์เต็มดวงแล้ว

ดร.ศรัณย์ให้ข้อมูลไว้ว่าปี 2561 มีเหตุการณ์บลูมูน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดในเดือน ม.ค.ซึ่งมีดวงจันทร์เต็มดวงครั้งแรกวันที่ 2 ม.ค.61 และจันทร์เต็มดวงอีกครั้งในเดือนเดียวกันวันที่ 31 ม.ค. ส่วนเหตุการณ์บลูมูนครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นในเดือน มี.ค.ซึ่งจะเกิดจันทร์เต็มดวงครั้งแรกในวันที่ 2 มี.ค.61 และจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 หรือบลูมูนในวันที่ 31 มี.ค.61

3.คราสในคืน “ซูเปอร์มูน”

นอกจากนี้ปรากฏการณ์จันทรุปราคาวันที่ 31 ม.ค.นี้ ยังเกิดขึ้นในวันที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุด หรือที่เรียกกันว่า “ซูเปอร์มูน” (supermoon) โดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) การเข้าใกล้โลกครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในรอบเข้าใกล้โลกตามวงโคจรของดวงจันทร์หรือที่เรียกว่า “เปริจี” (perigee) ซึ่งโดยปกติจะเห็นดวงจันทร์สว่างกว่าปกติ 14% โดยก่อนหน้านี้เกิดซูเปอร์มูนในซีรีย์เดียวกันแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.60 และ 2 ม.ค.61 ตามเวลาประเทศไทย

นาซายังเรียกปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงวันที่ 31 ม.ค.61 ว่า “ซูเปอร์บลูบลัดมูน” (Super Blue Blood Moon) และพร้อมถายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทาง http://www.nasa.gov/live ตั้งแต่เวลา 17.30 น.ของวันดังกล่าวตามเวลาประเทศไทย

ขณะที่สดร. ได้จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง 4 จุด ตั้งแต่เวลา 17:00 - 21:00 น. ได้แก่ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และ ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา สงขลา

ส่วนชาวกรุงเทพมหานครสามารถเข้ารวมกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย ณ บริเวณสนามฟุตซอล ข้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา บริเวณท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ถ.สุขุมวิท เอกมัย ตั้งแต่เวลา 17.30-22.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
– ภาพแสดงการเกิดจันทรุปราคาระยะต่างๆ โดย สดร.


กำลังโหลดความคิดเห็น