xs
xsm
sm
md
lg

เหตุ...

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


ความคาดหวังในการเดินเก็บข้อมูลกลางป่าท่ามกลางท้องฟ้าสีครามและอากาศเหน็บหนาวเปลี่ยนแปรเป็นชื้นหนะเหนอะเปียกปอนละอองฝนพรำ เค้าโครงเงาฝนทะมึนดำทาบทั่วท้องฟ้า ความกังวลใจเกิดขึ้นประปรายจากความพร้อมของสัมภาระกลางฤดูหลงทาง แต่ละก้าวย่ำผ่านเต็มไปด้วยความฉ่ำชุ่มบนผืนดินและใบไม้ ผืนป่าที่เริ่มทิ้งใบและความแห้งแล้งที่กร้ำกรายกลับเป็นความเขียวสดใสผ่านดวงตาผิดการณ์ที่คาดเดา

“อาทิตย์ก่อนหนาวจนเหลือแค่เลขตัวเดียวเองครับ ประมาณ 5-6 องศาได้” ราชา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบอกเล่าถึงสภาพภูมิอากาศผ่านสำเนียงพื้นถิ่นฟังแล้วน่ารักระคนปนเปในอารมณ์ด้วยความอิจฉาของผมจากการไร้โอกาสได้สัมผัสความรู้สึกเช่นเดียวกันนั้น

“ผมเจอฝนตั้งแต่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เลยครับ หนักมาเกือบตลอดทางโดยเฉพาะแถว ๆเส้นแม่สอด-จาก เส้นลอยฟ้ามาอุ้มผางก็เหมือนกัน อย่างนี้ไม่น่าจะเรียกว่าฤดูหนาวแล้วครับน่าจะเป็นฤดูฝนเสียมากกว่า” ประโยคตัดพ้อในโชคชัยของตัวเองต่อบทสนทนาให้ยืดยาวออกอีกเล็กน้อยก่อนจะตั้งหน้าตั้งตาเดินสำรวจกันต่อ แม้จะไม่ได้เอ่ยออกจากปากแต่เหตุการณ์ผ่านประสบบนนถนนลอยฟ้าเส้นนี้ยังตรึงอยู่ในแทบจะทุกขณะจิต

ยามวิกาลมิดมืด น้ำตาฟ้าพร่ำโปรย ผิวถนนไล่ไต่เทคดเคี้ยวลาดชันตามไหล่สันภูเขาสูงฉาบลื่นด้วยน้ำและโคลนดิน ล้วนองค์ประกอบแห่งเหตุอันไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแต่ก็ยังประสบ พาหนะไถลออกโค้งเลี้ยวลงกระแทกเข้าแนวสันเขา ด้วยเพราะการใช้ความเร็วต่ำเป็นต้นทุนจากสถานการณ์รอบตัว ความเสียหายจึงไม่รุนแรงและสามารถเดินทางต่อได้ถึงจุดหมายแม้ล่าช้ากว่ากำหนดแต่ก็ด้วยความระมัดระแวงเต็มเปี่ยม สิ่งสำคัญที่สุดคือไม่มีใครบาดเจ็บจากเหตุนี้

สิ่งมีชีวิตลำตัวยาวไร้รยางค์เลื้อยมุดผ่านกองใบไม้กิ่งไม้ดึงสติออกจากผวังความคิด “งู” ผมคิด แต่ด้วยลำตัวขนาดย่อมอีกสีน้ำตาลคล้ายกิ่งไม้แห้งทำให้ยากต่อการจำแนกชนิดเพียงการเห็นลำตัวเพียงแว่บผ่าน การเฟ้นค้นหาจึงต้องระมัดระวังมากขึ้นและไม่ประมาทเพื่อไม่ให้เกิดเหตุอันตรายต่อทั้งสองฝ่าย หลายครั้งข่าวคราวไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับนักวิจัยหรือแม้กระทั่งผู้ชำนาญเชี่ยวไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตามแต่ ความสูญเสียหายไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ส่งผลกระทบทางด้านลบเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้สนใจหรือทำการศึกษาวิจัยสัตว์ในกลุ่มนี้มีอยู่น้อยนักเมื่อเทียบเคียงกับการศึกษาในสัตว์กลุ่มอื่น ๆ ไม่นานนักเจ้างูปริศนาโผล่เลื้อยออกมาในที่แจ้งมองเห็นได้ชัดเจน ผมจึงเบาใจลงเพราะไม่ใช่งูพิษอันตราย

“งูคอขวั้นดำ (Sibynophis collaris)” งูขนาดเล็กชนิดหนึ่งในวงศ์งูพิษเขี้ยวหลัง (Family Colubridae) ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์และไม่ใคร่ฉกกัดพร่ำเพรื่อ อาศัยดำรงชีพในผืนป่าสมบูรณ์ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ กินสัตว์อื่นขนาดเล็กเป็นอาหาร เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพียงเล็กน้อยของมันเท่านั้นที่ผมพอจะทราบ เรื่องราวชีวิตของมันยังคงเป็นปริศนาและรอการศึกษาอีกหลายแง่มุม ภาพถ่ายถูกบันทึกเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการพบเจอ อาจจะเป็นเพราะมันเริ่มเบื่อหน่ายกับกิจกรรมของมนุษย์สองขาหลังตั้งฉากพื้นโลกคนหนึ่งที่กำลังพยายามผุดลุกนั่งก้มเงยอยู่รอบ ๆ เจ้างูตัวน้อยจึงหนีเลื้อยจากไปในเวลาไม่นานนัก ปลายหางสีน้ำตาลของมันค่อย ๆ หลบหายไปในโพรงเงามืดของรากไม้ริมน้ำ ผมกล่าวคำอำลาให้กับมันอยู่ในใจ

ผมนึกถึงเหตุการณ์บนถนนเมื่อวันก่อนกอปรเข้ากับเหตุการณ์ที่พบในวันนี้ ถ้าความเร็วของพาหนะในคืนนั้นมากเกินกว่าที่เป็นหรือเจ้างูน้อยตัวนี้เป็นงูพิษอันตรายและตัวผมไม่ระแวดระวังไร้สติ คงไม่ต้องสงสัยว่าเหตุการณ์ถัดไปที่จะเกิดขึ้นนั้นเลวร้ายระดับใด

ความประมาท มักจะเกิดจากความเกินเลยของความตั้งมั่นแม้จะคิดว่ารอบคอบเพียงพอแล้ว และนั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “อุบัติเหตุ” แต่สำหรับมุมมองของผมแล้ว ผู้คนมักเหมารวมเหตุความสูญเสียจากความไร้ระเบียบวินัยและความเห็นแก่ตัวของตนเองและเรียกมันว่าอุบัติเหตุแทบทุกครั้ง ทำให้การป้องกันแก้ไขเป็นไม่ตรงจุด ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพยากร พลังงาน งบประมาณ และก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งก็คือ เวลา

ช่างลักลั่นย้อนแย้งเสียจริง

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ


"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"



พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น