ปัจจุบันมลภาวะทางแสง หรือที่มักคุ้นหูกันว่า “Light Pollution” ถือเป็นปัญหาใหญ่ของนักถ่ายภาพดาราศาสตร์ ซึ่งขัดขวางการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า ทำให้นักถ่ายภาพต้องเดินทางออกห่างจากนอกเมืองในระยะทางที่ไกลมากขึ้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าในบางครั้งเราจะออกห่างจากแสงเมืองก็มักจะยังมีแสงจากหลอดไฟต่างๆ ที่สะท้อนแสงกับมวลอากาศบริเวณขอบฟ้าทำให้เกิดภาพแสงสีเหลืองติดเข้ามาในภาพถ่ายของเรา และอาจบดบังรายละเอียดของวัตถุท้องฟ้าที่เราถ่ายภาพมาได้เช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อกากรถ่ายภาพไม่น้อย
หลายปีมาแล้วนักดาราศาสตร์อาชีพได้พบกับปัญหา Light Pollution ในการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าจึงได้มีการผลิตอุปกรณ์ชื่อว่า Light Pollution Suppression (LPS) Filters ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ถูกนำมาใส่ไว้หน้าเซนเซอร์อุปกรณ์ถ่ายภาพ
โดยในการใส่ฟิลเตอร์ (LPS) Filters นั้นค่อนข้างจะยากและต้องระมัดระวังพอสมควร แต่ในปัจจุบันได้มีผู้ผลิตฟิลเตอร์สำหรับตัดแสงที่มาจาก Light Pollution ซึ่งทำออกมาในรูปแบบของฟิลเตอร์แผ่นที่ใส่ได้บริเวณด้านหน้าเลนส์ถ่ายภาพทำให้สะดวกมากขึ้น โดยผู้ผลิตเองตั้งชื่ออุปกรณ์ดังกล่าวว่า “PureNight Filter” หรือเรียกอีกอย่างว่า Light Pollution Reduction Filter ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการกรองแสงป้องกันแสงสะท้อนเพื่อลดแสงจ้าและปรับสมดุลสีของภาพ โดยที่ยังคงรักษาความสามารถในการเปิดรับแสง (Dynamic Range) ที่กว้างเหมือนเดิม
ฟิลเตอร์ดังกล่าวราคาค่อนข้างสูง ทำจากกระจกนิรภัยที่ช่วยลดแสงสีส้มเหลือง ในช่วงความยาวคลื่น 575 – 600 นาโนเมตร ซึ่งเป็นความยาวคลื่นเดียวกันของแสงของหลอดไฟทั่วไปที่ปล่อยออกมา
ความเห็นส่วนตัวหลังการทดลองใช้ Light Pollution Reduction Filter (LPR Filter)
หลังจากทดลองใช้งานในการถ่ายภาพทางช้างเผือกบริเวณที่มีมลภาวะทางแสงแถวขอบฟ้า ซึ่งภาพข้างต้นถ่ายบริเวณชานเมือง ซึ่งยังมีแสงสีเหลืองส้มของหลอดไฟถนนสะท้อนฟุ้งที่ขอบฟ้า ผมคิดว่าอุปกรณ์นี้สามารถช่วยการกรองแสงป้องกันแสงสะท้อนและลดแสงจ้าได้ในระดับหนึ่ง โดยเมื่อนำภาพที่ใส่ LPR Filter กับไม่ใส่มาเปรียบเทียบกัน พบว่า
ภาพที่ใส่ LPR Filter มีรายละเอียดที่ดีกว่าเล็กน้อย
สีของภาพถ่ายติดโทนสีม่วงมากกว่า ภาพถ่ายที่ไม่ได้ใส่ LPR Filter
ความสว่างของภาพจะลดลงประมาณ 1 สตอป (-1EV)
ราคาค่อนข้างสูง หากยังไม่จริงจังยังไม่ควรซื้อครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน