ปี 2561 นี้มีปรากฏการณ์บนท้องฟ้าน่าติดตามหลายปรากฏการณ์ แต่ดูเหมือน “ดวงจันทร์” จะมีเรื่องให้น่าจับตามากในปีนี้ ทั้งปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงขณะใกล้และไกลโลกมากที่สุดในรอบปี ปรากฏการณ์ “บลูมูน” รวมถึงปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่ปีนี้จะเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง
ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ยกให้ปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้เป็นหนึ่งใน “10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2561” โดยหลังปีใหม่ในวันที่ 2 ม.ค.61 ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีที่ระยะห่างประมาณ 356,595 กิโลเมตร
แม้ไม่นับการเข้าใกล้โลกของดวงจันทร์เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่น่าติดตาและมีชื่อที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon) และเราสังเกตดวงจันทร์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ด้วยตาเปล่า โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณ 18:00 น. ของวันดังกล่าวเป็นต้นไป และจะเห็นดวงจันทร์โตขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร.อธิบายว่า ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น แต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 356,400 กิโลเมตรและตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร
"การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และแม้ว่าดวงจันทร์จะมีตำแหน่งโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่ดวงจันทร์ไม่ได้ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง ซึ่งครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 21 ม.ค.62 ที่ระยะห่างประมาณ 357,706 กิโลเมตร"
เมื่อดวงจันทร์เข้าใกล้โลกแล้วในวันที่ 28 ก.ค.61 ดวงจันทร์ก็จะอยู่ห่างจากโลกมากที่สุดในรอบปีที่ระยะห่างประมาณ 406,086 กิโลเมตร และในคืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย เรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” (Micro Full Moon) ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยสังเกตได้จากทิศตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณ 18:00 น. เป็นต้นไป
อีกเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือเหตุการณ์ “บลูมูน” (Blue Moon) หรือเหตุการณ์จันทร์เพ็ญ (Full Moon) ที่สามารถมองเห็นแสงของดวงจันทร์ได้ 100% เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนที่เกิดจันทร์เต็มดวงไปแล้ว โดย ดร.ศรัณย์ให้ข้อมูลว่าปี 2561 จะมีเหตุการณ์บลูมูน 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดในเดือน ม.ค.ซึ่งมีดวงจันทร์เต็มดวงครั้งแรกวันที่ 2 ม.ค.61 และจันทร์เต็มดวงอีกครั้งในเดือนเดียวกันวันที่ 31 ม.ค. ซึ่งเรียกจันทร์เพ็ญครั้งหลังนี้ว่าบลูมูน ส่วนเหตุการณ์บลูมูนครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นในเดือน มี.ค.ซึ่งจะเกิดจันทร์เต็มดวงครั้งแรกในวันที่ 2 มี.ค.61 และจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 หรือบลูมูนในวันที่ 31 มี.ค.61
ปี 2561 ยังมีปราฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 31 ม.ค. จึงเป็นการเกิดจันทรุปราคาในคืนบลูมูน โดยปรากฏการณ์จะเกิดขึ้นระหว่างเวลา 19.51-21.07น. รวมเวลาเกิดคราสเต็มดวง 1 ชั่วโมง 16 นาที และอีกครั้งในวันที่ 28 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงอยู่ไกลจากโลกที่สุดในรอบปี ณ เวลา 02.31 – 04:13 น.รวมเวลาเกิดคราสเต็มดวง 1 ชั่วโมง 42 นาที
นอกจากดวงจันทร์แล้วยังมีปรากฏการณ์อื่นบนท้องฟ้าที่น่าติดตาม และจัดอยู่ในรายการ 10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามในปีนี้ เช่น ดาวอังคารใกล้โลกที่สุดในรอบ 13 ปี โดยดาวอังคารจะโคจรเข้ามาใกล้โลกทุกๆ 13 ปี
โดยล่าสุดที่ดาวอังคารโคจรเข้ามาใกล้โลกคือปี พ.ศ.2548 และในวันที่ 27 ก.ค.61 นี้จะเป็นช่วงที่ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Mars Opposition) ที่ระยะห่าง 57.8 ล้านกิโลเมตร และหลังจากนั้นจะโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใกล้โลกมากที่สุด (Mars Closest Approach) ในวันที่ 31 ก.ค.61 ที่ระยะห่าง 57.6 ล้านกิโลเมตร
"เราจะสามารถมองเห็นดาวอังคารสุกสว่างบนท้องฟ้าบริเวณกลุ่มดาวคนแพะทะเล ทางทิศตะวันอกเฉียงใต้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่าตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงรุ่งสางวันถัดไปสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งทางดร. ศรัณย์กล่าว่า หากใช้กล้องโทรทัศน์ขนาดกล้องตั้งแต่ 10 นิ้วจะสามารถมองเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวดาวอังคารได้ และปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นครั้งถัดไปในปี 2576 และปี 2578 โดยดาวอังคารที่สังเกตได้จะมีขนาดใหญ่กว่าปี 2561” ดร.ศรัณย์กล่าว
ส่วนฝนดาวตกก็เป็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในปี 2561 นี้ ซึ่งจะมีฝนดาวตกเกิดขึ้นเกือบทั้งปี แต่มีอัตราการตกที่ต่างกัน โดย ดร.ศรัณย์ระบุว่ามีฝนดาวตกที่น่าสนใจ 3 เหตุการณ์คือ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids) หรือฝน "ดาวตกวันแม่" เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) และมีอัตราตกค่อนข้างมาก สามารถเห็นได้หลังเที่ยงคืนวันที่ 12 สิงหาคมประมาณ 02.30 น.จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 สิงหาคม มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และปีนี้ในคืนดังกล่าวไม่มีแสงจันทร์รบกวน
"ฝนดาวตกลีโอนิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต สังเกตได้หลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พ.ย. ประมาณตี 3 เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย. โดยมีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต ทางทิศตะวันออก ช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีแสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างมาก สุดท้ายคือฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงเวลาหัวค่ำ ประมาณ 20:30 ในคืนวันที่ 14 ธันวาคมจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 15 จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วภูมิภาคประเทศไทย แต่ปีนี้จะมีแสงจากดวงจันทร์รบกวนในช่วงหัวค่ำ ดังนั้นจะสามารถสังเกตเห็นดาวตกชัดเจนตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนเป็นต้นไป" ดร.ศรัณย์ระบุ