xs
xsm
sm
md
lg

ตรงจุด(ใจ)

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


“สวัสดีครับ สวัสดีครับ สวัสดีครับ” คือคำตอบรับการทักทายให้แก่เพื่อน รุ่นพี่ และรุ่นน้องอันต่อตามด้วยบทสนทนาหลากเรื่องราวตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระทั่วไปเหยียดยาวถึงเรื่องราววิชาการเข้มข้นจนจวนเจียนจะหลงลืมกำหนดเวลาของงานประชุมที่มุ่งหมายเข้าร่วม

“ปีที่แล้วหายหน้าหายตา ไหงปีนี้โผล่มาได้ล่ะเนี่ย?” คำถามดังขึ้นจี้เข้ากลางใจ “ปีที่แล้วเริ่มงานใหม่วันเดียวกันกับประชุมครับพี่ เลยมาร่วมงานไม่ได้ ปีนี้ยื่นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเลยครับ หนังสือลากิจนะครับไม่ใช่ลาออก” คำตอบชวนหัวแต่ก็ตรงตัวตามความหมายสร้างความขบขันได้พอประมาณ

“งั้นปีนี้นอกจากมาลงทะเบียนร่วมประชุมแล้ว ก็ทำหน้าที่เป็นช่างภาพให้ด้วยแล้วกัน” รุ่นพี่วนศาสตร์ผู้จัดงาน อีกทั้งเป็นอาจารย์ของผมสมัยเรียนอยู่ระดับปริญญาตรีและยังคงเป็นอยู่เสมอไหว้วานให้ช่วยเหลือ รอยยิ้มพร้อมคำตอบรับอย่างยินดีถูกส่งกลับไป

“งานสัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย” มักถูกจัดขึ้นในช่วงสิ้นปีกลางเดือนธันวาคม ในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 38 แล้ว เหตุการณ์มากมายเกินกว่าผมเองจะรับรู้ได้หมดผันเปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา ในปีนี้ “มุ่งสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างแม่นยำ Toward Precision Wildlife Conservation” เป็นหัวข้อหลักของการสัมมนา การศึกษาสัตว์ป่า การเก็บข้อมูล การการวิเคราะห์แปลผล และการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ด้วยความแม่นยำตรงจุดจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสัตว์ป่าและผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

การตรวจสอบประชากรสัตว์ป่าโดยใช้ภาพถ่ายด้วยโดรนควบคุมระยะไกล การใช้ molecular technique ในการระบุและตรวจสอบชนิดสัตว์ป่า การศึกษาความเกี่ยวเนื่องระหว่างเหยื่อและสัตว์ผู้ล่าโดยการใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า การระบุสาเหตุ รูปแบบ และแนวทางแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย การศึกษาและการสร้างแบบจำลองผลกระทบจากการก่อสร้างถนนผ่านพื้นที่อนุรักษ์ ด้วยความมีโชคจากหน้าที่ผู้บันทึกภาพระหว่างงานผมจึงได้มีโอกาสเรียนรู้จากเกือบทุกเรื่องราวที่อัดแน่นมากมายอยู่ในระยะเวลา 2 วันของการจัดงานสัมมนา เหล่านั้นมีหัวข้อการบรรยายหนึ่งดึงดูดความสนใจผม การบรรยายกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่องเสมอมาระหว่างสัตว์สองชนิด ปัญหาระหว่างสัตว์ป่าและสัตว์ที่ยกตนว่าประเสริฐ ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “คนกับลิง”

ทำไมปัญหานี้ถึงสำคัญ? วิทยากรกล่าวว่านอกจากความเสียหายทางทรัพย์สิน จิตใจ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเล็กน้อยจนถึงเสียชีวิตแล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยจากโรคติดต่ออีกหลายโรคที่สามารถแพร่ไปมาระหว่างสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ผ่านระบบทางเดินหายใจและการสัมผัสทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกเป็นพาหะของโรคอีกหลายชนิด ดังนั้นการระบาดของโรคภัยสามารถสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่ทั้งสองฝ่ายเนื่องจากทั้งคนและลิงมีความใกล้ชิดกันจากการสืบสายวิวัฒนาการ

การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมซึ่งก็คือการลดความขัดแย้งและเผชิญหน้าระหว่างคนและลิง แม้จะเป็นเรื่องยากแต่เพื่อไม่ให้มีคำว่าสายเกินไปนอกเหนือจากเร่งทำการศึกษาทดลองและการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว “การเปลี่ยนแปลงนิสัย” เป็นประเด็นหลักที่วิทยากรเน้นให้ความสำคัญเพราะการที่ลิงเปลี่ยนแปลงนิสัยและวิถีชีวิตเดิมจากการอาศัยและหากินในพื้นที่อาศัยตามธรรมชาติของมันเข้ามาใกล้คนมากขึ้นก็เพราะกิจกรรมของพวกเราเอง

ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนและสัตว์ป่าหลายครั้งไม่ผิดแปลกไปจากความเป็นจริงว่าเหตุนั้นเกิดจากคน ความไม่เข้าใจ ความมักง่าย ความสะดวกสบาย ความเห็นแก่ตัว และที่สำคัญคือความไร้วินัย ดังนั้นการแก้ปัญหาให้ตรงจุดต้องเริ่มต้นจากตัวเรา คำทิ้งท้ายก่อนจบการบรรยายของวิทยากรทำให้ผมเกิดความกังวลใจ

การที่คนจะเปลี่ยนแปลงนิสัย วินัย หรือถ้าจะให้พูดเป็นภาษาส่วนตัว “สันดาน” แก้กันไม่ได้ง่ายนัก

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ


"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"



พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น