xs
xsm
sm
md
lg

Louis Pasteur กับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพกิจกรรมฉีดวัคซีนป้องกันสุนัขบ้าให้แก่สุนัขที่ จ.อ่างทอง (ภาพข่าวโต๊ะภูมิภาค)
เมื่อ 50 ปีก่อนนี้ ในการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนในปารีสว่า ชาวฝรั่งเศสคนใดสร้างชื่อเสียงให้แก่ชาติมากที่สุด 48% เลือก Louis Pasteur ผู้เป็นบิดาของวิทยาการสาขาจุลชีววิทยากับวิทยาภูมิคุ้มกัน เป็นทั้งผู้สร้างวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ และโรคพิษสุนัขบ้า อันเป็นโรคร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่งของมนุษย์ เป็นผู้พบวิธีทำให้นมและเหล้าองุ่นไม่เสียโดยกระบวนการ pasteurization และเป็นผู้พิสูจน์ได้ว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดเกิดจากสิ่งมีชีวิต ด้วยคุณงามความดีและความสามารถเหล่านี้ ปี 1995 ซึ่งเป็นปีครบหนึ่งศตวรรษแห่งมตกาลของ Pasteur ประเทศฝรั่งเศสจึงได้จัดงานเฉลิมฉลองเรียกปีพาสเตอร์

ลุถึงปี 2005 ในการสำรวจความคิดเห็นของชาวฝรั่งเศสทั้งประเทศว่าชื่นชมและยกย่องชาวฝรั่งเศสคนใดมากที่สุด (ทั้งที่มีชีวิตอยู่ และที่เสียชีวิตไปแล้ว) ผลปรากฏว่า Pasteur มาเป็นอันดับ 3 ตามหลังประธานาธิบดี Charles de Gaulle ซึ่งได้คะแนนนำ สำหรับ Marie Curie นักเคมีและฟิสิกส์ที่ได้รับรางวัลโนเบลเคมีและโนเบลฟิสิกส์ก็ยังตามหลัง Pasteur มาเป็นอันดับ 4

ในอังกฤษก็ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของเช่นกันว่า ชาวอังกฤษคนใดยิ่งใหญ่ที่สุด ผลปรากฏว่า Charles Darwin มาเป็นอันดับ 4 และ Isaac Newton มาอันดับ 6 สำหรับในเนเทอร์แลนด์ Antoni van Leeuwenhoek ผู้ใช้กล้องจุลทรรศน์ที่เห็นจุลินทรีย์ได้เป็นคนแรกได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุด แต่ในเยอรมนีในการสำรวจเมื่อปี 2003 ชาวเยอรมันได้ให้ Albert Einstein เป็นคนที่ชาวเยอรมันยกย่องเป็นอันดับ 10 คงเพราะ Einstein ได้โอนสัญชาติจากเยอรมันไปเป็นชาวอเมริกันนั่นเอง

ชีวิตของ Pasteur เป็นชีวิตตัวอย่างที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลกชื่นชม ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ล้วนมีประวัติด่างพร้อย ไม่มากก็น้อย เช่น Einstein มีชีวิตครอบครัวที่ไม่มีความสุข เพราะมีคนรักหลายคน และลูกๆ ปฏิเสธไม่รับพ่อ ในบั้นปลายชีวิตของ Newton ได้ลุ่มหลงไหลการเล่นแร่แปรธาตุมากถึงระดับงมงาย ส่วน Curie ก็มีปมด้อยเรื่องคบชู้สู่หนุ่ม เพราะรู้สึกเหงาเมื่อสามี Pierre ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ด้าน Darwin ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและโรคหวาดระแวง แต่ Pasteur เป็นคนสะอาดบริสุทธิ์จนใครๆ ก็หาที่ติไม่ได้

จนกระทั่ง Gerald Geison แห่งมหาวิทยาลัย Princeton ในสหรัฐอเมริกาได้รายงานผลการวิเคราะห์เอกสารในห้องปฏิบัติการของ Pasteur จำนวน 102 เล่มเมื่อปี 2000 และพบว่า ข้อมูลที่ Pasteur ได้ลงบันทึกในสมุดทดลอง กับผลงานที่ Pasteur เผยแพร่ในวารสาร มีหลายเรื่องที่ไม่ตรงกัน เช่น Pasteur มิได้รายงานวิธีเตรียมวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้คนที่อ่านรายงานสามารถเตรียมซ้ำได้ มิได้ให้เครดิตการพบวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าแก่ Emile Roux ซึ่งเป็นนักวิจัยร่วมทีมเท่าที่ควร และที่อ้างว่าใช้สุนัขทดลอง 50 ตัวนั้น ไม่จริง เพราะบางตัวได้เสียชีวิต หลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ในการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่เด็กชาย Joseph Meister วัย 9 ขวบที่ถูกสุนัขบ้ากัด วัคซีนเข็มนั้นยังมิได้นำไปทดลองใช้กับสัตว์ว่าได้ผลหรือไม่ นี่จึงเป็นการทำงานที่ผิดจริยธรรมอย่างรุนแรง (แต่ Max Perutz ได้ตีพิมพ์บทความในวารสาร New York Review of Books โดยท่านนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลด้านสรีระวิทยา ปี 1962 ได้กล่าวปกป้องและแก้ต่างให้ Pasteur อย่างสุดฤทธิ์สุดเดช)

เมื่อผลการรักษาที่เกิดขึ้นกับ Meister แสดงว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ คือแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีวัคซีนใช้คุ้มกันภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ จากนั้นจะมีใครบ้างที่คิดตำหนิ หรือจับผิด Pasteur ในเรื่องนี้

Louis Jean Pasteur เกิดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.1822 ณ ตำบล Jura ในเมือง Dole ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของฝรั่งเศส บิดามีอาชีพเป็นช่างฟอกหนังสัตว์ที่มีฐานะยากจน จึงต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ในวัยเด็ก Pasteur เป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง ชอบวาดภาพ และรักความสงบ

หลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมและมัธยมที่เมือง Arbois แล้ว Pasteur ได้เข้าเรียนระดับปริญญาตรีสาขาเคมีที่มหาวิทยาลัย Ecole Normale Superieure และทำวิทยานิพนธ์ด้านผลิกวิทยา เพราะรู้สึกสนใจผลิกศาสตร์มาก เมื่อได้พบว่า กรด tartaric ที่มีพบในเหล้าองุ่นกับกรด racemic มีองค์ประกอบทางเคมีที่เหมือนกัน แต่เวลานำไปละลายน้ำ สารทั้งสองแสดงพฤติกรรมแตกต่างกันอาทิเช่น เวลาฉายแสง polarized ผ่านกรด tartaric สนามไฟฟ้าของแสงจะเบนทิศ ซึ่งค่ามุมเบี่ยงแปรโดยตรงกับระยะทางที่แสงผ่าน แต่กรด racemic ไม่ทำให้สนามไฟฟ้าของแสงเบี่ยงทิศ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ Pasteur ได้อธิบายว่า เพราะกรดทั้งสองมีโครงสร้างที่เป็นภาพสะท้อนกัน เวลามีการนำมาวางหน้ากระจกเงาราบ ดังนั้นสารทั้งสองจึงเป็น steroisomer กัน

หลังจากนั้น Pasteur ได้หันไปสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ของการหมัก หลังจากที่เจ้าของโรงกลั่นแอลกอฮอล์ได้ขอร้องให้ Pasteur ช่วย เพราะโรงงานไม่สามารถกลั่นแอลกอฮอล์จากน้ำตาลต้นบีต (beet) ได้ ณ เวลานั้นไม่มีใครในโลกรู้ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดกระบวนการหมักในเบียร์ และ Pasteur ก็ได้พบว่า การหมักจะเกิดได้ดีถ้าสารละลายมี yeast (ยีสต์) และ Pasteur ได้สาธิตให้ทุกคนเห็นว่า ถ้านำของเหลวมาอุ่น ไม่ว่าของเหลวนั้นจะเป็นเหล้าองุ่น เบียร์ หรือนม ถ้าถูกทำให้ร้อนจนมีอุณหภูมิสูงประมาณ 55 องศาเซลเซียส จุลินทรีย์ที่มีในของเหลวจะตายหมด ทำให้ของเหลวสามารถเก็บได้นาน ซึ่งกระบวนการนี้โลกรู้จักในนาม pasteurization

หลังจากนั้น Pasteur ก็ได้แสดงให้เห็นว่า จุลินทรีย์มีอยู่ทั่วไปในอากาศ โดยต้มของเหลวในขวดให้ไอของเหลวไล่อากาศที่มีในขวดออกจนหมด แล้วปิดฝาขวดให้สนิท จากนั้นก็ได้พบว่า ของเหลวในขวดจะใสไม่ว่าถูกทิ้งไว้นานเพียงใด แต่ถ้าเปิดฝาขวดให้อากาศภายนอกผ่านเข้าไปในขวด ในเวลาเพียงไม่นาน ของเหลวจะขุ่นมัว เพราะจุลินทรีย์ที่มีในอากาศได้เข้าไปทำปฏิกิริยากับของเหลว ทำให้มันมีรสเปรี้ยว

ในการทดลองเรื่องนี้ Pasteur ได้ตั้งประเด็นสงสัยต่อไปว่าจุลินทรีย์อาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้สัตว์และคนล้มป่วยเป็นโรคได้ และพบในเวลาต่อมาว่าความคิดนี้ถูกต้อง

ครั้นเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสได้ขอให้ Pasteur วิเคราะห์หาสาเหตุที่หนอนไหมล้มตายเป็นจำนวนมาก จนทำให้อุตสาหกรรมไหมของฝรั่งเศสประสบภาวะแทบล้มละลายกันทั้งประเทศ Pasteur ได้ใช้เวลาหลายปีศึกษาเรื่องนี้ และพบจุลินทรีย์ที่ฆ่าไข่ของหนอนไหม ดังนั้นการกำจัดจุลินทรีย์จึงช่วยกำจัดโรคด้วย

ในช่วงเวลาที่ศึกษาหนอนไหม Pasteur ได้เริ่มป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองบางส่วนถูกอุดตัน และร่างกายเป็นอัมพฤกษ์ แต่ยังทำงานวิจัยต่อไป โดยได้ผลิตวัคซีนป้องกันโรค anthrax ในสัตว์โดยการนำปัสสาวะของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้มาทำให้เชื้ออ่อนกำลังลง แล้วนำไปฉีดให้แก่สัตว์ทำให้สัตว์ปลอดจากการติดเชื้อ ทั้งนี้เพราะร่างกายสัตว์ได้สร้างภูมิต้านทานให้ตัวมันแล้ว

ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ วิธีการสร้างวัคซีนของ Pasteur ในลักษณะนี้ได้ถูกแพทย์หลายคนต่อต้าน แต่ Pasteur ก็ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า วัคซีนของเขาทำงานได้ผล

ตลอดชีวิต Pasteur ได้รับรางวัล และเกียรติยศมากมาย เช่น เหรียญ Leeuwenhoek ในปี 1895 ในฝรั่งเศส มีมหาวิทยาลัย Louis Pasteur ถนนหนทางในหลายประเทศมีชื่อถนน Pasteur แต่รางวัลที่ Pasteur ภูมิใจมากที่สุดคือ การมีสถาบัน Pasteur ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในปี 1888 และได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคนแรกของสถาบัน จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน เมื่อวันที่ 28 กันยายนปี 1895 ศพของ Pasteur ถูกฝังที่ Institute Pasteur ในปารีส

มรดกสำคัญมากชิ้นหนึ่งของ Pasteur ที่ยังยืนยงมาจนทุกวันนี้ คือ การพบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
เมื่อปี 2015 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์ว่า ในทุกปีจะมีคนประมาณ 59,000 คนที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า และคนที่ตายจำนวนมากเป็นเด็กในประเทศที่กำลังพัฒนา WHO จึงจัดตั้งโครงการจะกำจัดโรคนี้ให้สิ้นโลกในปี 2030

ในความเป็นจริง โลกมีวัคซีนป้องกันโรคชนิดนี้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ปริมาณวัคซีนที่จำเป็นต้องใช้มีไม่เพียงพอ ดังนั้นเวลาเกิดเหตุ คนที่รับการฉีดวัคซีนไม่ทันเวลาจะเสียชีวิตอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ภาพกิจกรรมฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้แมวที่ จ.จันทบุรี (ภาพข่าวโต๊ะภูมิภาค)
ณ วันนี้แพทย์จึงพยายามสร้างวัคซีนที่มีราคาถูกและผลิตได้เร็วเพื่อคนยากจนที่เคราะห์ร้ายถูกสุนัขบ้ากัด และคิดว่ามีวิธีหนึ่งที่อาจจะทำให้โรคนี้หมดไปจากโลก นั่นคือ การพยายามฉีดวัคซีนให้สุนัขทุกตัว หรืออย่างน้อยก็ 70% ของประชากรสุนัขอย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว วิธีการนี้ได้ผล แต่ในประเทศที่ด้อยพัฒนา เช่น หลายประเทศในแอฟริกา การเสียเงินซื้อวัคซีนที่จะใช้ฉีดสุนัขนับล้านตัวถือเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย เพราะทุกคนคิดว่าการใช้เงินรักษาคนที่ป่วยเป็นมาลาเรีย โรคเอดส์ และวัณโรคดูคุ้มค่ากว่า แม้กระทั่งการรักษาสัตว์อื่นๆ เช่น วัว ควาย แกะ แพะ ฯลฯ ที่ล้มป่วยก็ดูมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าการซื้อวัคซีนฉีดให้สุนัข ดังนั้น สุนัขในแอฟริกาและเอเซียจึงเป็นสัตว์ที่ไม่ได้ใจใคร

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคร้ายที่ได้คุกคามชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ กวี Homer ได้บรรยายการบริภาษแม่ทัพ Hector แห่งกรุง Troy ว่าดุร้ายเหมือนสุนัขบ้า ในเมือง Eshnunna แห่งอาณาจักร Babylon เมื่อ 4,300 ปีก่อน มีกฎหมายให้กักขังคนที่เป็นโรคนี้ Democritus นักปรัชญากรีกเคยเขียนบรรยายอาการของคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า (ซึ่งตรงกับคำ rabies ในภาษาอังกฤษที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า rabare ที่แปลว่า รุนแรง)

ตามปกติ เวลาสุนัขดีถูกสุนัขบ้ากัด เมื่อใดที่ไวรัสขึ้นถึงสมอง สุนัขจะมีอาการก้าวร้าว คลุ้มคลั่ง อาละวาด และส่งเสียงร้องโหยหวน และเวลาไวรัสเดินทางถึงต่อมน้ำลาย สุนัขก็จะมีน้ำลายฟูมปาก เพราะไวรัสในน้ำลายได้เข้าทำลายระบบการทำงานของกล้ามเนื้อที่คอของมัน ทำให้สุนัขกลืนน้ำลายลำบาก น้ำลายจึงมีปริมาณเพิ่มตลอดเวลา และถ้าสุนัขตัวนั้นไปกัดใคร ไวรัสในน้ำลายก็จะเข้าร่างกายของเหยื่อ ทำให้เหยื่อเป็นโรคพิษสุนัขบ้าต่อไป โดยอาจมีอาการสิ้นสติ เพราะร่างกายเป็นอัมพาต และหัวใจล้มเหลว

ในกรณีรุนแรง คนไข้จะมีอาการกลัวน้ำ ทั้งๆ ที่รู้สึกหิวน้ำมาก แต่ไม่กล้าดื่ม เพราะทุกครั้งที่เห็นน้ำจะมีอาการชัก หลังจากที่ไวรัสเข้าทำลายระบบการทำงานของสมองแล้ว คนไข้จะมีอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาด และพยายามกัดคนข้างเคียง จนต้องจับคนไข้มัดอย่างหนาแน่นไม่ให้ไล่กัดคนอื่น

ตามปกติเวลาใครถูกสุนัขบ้ากัด เขาอาจไม่เป็นโรคในทันที เพราะเชื้ออาจใช้เวลาในการฟักตัวนานเป็นปีจึงจะสำแดงอาการ แต่ทันทีที่อาการไข้ปรากฏ ทุกคนก็ต้องทำใจ เพราะแพทย์ไม่มีวิธีรักษา

ในอดีตเมื่อ 250 ปีก่อนคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามักถูกยิงด้วยปืน เสมือนเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้าย หรือถูกฆ่าโดยการวางยาพิษ ถูกรัดคอ อุดจมูก หรือถูกแทงด้วยมีดให้เลือดไหลออกจากร่างกายจนหมด เพราะผู้คนเชื่อว่า ถ้าปล่อยตามธรรมชาติน้ำลายหรือลมหายใจของผู้ป่วยจะทำให้คนที่อยู่ใกล้ป่วยเป็นโรคด้วย

ในปี 1819 แพทย์ยุโรปได้พยายามรักษาคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยการใช้เหล็กร้อนจี้แผล หรือใช้เข็มแหลมที่ถูกเผาไฟจนร้อนแทงที่แผล

ในปี 1831 เด็กชาย Louis Pasteur อายุ 9 ขวบ ได้เห็นสุนัขป่าตัวหนึ่งไล่กัดผู้คนในหมู่บ้าน Jura ที่เขาอยู่ และได้เห็นชายเพื่อนบ้านชื่อ Nicole ถูกเหล็กร้อนนาบที่แผลตามมือและศีรษะ ผลปรากฏว่า Nicole ตาย แต่ความทารุณของวิธีรักษาที่ทำให้คนไข้หวีดร้องด้วยความเจ็บปวดได้ฝังในใจ Pasteur ตลอดมา เมื่อเขาเติบใหญ่ Pasteur จึงได้พัฒนาวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าขึ้นเป็นครั้งแรก โดยการฉีดเชื้อเข้าไขสันหลังของกระต่าย ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันแล้วนำ serum ไปทำให้เชื้ออ่อนฤทธิ์ลงๆ หลายต่อหลายครั้ง จากนั้นนำไปใช้ฉีดรักษาเด็กชาย Joseph Meister วัยเก้าขวบ ซึ่งถูกสุนัขบ้ากัดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1885 ที่หมู่บ้าน Meissengott ใกล้เมือง Schlestadt หลังจากที่ Meister ล้มลง ชายคนหนึ่งได้วิ่งมาช่วย แล้วอุ้มไปหา Theodore Vone ซึ่งได้ใช้ปืนยิงสุนัขบ้าตัวนั้นจนตาย และให้พ่อแม่ของ Meister นำลูกไปหาหมอชื่อ Weber ที่เมือง Ville ซึ่งได้ทำความสะอาดแผลด้วยกรด carbolic แล้วบอกให้นำลูกชายเดินทางไปปารีส เพื่อพบคนที่ไม่ใช่หมอชื่อ Louis Pasteur และ Pasteur ก็ได้ใช้วัคซีนที่เคยใช้ได้ผลกับกระต่ายมาฉีดให้ Meister หลายเข็มจน Meister หายเป็นปรกติ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ปี 1885

ทุกวันนี้แพทย์ใช้วัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสพิษสุนัขบ้าในเซลล์มนุษย์ แล้วทำให้เชื้ออ่อนฤทธิ์โดยเทคนิคทางเคมี วิธีนี้ให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีกว่า เพราะให้ผลกระทบข้างเคียงน้อย และการฉีดเพียง 3-5 เข็ม สามารถป้องกันไม่ให้ไวรัสพิษสุนัขบ้าขึ้นถึงสมองได้ แต่บางครั้งแพทย์อาจจะฉีด antibody โรคพิษสุนัขบ้าให้คนไข้ด้วย ถ้าคนป่วยคนนั้นยังไม่เคยรับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน

ณ วันนี้แพทย์โดยทั่วไปมีความเห็นว่าโครงการจะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดโลก เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอีกหลายชนิด เช่น แมว ลิง ค้างคาว และสุนัขจิ้งจอก ฯลฯ สามารถเป็นแหล่งให้ไวรัสร้ายนี้เข้าไปแอบแฝงอยู่ได้

สถิติการเสียชีวิตของคนทั้งโลกด้วยโรคนี้ไม่มีตัวเลขแน่ชัด เพราะรัฐบาลของประเทศที่ด้อยพัฒนาไม่เคยมีตัวเลขจริง และไม่กล้าแถลงจากการเกรงว่าผู้คน ในประเทศจะตระหนกตกใจกลัวจนเกินเหตุ
ภาพถ่ายของ Louis Pasteur ในสตูดิโอถ่ายภาพ
ในปี 2010 มูลนิธิ Bill and Melinda Gates ได้มอบเงิน 12 ล้านเหรียญ เพื่อช่วยประเทศ Tanzania, Philippines และ South Africa ในโครงการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดในดินแดนเหล่านั้น และรัฐบาล Tanzania ได้ฉีดวัคซีนให้สุนัขที่อาศัยในพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ จำนวน 150,000 ตัว คิดเป็น 18% ของสุนัขประเทศ และได้ใช้แบบสอบถามคนที่ถูกสุนัขบ้ากัด กับคนที่ได้รับวัคซีนเพื่อนำสถิติที่ได้มาวิเคราะห์การระบาด และการหลงเหลือของเชื้อ

ดังในรายงานปี 2016 ซึ่งปรากฏว่า 65% ของสุนัข ในหมู่บ้านเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีน แต่ในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล เปอร์เซ็นต์ของสุนัขที่ปลอดโรคจะมีน้อยกว่า

โครงการลดภัยโรคพิษสุนัขบ้าใน Tanzania อาจดูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่โครงการนี้ต้องใช้งบประมาณราคาแพงมาก เพราะการฉีดวัคซีนให้สุนัข 1 ตัว จำเป็นต้องใช้เงินตั้งแต่ 250-400 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อพาหนะเพื่อนำวัคซีนไปฉีด และอุปกรณ์ทำความเย็นให้วัคซีนก่อนฉีด รวมถึงค่าบริการต่างๆ ของสัตว์แพทย์ที่ต้องมีในโครงการด้วย

มาบัดนี้รัฐบาล Tanzania กำลังวางแผนขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ เพราะมูลนิธิ Gates ไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออีกต่อไป ดังนั้น โครงการจึงหวังจะได้เงินงบประมาณจากรัฐบาลมาช่วยให้โครงการสามารถดำเนินต่อไปได้

สำหรับโครงการกำจัดโรคนี้ให้หมดสิ้นในทวีปแอฟริกานั้น ผู้เชี่ยวชาญประมาณว่า ต้องการงบประมาณตั้งแต่ 30,000 ล้านบาทถึง 55,000 ล้านบาท เพราะอุปสรรคหนึ่งที่ต้องพิชิตให้ได้ คือ การทำวัคซีนคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยอุณหภูมิของวัคซีนต้องต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส เงื่อนไขนี้ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมากเพื่อสร้างห้องเย็นใช้ในการเดินทางไปสถานที่ไกลๆ แต่ในเดือนพฤศจิกายน ปีกลาย คณะนักวิทยาศาสตร์สุขภาพของ WHO ได้รายงานว่า วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ายังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ถ้าถูกเก็บที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน 3 เดือน แม้จะเก็บที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสนาน 6 เดือนประสิทธิภาพของวัคซีนก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ข่าวนี้ได้สร้างความหวังให้แก่ผู้คนในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญ

ส่วนในเอเชียนั้น แพทย์บางคนเชื่อว่า การฆ่าสุนัขไม่ได้เป็นวิธีลดภัยของโรคพิษสุนัขบ้า เพราะสุนัขจรจัดที่อยู่ตามถนน มักแพร่พันธุ์เร็ว แต่การจับสุนัขเลี้ยงมาฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอน่าจะเป็นวิธีป้องกันที่ดี ส่วนสุนัขจรจัดนั้นก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะถ้าอยู่ที่ใดก็จะร้ายเหมือนมีเสือในหมู่บ้าน แต่ถ้าสามารถจับสุนัขได้ แล้วฉีดวัคซีนให้พร้อมทำเครื่องหมายที่สุนัขตัวนั้น

WHO มีความหวังว่า โรคพิษสุนัขบ้าจะหมดโลก ในปี 2030 แต่ไม่มีเงินมาช่วย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และ NGO ในแต่ละประเทศจะต้องจัดการให้โครงการลุล่วงเอง

อ่านเพิ่มเติมจาก The Private Science of Louis Pasteur โดย Gerald Geison จัดพิมพ์โดย Princeton University Press ปี 1995



เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น