xs
xsm
sm
md
lg

วิธีสร้าง “แหล่งอาหาร” ในแบบไทยแลนด์ 4.0

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผักและผลไม้ในถุงหายใจได้ (ActivePAK)
อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่ ยารักษาโรค สี่ปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของเผ่าพันธุ์มนุษย์ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจนมาถึงปัจจุบัน ในอดีตมนุษย์ใช้แรงเพื่อให้ได้ปัจจัย 4 จากนั้นเราก็เรื่องรู้จักการใช้เครื่องมือเพื่อทุนแรง ใช้เครื่องจักรเพื่อเร่งการผลิต ใช้การแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งของและเงินตราเพื่อได้สิ่งที่สำคัญต่อชีวิตเรา จนมาถึงยุคปัจจุบันยุคที่มนุษย์พัฒนาและใช้เทคโนโลยีในการจัดการและตอบสนองต่อชีวิต

เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เทคโนโลยีไม่เพียงทุ่นแรงแต่ยังช่วยคิดแทนเรา ซึ่งทำให้การเข้าถึงแหล่งอาหารที่เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 นั้นอัจฉริยะมากขึ้น ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะพาไปรู้จักนวัตกรรมที่เป็นผลผลิตจากนักวิจัยไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของ “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) ที่จะช่วยให้เราเข้าถึงอาหารได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น

เริ่มที่การทำเหษตรแบบอัจฉริยะ Smart Farm เพราะ ‘อาหาร’ ปัจจัยอันดับแรกในบรรดาปัจจัย 4 ซึ่งก่อนที่จะได้พืชอาหารหรือสัตว์อาหารมาก็ต้องมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูก แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพื้นที่ไหน เหมาะแก่การเพาะปลูก เรื่อนี้นับเป็นปัญหา "ปวดสมอง" สำหรับเกษตรกรหลายๆ คนว่า ในพื้นที่ตัวเองครอบครองอยู่นั้นควรปลูกพืชชนิดไหนดีจึงจะเหมาะสม

ปัญหาดังกล่าวแก้ได้ด้วยงานวิจัยของ ธีรวิช ว่องทวี ผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งได้สร้างเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Agi-Map และ Agi-Mobile เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกให้เกษตรและเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลเชิงภูมิสารสนเทศด้านการเกษตรเพื่อจัดการบริหารพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นระบบที่มีฐานของมูลที่ได้จากกระทรวงการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดินครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดใจได้ว่า ในที่ดินของเกษตรกรนั้นควรจะปลูกพืขเศรษฐกิจชนิดใด หรือหากต้องการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นจะมีความเหมาะสมต่อพื้นที่หรือไม่ นอกจากนี้เมื่อเปิดเข้าไปในหน้าต่างของพืชที่แนะนำให้ปลูก จะบอกระดับความเหมาะสมให้ของพื้นที่ต้องการปลูก รายละเอียดการเพาะปลูกว่าต้นทุนและกำไรจากการเพาะปลูกเฉลี่ยเท่าไหร่ และยังบอกถึงแหล่งรับซื้อพืชเศรษฐกิจชนิดนั้นที่อยู่ใกล้เคียง โดยแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตรในรูปแบบสถิตติ กราฟ ตัวเลข" ธีรวิชอธิบายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ทว่าพืชผลทางการเกษตรจะไม่สามารถส่งถึงมือของผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์หากขาดเทคโนโลยีทางด้านอาหาร (Smart Food) อย่างถุงหายใจได้ (ActivePAK) ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) โดย ชนิต วานิกานุกูล นักวิเคราะห์โครงการของทางเอ็มเทค เล่าให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังว่า ถุงหายใจได้เป็นถุงพลาสติกที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพลาสติก เพื่อให้มีช่องว่างให้ไอน้ำและอากาศสามารถผ่านเข้าออกจากถุงได้ ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผักผลไม้และคงความสดของผักที่วางจำหน่ายบนชั้นวางได้ยาวขึ้น 2-5 เท่า หรือเฉลี่ย 7-14 วัน ขณะที่ถุงพลาสติกเจาะรูทั่วไปที่ใส่ผักได้เพียง 3 วัน

"นั่นเป็นเพราะเมื่อเราทำการเก็บเกี่ยวพืชผักผลไม้ พวกพืชผักยังหายใจอยู่และถุงพลาสติกที่ใช้กับอยู่ก็ขัดขวางการไหลเข้าของออกซิเจนและการไหลออกของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้พืชผักมีรสชาติผิดปกติ หรือถ้าเป็นถุงที่เจาะรูใหญ่ผักผลไม้ก็จะเหี่ยวเนื่องจากออกซิเจนเข้ามามากเกินไป ดังนั้นถุงหายใจได้จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะถุงชนิดนี้สามารถสร้างสภาวะรักษาความสดภายในบรรจุภัณฑ์ผ่านเทคโนโลยีการสร้างบรรยากาศดัดแปลงแบบสมดุล (Equilibrium Modified Atmosphere หรือ EMA) ทำให้สามารถรักษาความสดหรือคงคุณค่าของผลิตผลให้นานยิ่งขึ้น ภายใต้การควบคุมอุณหภูมิที่ดีและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ทำให้ลดปริมาณของเสียที่เกิดจากผักสด และสามารถนำถุงกลับมาใช้ต่อภายในบ้านซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง"

อาหารเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสุขภาพที่ดี แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะต่อร่างกาย หรือโรงเรียนจะจัดอาหารอย่างไรให้มีสารอาหารครบถ้วนสำหรับสำหรับเด็กนักเรียน ดังนั้นจึงต้องมีเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Smart Health) ในการมาช่วยวิเคราะห์ ซึ่งทาง ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ และทีมห้องปฏิบัติการวิจัยติดตามสุขภาพและรูปแบบการดำเนินชีวิต หน่วยวิจัยอิเล็กทรอนิกส์และระบบทางชีวภาพการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จึงได้พัฒนาระบบแนะนำอาหารกลางวันแบบอัตโนมัติหรือ Thai School Lunch

ระบบดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยประยุกต์ใช้เทคนิคทางปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยโรงเรียนในการจัดอาหารกลางวันที่มีสารอาหารครบถ้วนและมีคุณภาพ ดร.สุปิยายกตัวอย่างเมื่อเลือกประเภทอาหาร เช่น เลือกข้าวผัดและแกงจืด ระบบจะทำการคำนวณออกมาเป็นคุณค่าทางโภชนาการว่ามื้อกลางวันมื้อนี้มีคุณค่าทางสารอาหารเพียงพอหรือไม่ หากไม่พอระบบจะทำการแนะนำให้เพิ่มประเภทอาหารเข้าไปอีก และสรุปคุณภาพอาหารสำหรับมื้อนั้นออกมา

"หากในเมนูที่ทางโรงเรียนทำไม่มีในสำรับของระบบ ทางโรงเรียนสามารถเข้าไปกรอกในระบบประเมิณตำรับอาหารสำหรับโรงเรียนได้ โดยใส่ชื่อ ใส่ประเภทของอาหารว่าเป็นข้าว เส้นหรือขนมปัง จากนั้นใส่ส่วนผสมของตำรับ ทางระบบจะทำการประเมิณคุณค่าทางโภชนาการออกมา" ดร.สุปิยาอธิบาย

นอกจากนี้ ดร.สุปิยา เพิ่มเติมว่าถ้าทางโรงเรียนมีการวางแผนเรื่องประเภทอาหารประจำเดือนไว้แล้ว ระบบสามารถคำนวณปริมาณวัตถุดิบที่จะต้องซื้อและปรับราคาได้ตามจริง พร้อมสรุปคุณค่าทางอาหารและรายงานงบประมาณสำหรับค่าวัตถุดิบในการจัดสำรับอาหารต่อหัวต่อวันของโรงเรียน โดยทางโรงเรียนสามารถร่วมกับชุมชนในการทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยปลูกพืชที่นำไปปรุงเป็นอาหารของโรงเรียนในพื้นที่นั้นมากที่สุด อย่างเช่นหอม ถั่วฝักยาวหรือถั่วงอก เพื่อเป็นการลดต้นทุนเรื่องการเดินทางไปซื้อวัตถุดิบของทางโรงเรียนและยังทำให้คนในชุมชนมีรายได้

สำหรับผลงานที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งแสดงเจตจำนงที่จะมุ่งตอบโจทย์ “ไทยแลนด์ 4.0” โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ สวทช. ครบ 1 ปี ว่า สวทช. มีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2560 สวทช.มีผลงานวิจัยเด่นๆ ที่ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ Smart Farm – ผลงานภาคเกษตร, Smart Food - ผลงานด้านอาหาร , Smart Health - ผลงานด้านสุขภาพ , Smart Energy - ผลงานภาคพลังงาน และSmart Industry - ผลงานภาคอุตสาหกรรม
ถุงหายใจได้ (ActivePAK)
ระบบประเมิณตำรับอาหารสำหรับโรงเรียน ด้วยการใส่ชื่อ ใส่ประเภทของอาหารว่าเป็นข้าว เส้นหรือขนมปัง จากนั้นใส่ส่วนผสมของตำรับ ระบบจะทำการประเมิณคุณค่าทางโภชนาการออกมา
(ซ้าย) ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยติดตามสุขภาพและรูปแบบการดำเนินชีวิต หน่วยวิจัยอิเล็กทรอนิกส์และระบบทางชีวภาพการแพทย์
ระบบทำการสรุปคุณภาพอาหารสำหรับมื้อนั้นออกมา
Agi-Mobile เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกให้เกษตรและเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลเชิงภูมิสารสนเทศด้านการเกษตรเพื่อจัดการบริหารพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างการทำงานของ Agi-Mobile ในกรณีทีเกษตรต้องการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ ระบบประเมิณผลว่าพืชชนิดนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่
ธีร์วิช ว่องทวี ผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
กำลังโหลดความคิดเห็น