เวลาต้องการรู้เพศของจระเข้ว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย การสังเกตดูไกลๆ จากลักษณะภายนอกไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย นักชีววิทยามีวิธีเดียวเท่านั้นที่จะตัดสินได้ว่า ตัวที่เห็นนั้นเป็นไอ้หรืออี โดยการจับตัวมันแล้วเอานิ้วแหย่เข้าไปในช่อง cloaca ที่อยู่ตรงที่ฐานของหาง ถ้าพบว่ามีติ่ง นั่นแสดงว่า มันเป็นเพศผู้ แต่ถ้าพบความว่างเปล่า นั่นเป็นเพศเมีย ดังนั้นการจะรู้เรื่องเพศของจระเข้ จึงจำเป็นต้องใช้คนหลายคนช่วยกันใช้บ่วงเชือกมัดปากให้แน่น จับตัว แล้วปิดตาไม่ให้มันเห็นอะไรๆ ซึ่งจะทำให้มันรู้สึกเครียด จากนั้นจึงยกขึ้นตรวจภายใน
ที่แม่น้ำ Tascoles ในประเทศ Costa Rica ในอเมริกากลางมีฝูงจระเข้สายพันธ์ Crocodylus acutus ที่ลำตัวยาวประมาณ 2 เมตร ในปี 2012 Chris Murray แห่งมหาวิทยาลัย Auburn กับเพื่อนชื่อ Michael Easter ได้เดินทางไปสำรวจเพศของจระเข้สปีชีส์นี้ ซึ่งตามหลักพันธุศาสตร์ น่าจะพบจำนวนเพศผู้และเพศเมียในอัตราส่วน 1:1 หรือใกล้เคียง แต่นักวิจัยทั้งสองกลับพบว่า จากจระเข้จำนวน 474 ตัวที่จับได้ในบริเวณใกล้แม่น้ำ ณ สถานที่แตกต่างกัน 7 แห่งได้พบอัตราส่วนของเพศผู้: เพศเมีย มีค่าประมาณ 3.5: 1 ซึ่งมากจนทำให้สงสัยว่าได้เกิดอะไรขึ้นกับจระเข้ที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น
การดูดเลือดและเนื้อเยื่อของจระเข้มาวิเคราะห์ ได้พบสาร steroid สังเคราะห์ในปริมาณมากผิดปกติ โดยเฉพาะฮอร์โมน 17 alpha-methyltestosterone (MT) ที่เป็นสารที่นักเพาะกายนิยมบริโภค และแพทย์นิยมฉีดให้สตรีสูงวัยที่เป็นมะเร็งทรวงอก
นักวิจัยทั้งสองจึงตั้งประเด็นสงสัยว่า MT มีส่วนในการทำให้เกิดเหตุการณ์นี้หรือไม่ และถ้า MT มีบทบาทจริง จระเข้เหล่านั้นได้รับสาร MT เข้าตัวในปริมาณมากได้อย่างไร การค้นหาสาเหตุของเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็น เพราะการมีจำนวนจระเข้เพศผู้มากไป อาจทำให้จระเข้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ การพบฮอร์โมนตัวนี้ในตัวจระเข้ในปริมาณมาก อาจทำให้มันมีนิสัยก้าวร้าว ชอบต่อสู้ และทำร้ายชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณข้างเคียงได้ ผลกระทบอีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การทำประมงเลี้ยงปลา tilapia ที่ผู้คนแถบนั้นนิยมใช้อาหารและมีสาร MT ปน อาจสร้างปัญหาให้ปลาในลักษณะเดียวกับจระเข้ก็ได้ คือ MT ทำให้ปลาตัวผู้มีจำนวนมากกว่าปลาตัวเมียหลายเท่าตัว
นับเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้วที่นักชีววิทยาได้สนใจศึกษาผลกระทบของฮอร์โมนต่อระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อ ในสัตว์สกุล crocodilus เช่น จระเข้ และตัว alligator เมื่อได้มีการพบว่า alligator ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ Apopka ในรัฐ Florida ของอเมริกา หลังจากที่ได้บริโภคสาร trenbolone acetate ซึ่งเป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน สามารถทำให้อวัยวะเพศลดขนาด รวมถึงสามารถการลดระดับฮอร์โมนเพศชายหรือ testosterone ได้แม้ว่าสารนี้จะมีประโยชน์ในการเร่งความเจริญเติบโตของสัตว์ เช่น วัว ควาย แต่สารที่สัตว์ขับออกมาสามารถแปลงเพศของปลา zebrafish จากเพศเมียให้เป็นเพศผู้ได้
จระเข้เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2000 Paul Serano ได้ขุดพบซากฟอสซิลของจระเข้ที่ทะเลทราย Gadoufaoua ในประเทศ Niger ซึ่งมีอายุ 110 ล้านปี (ยุค Cretaceous) ที่ยาว 13 เมตร หนัก 10 ตัน
ตามปกติจระเข้ชอบใช้ชีวิตในน้ำ โดยการลอยตัวนิ่งให้จมูก ตา และหูอยู่เหนือระดับน้ำเล็กน้อยเพื่อให้อากาศไหลผ่านเข้าสู่ปอด มันมีประสาทหูไว ขาหน้ายาวกว่าขาหลัง ปลายนิ้วมีเล็บแหลมคม หางแบนที่วางตัวในแนวตั้งทำให้จระเข้สามารถว่ายน้ำได้เร็ว เวลาขึ้นฝั่งมันชอบใช้เวลาส่วนใหญ่ ในการอาบแดด ตัวเมียชอบวางไข่ในทราย ไข่มีลักษณะกลมรี จระเข้มีอายุขัยตั้งแต่ 25-50 ปี
เวลาจระเข้จับเหยื่อ ถ้าเหยื่อเป็นสัตว์บกมันจะใช้วิธีลากเหยื่อลงน้ำ ให้เหยื่อสำลักน้ำจนขาดใจตาย แต่ถ้าเป็นสัตว์น้ำ มันจะคาบชูเหยื่อขึ้นเหนือน้ำ เพื่อให้ขาดใจตาย มันชอบกินสัตว์ขนาดใหญ่ เวลาเนื้อเริ่มเน่าอาหารของจระเข้คือหอยทาก กบ และปลา ฯลฯ เมื่ออายุ 12-15 ปี จระเข้จะเติบโตเต็มที่ และพร้อมที่จะสืบพันธุ์ หลังการผสมพันธุ์ได้ 5 เดือน ตัวเมียจะวางไข่ครั้งละ 16-80 ฟอง แล้วใช้ดินกลบไข่ โดยไข่จะใช้เวลา 84-90 วันในการฟัก เมื่อถึงเวลาที่จระเข้น้อยจะออกมาลืมตาดูโลก มันจะส่งเสียงร้อง ให้แม่มันมันใช้ฟันเจาะเปลือกให้แตกเพื่อมันสามารถโผล่จากไข่ออกมา จากนั้นแม่จะคาบลูกไปปล่อยในน้ำให้ลูกได้ว่ายน้ำได้เองตามธรรมชาติของมัน
ข้อสังเกตหนึ่งเกี่ยวกับเพศของจระเข้ คือ นักชีววิทยาได้พบว่าอุณหภูมิขณะฟักไข่เป็นตัวกำหนดเพศของจระเข้ที่สวนสาธารณะ Palo Verde ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ Tarcoles ในปี 2015 คณะนักวิจัยภายใต้การนำของ Murray ได้พบว่า ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของสถานที่ได้เพิ่มขึ้นไม่ถึง 2.5 องศาเซลเซียสเพื่อยืนยัน Murray จึงนำไข่พลาสติกที่มีอุปกรณ์บันทึกอุณหภูมิอยู่ภายใน ไปวางในรังของจระเข้ 25 รัง เพื่อทดสอบว่า อุณหภูมิคือสาเหตุที่ทำให้จระเข้เพศเมียถือกำเนิดมากกว่าเพศผู้จริงหรือไม่ และคาดหวังว่า หลังการฟัก จำนวนตัวเมีย: ตัวผู้ น่าจะมีค่ามากเป็น 2:1 แต่กลับพบว่า ปัจจัยที่ทำให้อัตราส่วนตัวผู้:ตัวเมียสูงถึง 3.5:1 นั้นไม่ได้มาจากอุณหภูมิแวดล้อม เขาจึงต้องหาสาเหตุเพิ่มเติม และพบว่า ในบริเวณโดยรอบสวนสาธารณะแห่งนั้นมีฟาร์มเลี้ยงปลา tilapia หลายแห่งที่นิยมใช้ MT เป็นอาหารเสริม จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า MT น่าจะมีอิทธิพลในการแปลงเพศของจระเข้
ในการทดสอบสมมติฐานนี้ คณะนักวิจัยได้ใช้ตัว alligator (Alligator mississippiensis) ซึ่งเป็นสัตว์ในสกุลเดียวกับจระเข้เป็นสัตว์ทดลอง แล้วเตรียมฮอร์โมนที่มีความเข้มข้น 3 ระดับ เพื่อใช้กับไข่ของ alligator แทนไข่จระเข้ จากนั้นฟักไข่ที่อุณหภูมิสูง ซึ่งน่าจะให้เพศเมียทั้งหมด แต่กลับพบว่า 60% ของไข่ที่มี MT ในปริมาณมากให้เพศผู้
นั่นแสดงว่า MT มีผลในการสร้างเพศผู้ ในสัตว์สกุล crocodilian จริง
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ทีมวิจัยได้พบสาร MT ในเลือด และไข่แดงของจระเข้ที่ Palo Verde เพิ่มเติมเป็นการยืนยันว่า จระเข้เหล่านั้นได้รับฮอร์โมน MT มากจริง
ในส่วนของการเลี้ยงปลา tilapia นั้นได้มีการพบว่า ชาวประมงในแถบนั้นนิยมใช้สารอาหารที่มี MT ปน ที่ไม่เป็นพิษภัยต่อคนที่บริโภค แต่ MT อาจมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
สำหรับปริศนาที่มาของ MT ในจระเข้แถบนั้นจึงยังไม่มีคำตอบชัดเจน เพราะ MT ในสิ่งแวดล้อมมิได้บังเกิดเองตามธรรมชาติ แต่จะเกิดจากกิจกรรมของคนที่ใช้ MT ในการเลี้ยงปลา ดังนั้น MT จึงอาจลอยตามน้ำมาจากฟาร์มปลาที่อยู่ใกล้เคียง หรือจระเข้อาจลอบเดินเข้าไปกินปลาในฟาร์มเป็นอาหาร แต่เมื่อจระเข้ที่นักวิจัยจับมาทดสอบเลือด ปรากฏว่าทุกตัวมี MT มาก MT ที่พบในจระเข้ จึงไม่น่าจะมาจากฟาร์มปลาเพียงฟาร์มเดียว แต่จากหลายฟาร์ม หรืออาจเป็นไปได้ว่าปลาจากฟาร์มได้เล็ดรอดหนีออกไป และถูกจระเข้จับกิน MT จึงเข้าสู่ตัวจระเข้ ซึ่งจะเก็บสารนี้ในลักษณะของไขมันในตัว แล้วเวลาตัวเมียวางไข่ ฮอร์โมน MT ก็จะถูกส่งต่อไปยังลูกอ่อน
คณะนักวิจัยจึงต้องขยายขอบเขตการตรวจสอบหา MT ในบริเวณที่อยู่ไกลจากสวนสาธารณะออกไปประมาณ 100 กิโลเมตร โดยไปสำรวจที่แม่น้ำอื่น เพื่อตรวจสอบว่า จระเข้บางตัวจากสวน Palo Verde อาจอพยพจากแม่น้ำ Tarcoles ไปอาศัยอยู่ที่อื่น จึงไปตรวจหา MT ว่ามีแหล่งกำเนิดจากที่ต่างๆ เช่น จากเมืองหลวง San Jose หรือไม่ เพราะผู้คนที่นิยมบริโภค MT อาจขับมันออกมาในระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองก็ได้
ถ้าฟาร์มปลาคือแหล่งผลิต MT เพียงแหล่งเดียว การแก้ปัญหานี้ ไม่ยาก แต่ถ้า MT มาจากสิ่งแวดล้อม ผง MT ที่ละเอียดอาจตกตะกอนที่ท้องน้ำ ซึ่งจะถูกพัดพาไปที่อื่นๆ และถูกจระเข้หรือสัตว์อื่นกินเข้าไป ปัญหาที่จะแก้ก็จะยากขึ้น
แต่สำหรับข้อสันนิษฐานที่ว่า MT คือสาเหตุที่ทำให้จระเข้กลายเพศเป็นเพศผู้มากกว่าเพศเมียนั้น มีนักชีววิทยาอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่า MT คงไม่ใช่สาเหตุเดียว
ในขณะที่ยังไม่มีการสรุป เหล่านักชีววิทยาก็กำลังสนใจต่อไปว่า จระเข้ตัวผู้ที่มี MT ในปริมาณมากเป็นจระเข้ที่สมบูรณ์แบบหรือไม่ เพราะการมีตัวผู้จำนวนมากเกินไม่ได้เป็นอันตรายต่อชาวบ้าน แต่ทำให้การสืบพันธุ์มีปัญหา นอกจากนี้ก็ยังสนใจต่อว่า MT ที่ตัวผู้มีมากนั้น ทำให้มันเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวผิดปกติหรือไม่ และ MT สามารถทำให้มันเป็นหมันได้หรือไม่
การวิจัยในอนาคต จะตอบคำถามว่า MT มีอิทธิพลต่อจระเข้ในสถานที่อื่นๆ อย่างไร หรือไม่ เพราะในอินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้ก็มีการเลี้ยงปลา tilapia มาก
ดังนั้น การตอบคำถามเหล่านี้ให้ชัดเจน คงต้องมีการวิจัยจับจระเข้มาดูเพศอีกหลายตัว
ในวรรณคดีไทยเรื่อง อิลราชคำฉันท์ มีท้าวอิลราชที่ถูกพระอุมาสาบให้ดำรงชีวิตเป็นชายหนึ่งเดือน และเป็นนางอิสาหนึ่งเดือนสลับกันไป แต่ในโลกของสัตว์ เรามีสัตว์หลายชนิดที่ 2 เพศในตัวเดียวกัน ซึ่งนักชีววิทยาเชื่อว่า คงเพราะต้องการจะมีลูกหลานสืบสกุลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตามสภาพเพศที่จำเป็นเพื่อแพร่พันธุ์ แต่ในกรณีของจระเข้ที่ Costa Rica นักชีววิทยายังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า เพศสภาพของมันจะเป็นเช่นนั้นได้
อ่านเพิ่มเติมจาก Turtles and Crocodiles of Insular Southeast Asia and New Guinea โดย D.T. Iskandar, ITB, Bandung ปี 2000
เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์