xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมพร้อมถ่ายภาพฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ (Geminids Meteor Shower)

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


ในวันที่ 13-14 ธันวาคม 2560 นี้จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ สำหรับประเทศไทยในปีนี้ คืนที่น่าจะมีอัตราการตกสูงสุดตรงกับวันที่ 14 ธันวาคม 2560 นอกจากนั้นในคืนดังกล่าวตรงกับช่วงข้างแรม 11 ค่ำ ทำให้เกือบตลอดทั้งคืนจะไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวน ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะสามารถถ่ายภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกได้ทั้งคืน

ในการถ่ายภาพสามารถเริ่มตั้งกล้อง ตั้งแต่เวลา 20.30 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ คืนวันที่ 14 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธันวาคม มีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ เกิดจาก?
ภาพจำลองศูนย์กลางการกระจายตัวฝนดาวตกเจมินิดส์ ในช่วง 20.30 น.
ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ทิ้งไว้ในขณะที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว ทำให้สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย ถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศของโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็น ลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball)

ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือ เป็นดาวตกที่ มีทิศทางพุ่งมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือ ดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น

ช่วงเวลาในการสังเกตการณ์ที่ดีที่สุด?
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือหลังเที่ยงคืน เพราะเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ซึ่งช่วงเวลาที่ดาวตกเกิดก่อนเที่ยงคืนหรือช่วงหัวค่ำนั้นจะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก เราจะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง แต่ถ้าฝนดาวตกที่เกิดหลังเที่ยงคืนไปแล้วหรือในเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้รุ่งนั้นวิ่งช้า

เตรียมตัวถ่ายภาพกันอย่างไรบ้าง
สำหรับการเตรียมตัวถ่ายภาพนั้น จากข้อมูลข้างต้นจริงๆแล้วเราสามารถเริ่มถ่ายภาพปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่คืนวันที่ 13 ธันวาคม หรือจะรอถ่ายในคืนวันที่ 14 ธันวาคม ก็ได้ แต่ส่วนตัวผมแนะนำถ่ายทั้ง 2 คืนจะดี่ที่สุด เผื่อท้องฟ้าคืนใดคืนหนึ่งไม่เป็นใจ

รูปแบบการถ่ายภาพนั้น ขออนุญาตแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ ซึ่งมีรายละเอียดของการถ่ายภาพแต่ละรูปแบบต่อไปนี้

การถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์ตามดาว
ภาพถ่ายปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ด้วยวิธีการถ่ายบนขาตั้งกล้องแบบตามดาว (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 30 sec / WB : 3800K / Composite image 32 Images)
การถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์ตามดาวนั้น ปัจจุบันเป็นที่นิยมของนักถ่ายภาพจำนวนมาก โดยการหันหน้ากล้องไปยังทิศทางการกระจายตัว (Radiant) เนื่องจากเป็นการถ่ายภาพตรงบริเวณศูนย์กลางการเกิดฝนดาวตกตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสได้ภาพดาวตกจำนวนมากๆ และเมื่อนำภาพที่ถ่ายได้ทั้งคืนมารวมกัน Stacking ก็จะได้ภาพที่มีฝนดาวตกพุ่งออกจากศูนย์กลางบริเวณกลุ่มดาวคนคู่อย่างชัดเจน (รายละเอียดตามลิงก์ : https://goo.gl/yDP8TT)

อุปกรณ์ที่จำเป็น : กล้องถ่ายภาพ สายลั่นชัตเตอร์ ขาตั้งกล้องแบบตามดาว

การถ่ายภาพทางทิศเหนือ
ภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่ถ่ายภาพทางทิศเหนือ ด้วยเลนส์มุมกว้างแบบตาปลา (Fish-eye Len) ทำให้ได้ภาพมุมกว้างมากขึ้น (ภาพโดย : นายสุเมธี เพ็ชร์อำไพ)
การถ่ายภาพโดยการหันหน้ากล้องไปทางทิศเหนือ ซึ่งศูนย์กลางการกระจายตัวของฝนดาวตกนั้น อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้สามารถถ่ายภาพด้วยวิธีนี้ได้เช่นกัน ซึ่งการถ่ายภาพรูปแบบนี้ก็ใช้เทคนิคการถ่ายภาพดาวหมุนหรือการถ่ายภาพเส้นแสงดาว โดยแนะนำให้ใช้เลนส์มุมกว้างจะมีโอกาสที่จะได้ภาพฝนดาวตก

อุปกรณ์ที่จำเป็น : กล้องถ่ายภาพ สายลั่นชัตเตอร์ ขาตั้งกล้อง

การถ่ายภาพทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาพถ่ายปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ   (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 15mm f/2.8 Fisheye Lens / Focal length : 15 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30 sec)
การถ่ายภาพทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทางทิศที่กลุ่มดาวเคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้า วิธีนี้อาจต้องอาศัยโชคช่วย แต่หากได้ภาพฝนดาวตกก็จะได้ภาพที่สวยเลยทีเดียว สำหรับวิธีนี้อาจไม่นิยมในการถ่ายภาพมากนัก เนื่องจากมีโอกาสที่จะไม่ได้ภาพ หรือต้องคอยเปลี่ยนมุมในการถ่ายภาพเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนที่ของกลุ่มดาวคนคู่นั่นเอง

อุปกรณ์ที่จำเป็น : กล้องถ่ายภาพ สายลั่นชัตเตอร์ ขาตั้งกล้อง

เทคนิคการถ่ายภาพสำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพ
​สำหรับเทคนิคและวิธีการที่จะแนะนำ ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่นักดาราศาสตร์ใช้กันทั่วๆไป มีรายละเอียดดังนี้

​ 1. ถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง เพื่อให้สามารถเก็บเส้นฝนดาวตกได้มากที่สุด
2. ถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง ด้วยวิธีเดียวกับการถ่ายภาพเส้นแสงดาว
​ 3. ใช้ค่าความไวแสง ISO ที่สูงมากๆ เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดขณะเกิดดาวตก เช่น ISO 3200 หรือมากกว่า
4. ปิดระบบ long exposure noise reduction เพื่อให้กล้องถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง
​ 5. หันหน้ากล้องไปที่จุดศูนย์กลางการกระจายตัวของฝนดาวตก หรือจุดเรเดียนท์ (Radiant) โดยให้จุดเรเดียนท์ อยู่กลางภาพ
​​​ 6. ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง หรืออาจใช้ขาแบบตามดาว เพราะดาวตกจะพุ่งออกจากบริเวณจุดเรเดียนท์ ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราได้ภาพฝนดาวตกออกมาจากจุดเรเดียนท์จริงๆ และที่สำคัญคือ เราจะได้ภาพฝนดาวตกมากกว่าการถ่ายภาพบนขาตั้งแบบนิ่งอยู่กับที่ เพราะตำแหน่งจุดเรเดียนท์ จะเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ
​ 7. ถ่ายแบบต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง โดยใช้ค่าการเปิดหน้ากล้องประมาณ 30 วินาที ต่อ 1 ภาพ หรือใช้สูตร Rule of 400/600 ในการคำนวณเวลาการเปิดหน้ากล้อง
​ 8. ช่วงเที่ยงคืน คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ
​ 9. อยากได้ดาวตกยาวๆ ต้องหลังเที่ยงคืนไปแล้วหรือในเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก จึงทำให้เห็นดาวตกวิ่งช้า
10. สุดท้ายนำภาพถ่ายฝนดาวตกจากหลายร้อยภาพมาเลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop ก็จะทำให้เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน

อุปกรณ์จำเป็นพื้นฐานที่ควรมีไว้

1. เลนส์มุมกว้าง
เลนส์มุมกว้างถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะสามารถเก็บภาพฝนดาวตกได้ดีที่สุด เนื่องจากมีมุมรับภาพที่กว้างพิเศษจึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการเก็บภาพได้มากที่สุด
2. แถบความร้อน

แถบความร้อน คืออุปกรณ์ไล่ฝ้าหน้า ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่นักถ่ายภาพควรนำมาพันติดไว้หน้ากล้อง เพื่อป้องกันไอน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการถ่ายภาพตลอดทั้งคืนที่อาจมีความชื้นในอากาศสูง ซึ่งส่งผลต่อภาพถ่าย
(สามารถสร้างเองได้ รายละเอียดตามลิงก์ : https://goo.gl/j4KV2x)

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน

กำลังโหลดความคิดเห็น