xs
xsm
sm
md
lg

โลกร้อนส่งผล “นกฮัมมิ่งเบิร์ด” หมดเปลืองพลังงานเพื่อหลบแดด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฮัมมิงเบิร์ดก็เดือดร้อนจากภาวะโลกร้อน (AFP/Getty)
เราอาจคุ้นเคยข่าวเรื่องโลกร้อนส่งผลกระทบต่อหมีขาวนักล่าตัวใหญ่แห่งทุ่งน้ำแข็ง ล่าสุดนักวิจัยพบว่า “ฮัมมิ่งเบิร์ด” ก็ได้เดือดร้อนจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน เพราะนกกินน้ำหวานตัวจิ๋วที่กระพือปีกด้วยความไวสูงจนเป็นเสียงหึ่งๆ นั้นต้องกินอาหารแต่ละวันมากถึงครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัว แต่อากาศที่ระอุขึ้นทำให้นกจิ๋วต้องหมดเปลืองพลังงานไปกับเส้นทางหลบร้อน หรือหลบใต้ร่มเงาแทนที่จะออกไปหาอาหาร

อ้างอิงจากเอเอฟพีงานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ลงวารสารรอยัลโซไซตีโอเพนไซน์ (Royal Society Open Science) ซึ่งระบุว่าจากอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 1,000 ครั้งต่อนาทีของนกฮัมมิ่งเบิร์ดทำให้นกต้องกินอาหารอย่างสม่ำเสมอ

ทว่างานวิจัยล่าสุดนั้นพบว่าความร้อนระบุผลักดันให้นกน้อยต้องหากแหล่งกำบังแดด แทนที่จะออกไปหาอาหาร นั่นหมายความว่านกอาจจะเจ็บป่วยได้จากการใช้เวลาเพื่อหลบหลีกแสงแดดที่แผดเผา ซึ่งนักวิจัยยังเตือนด้วยว่าภาวะโลกอาจจะท้าทายความสามารถในการปรับตัวของนกฮัมมิ่งเบิร์ด

โดนัลด์ พาวเวอร์ส (Donald Powers) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย จอร์จฟอกซ์ (George Fox University) ในรัฐโอริกอน สหรัฐฯ ผู้เป็นหัวหน้านักวิจัยบอกเอเอฟพีว่า ในแต่ละวันที่นกฮัมมิ่งเบิร์ดออกไปหาอาหารนั้นต้องได้กินอาหาร แต่เมื่ออุณหภูมิร้อนระอุขึ้นนกฮัมมิ่งเบิร์ดก็จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง

“การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจจะทำให้นกรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้อย่างยากลำบากขึ้นมาก หรือแม้แต่ส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ของนก ซึ่งการสังเกตในช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์นั้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรบกวนการเข้าสังคมของนก และเป็นไปได้ว่าอุณหภูมิสูงที่ขึ้นอาจส่งผลต่อการแพร่พันธุ์ของนก” พาวเวอร์สกล่าว

อีกทั้งภาวะโลกร้อนยังส่งผลกระทบต่อพืชที่เป็นทั้งอาหารและร่มเงาของนกฮัมมิ่งเบิร์ดด้วย ในขณะที่นกในเขตร้อนขยับหนีขึ้นสู่พื้นที่มีอากาศเย็นกว่าได้ง่ายกว่าพืช ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในสิ่งมีชีวิตหลายสปีชีส์ อาจส่งผลให้ไม้ดอกที่เป็นแหล่งอาหารของนกไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเคย ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะสามารถเคลื่อนย้ายที่อยู่ได้ฉับไวกว่าพืชทั้งหลายมาก

ทั้งนี้พบนกฮัมมิ่งเบิร์ดซึ่งเปรียบเหมือนอัญมณีที่มีค่าในธรรมชาติกว่า 300 สปีชีส์ได้ทางเขตอบอุ่นของโลกตะวันตก และโดยเฉลี่ยนกฮัมมิ่งเบิร์ดจะกินน้ำหวานเท่ากับครึ่งหนึ่งของน้ำหนักร่างกายทุกวัน

สำหรับนกฮัมมิงเบิร์ดขนาดเล็กที่สุดคือฮัมมิ่งเบิร์ดบี (bee hummingbird) ที่อยู่ในคิวบา ซึ่งมีความยาวจากจงอยปากถึงปลายหางเพียง 6 เซ็นติเมตร และเกาะที่ปลายนิ้วก้อยของคนได้สบายๆ

ในการศึกษานั้นพาวเวอร์สและทีมวิจัยได้ภาพถ่ายความร้อนรังสีอินฟราเรดเพื่อสำรวจว่านกจิ๋วที่ใช้กล้ามเนื้อกระพือปีกได้ถึงวินาทีละ 50-200 ครั้งนั้น ถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายอย่างไรในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิแตกต่างกัน และยังเฝ้าสังเกตทั้งในธรรมชาติและห้องปฏิบัติการว่าพฤติกรรมของฮัมมิงเบิร์ดนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างเมื่อได้รับความร้อน

“ผมจำได้มีวันหนึ่งเมื่อปีที่แล้วในพื้นที่ศึกษาของพวกเราที่ภูเขาชิริคาวา (Chiricahua Mountain) ในแอริโซนา เมื่ออุณหภูมิเตะถึง 44 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานขึ้น นกเหล่านั้นใช้ชีวิตยากลำบากอย่างเห็นได้ชัด” พาวเวอร์สกล่าว

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังอาจเป็นต้นเหตุคุกคามนกฮัมมิ่งเบิร์ดในตอนกลางคืนด้วยเช่นกัน และเพื่อรักษาพลังงานนกฮัมมิ่งเบิร์ดส่วนใหญ่จะเข้าสู่ภาวะจำศีลอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิร่างกายของนกลดฮวบ 50-70% แต่หากคืนไหนที่ร้อนกว่าปกติก็จะจำกัดความสามารถในการรักษาพลังงานของนกลงไปมาก

ทั้งนี้มีคาดการณ์ว่าอุณหภูมิยามค่ำคืนที่ร้อนเร็วขึ้นกว่าอุณหภูมิในยามกลางวัน ซึ่งพาวเวอร์สจะตีพิมพ์งานวิจัยที่พุ่งความสนใจไปที่เรื่องนี้ และเพื่อตื่นจากภาวะจำศีลนั้นนกฮัมมิ่งเบิร์ดจะสั่นกล้ามเนื้อปีกของตัวเองคล้ายๆ อาการหนาวสั่นเพื่อทำให้เลือดอุ่นขึ้นอีกหลายองศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 นาที โดยนกฮัมมิ่งเบิร์ดทำอย่างนี้ในเวลาก่อนรุ่งเช้า ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่ากระบวนการดังกล่าวควบคุมจากภายในร่างกายหรือนาฬิกาชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น